อ.นิติ มธ. ชี้ 2 ปัญหาใหญ่ในเหตุผล ศาล รธน. ใช้ตรรกะเชิงเทคนิคด้อยค่าบันทึกการประชุม

อ.นิติ มธ. ชี้ 2 ปัญหาใหญ่ในเหตุผลศาลรธน. การตีความว่ารัฐธรรมนูญให้มีผลใช้บังคับไปข้างหน้า และใช้ตรรกะเชิงเทคนิคด้อยค่าบันทึกการประชุม

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม รศ.ดร. มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนบทความ เรื่อง สองปัญหาใหญ่ในการให้เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญ แสดงความเห็นกรณีคำวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งวาระ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าสามารถดำรงตำแหน่งต่อได้ โดย ระบุว่า

1. การตีความว่ารัฐธรรมนูญให้มีผลใช้บังคับไปข้างหน้า

1.1 การตีความว่ารัฐธรรมนูญให้มีผลใช้บังคับไปข้างหน้าขาดความแน่นอนชัดเจน ศาลให้เหตุผลว่าการมีผลไปข้างหน้าของกฎหมายเป็นบทหลัก การมีผลย้อนหลังเป็นบทยกเว้น ทำได้เฉพาะกรณีที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้โดยชัดแจ้งเท่านั้น แต่หากพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง ไม่มีมาตราใดบัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งให้รัฐธรรมนูญมีผลย้อนหลังเพื่อจำกัดสิทธิของบุคคลได้ ศาลจึงต้องตีความบทบัญญัติในทุกกรณีว่ามีผลย้อนหลังได้หรือไม่ แต่แทนที่ศาลจะตีความให้รัฐธรรมนูญมีผลไปข้างหน้าในทุกกรณี (รวมถึงกรณีนายสิระ) กลับเลือกให้ย้อนหลังบางกรณี และมีผลไปข้างหน้าในบางกรณี โดยไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนแน่นอน

เปิดผลคำวินิจฉัยศาลรธน. ‘บิ๊กตู่’นั่งนายกฯไม่ครบ8ปี
การอ้างว่าเรื่อง “คุณสมบัติ” ของ สส. กับ “วาระการดำรงตำแหน่ง” ของนายกรัฐมนตรีเป็นละเรื่องกันฟังไม่ขึ้น เพราะทั้งสองเรื่องต่างก็เหมือนกันในสาระสำคัญว่า รัฐธรรมนูญควรมีผลใช้บังคับกับการกระทำหรือสถานะที่มีอยู่ก่อนที่รัฐธรรรมนูญมีผลใช้บังคับหรือไม่

1.2 การตีความว่ารัฐธรรมนูญให้มีผลใช้บังคับไปข้างหน้า ศาลไม่ได้ให้น้ำหนักกับเจตนารมณ์ของ ม.158 ซึ่งมีเจตนารมณ์เฉพาะเจาะจงไม่ให้ผู้ใดอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี ศาลกลับมุ่งเน้นการบังคับใช้หลักทั่วไปของการไม่มีผลย้อนหลังของกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิของบุคคล ทั้งๆ ที่ การจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นการจำกัด “หน้าที่” ไม่ใช่การจำกัด “สิทธิ” การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ เป็นเรื่องของการอาสาเข้ามาทำ “หน้าที่” ภายในเวลาที่จำกัดเท่านั้น ไม่ใช่การแสวงหาโอกาสเพื่อให้ได้รับ “สิทธิประโยชน์” ใดๆ

2. การด้อยค่ารายงานการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

2.1 การด้อยค่ารายงานการประชุมของ กรธ. ครั้งที่ 500 โดยอ้างว่าจัดทำขึ้นภายหลังที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญสามารถค้นหาได้จากรายงานการประชุมในขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญหรือรายงานการประชุมเพื่อจัดทำ “บันทึกเจตนารมณ์และคำอธิบายบทบัญญัติ” ศาลหยิบยกเหตุผลทางเทคนิคที่ไม่เป็นสาระมาด้อยค่ารายงานการประชุม ทั้งที่สิ่งที่เป็นสาระสำคัญ คือ รายการประชุมครั้งที่ 500 เป็นเอกสารที่บันทึกการหารือของคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญซึ่งทราบถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญดีกว่าผู้ใด และบทสนทนาของผู้ร่างเกี่ยวกับการเรื่มนับอายุการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีวางอยู่บนฐานของสถานการณ์หรือข้อเท็จจริงที่ยังไม่เกิดขึ้น ทำให้สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระและปราศจากอคติ ความคิดเห็นที่ปราศจากอคติของผู้ร่างที่มีต่อหลักการและเหตุผลของกฎหมายทำให้ผู้ที่ศึกษารัฐธรรมนูญในภายหลังสามารถมองเห็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้อย่างชัดเจน

2.2 การด้อยค่ารายงานการประชุมของ กรธ. ครั้งที่ 500 โดยอ้างว่าความเห็นของนายมีชัยกับนายสุพจน์ไม่ได้ถูกบรรจุลงไปในเอกสาร “ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตรา” จึงไม่ใช่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่เป็นข้อเท็จจริงที่รับรู้กันโดยทั่วไปในหมู่นักนิติศาสตร์อยู่แล้วว่า เอกสารดังกล่าวเป็นเพียงการบันทึกเจตนารมณ์และคำอธิบายโดยสังเขป ไม่สามารถพรรณนารายละเอียดได้ทั้งหมด และไม่ใช่เอกสารชุดเดียวที่บ่งชี้เจตนารมณ์ของกฎหมาย การค้นหาเจตนารมณ์ของกฎหมายจึงต้องพิจารณารายงานการประชุมของผู้ร่างควบคู่กันไปกับเอกสารที่บันทึกเจตนารมณ์ของกฎหมายและเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

การด้อยค่ารายงานการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญคงเป็นเพียงความพยายามของศาลในการปลดเปลื้องหน้าที่ที่จะต้องหาคำอธิบายให้กับคำให้การที่ขัดแย้งกันเองของนายมีชัยเท่านั้น เมื่อรายงานการประชุมครั้งที่ 500 ไม่มีคุณค่าใดๆ ในการค้นหาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ศาลจึงมีข้ออ้างที่จะมองข้ามรายงานการประชุมครั้งที่ 500 และ 501 ไป