กลุ่มชาติพันธ์ุในภาวะโลกร้อน : เสียงขอมีส่วนร่วมแก้ไขและการทลายอคติกล่าวโทษ

ปัญหาโลกร้อนส่งผลต่อทุกๆชีวิตบนโลก จนทำให้หลายฝ่ายต้องหันมาแก้ไขปัญหาร่วมกัน จากประชาชนทั่วไป ภาคประชาสังคม กลุ่มธุรกิจเอกชน จนถึงรัฐบาลทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งคนชายขอบของประเทศอย่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ

ในประเทศไทย มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่เป็นกลุ่มชนเผ่าในหลายจุดทางภาคเหนือของไทย และเมื่อใดที่ไทยเผชิญปัญหาไฟป่าที่เกิดขึ้นทุกปี มักมีการกล่าวโทษไปยังคนกลุ่มนี้ที่มีส่วนก่อมลพิษส่งผลกระทบต่อประเทศและภูมิภาค จนเมื่อไม่นานมานี้ การที่กลุ่มชาติพันธุ์มีพื้นที่แสดงออกมากขึ้น ไม่เพียงส่งเสียงเพื่อแสดงการมีอยู่เพื่อสิทธิในการดำรงชีพบนวิถีทางตัวเอง แต่ก็ขอมีส่วนร่วมกับปัญหาที่ทุกคนเผชิญร่วมกันด้วย

ณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ สมาชิกผู้แทนราษฎรกลุ่มชาติพันธุ์ของพรรคก้าวไกล ได้ร่วมกล่าวในเวที CLIMATE ACTION: VOICES FROM THE COMMUNITY​ ที่จัดในงาน Sustainability Expo 2022 เมื่อวันที่ 28 กันยายน ที่ผ่านมา ว่ามีมุมมองและข้อสังเกตของกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มที่ยังปัญหาร้อยแปด ไม่นับรวมเพื่อนกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในไทยกว่า 6 ล้านคน ซึ่งอยู่ในสถานะเปราะบาง มุมมองที่ผมอยากแสดงทัศนะ หรือฝากกับพวกเรา

ในประเด็นแรก วันนี้เราต้องตระหนักแล้วว่า ภูมิอากาศของโลกนี้ มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่น่าเป็นห่วงมาก ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องตระหนักและตระหนก ถ้าวันนี้ไม่มีการร่วมมืออย่่างชัดเจนว่าเป็นปัญหาของมนุษยชาติ คนบนโลกเป็นผู้มีส่วนทำให้เกิดขึ้นมา ถึงเวลาแล้วในประเด็นนี้ ผมคิดว่าเราจะโยนความผิดเป็นปัญหาคนใดคนหนึ่งไม่ได้ แน่นอนว่า สังคมเมืองก็เป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตนี้ ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ก็ถูกมองว่าทำให้อากาศเปลี่ยนจากการเผา หรือความแห่้งแล้งที่เกิดขึ้น

แน่นอนว่าส่วนใหญ่เป็นช่วงเวลาเป็นร้อยปีที่สะสม ที่ต้องตระหนักว่า มันเกิดขึ้นจากเราทุกคน

ในประเด็นที่ 2 ที่อยากฝากไว้ ถ้าอย่างนั้น เราจะทำยังไงกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แน่นอนครับ ภาครัฐทุกประเทศจะต้องตระหนักถูกภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป หิมะที่ละลาย ทำให้อากาศและมหาสมุทรที่เปลี่ยนไป ส่งผลชัดเจนที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกัน จะร่วมมือในระดับมหภาคยังไง

ส่วนในประเทศจะต้องมีมาตรการอย่างไร มุมมองนี้ โรงงานภาคอุตสาหกรรมจะต้องรับผิดชอบยังไง ภาคประชาชนจะมาร่วมดูแลรับผิดชอบยังไง เพื่อไม่ให้เป็นภาระของคนใดคนหนึ่ง

ในประเด็นที่ 3 ที่อยากสะท้อนในฐานะตัวแทนฝ่ายนิติบัญญัติ ถึงเวลาแล้วที่ภาคประชาชนและภาครัฐจะต้องร่วมมือกันคือ แก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างไร ในฐานะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ อยากฝากว่า เราตระหนักถึงปัญหาภูมิกาศเปลี่ยนแปลงไป และพี่น้องชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในที่ราบสูง ในป่าเขา วิถีชีวิตเราพึ่งพิงการเผาเพื่อการเกษตร การเตรียมพร้อมพื้นดิน ความเข้าใจของสังคมเมือง มองว่าเรา คือผู้ที่ทำให้อากาศเปลี่ยนแปลงนั้น เราเผาในปริมาณน้อยนิด แต่ใช้เพื่อปัจจัย 4 แล้วจะมีวิธีการยังไงที่นวัตกรรมในทุกวันนี้ จะทำให้เปลี่ยนจากการเผานั้น เปิดโอกาสให้เราไม่ต้องใช้วิธีเผาอย่างไร ไม่ใช่ว่ากลุ่มชาติพันธุ์จะต้องยืนยันว่าต้องเผาอย่างเดียว

ตรงนี้ รัฐต้องร่วมแก้ไขว่า ถ้าเลือกไม่เผา จะมีวิธีแก้ไขอื่นอย่างไร มีแนวทางยังไงให้วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ดำรงอยู่ต่อได้ มีปัจจัย 4 ดำรงชีวิตอยู่ได้ ไม่ใช่วันนี้ ปัญหาที่มีอยู่ ทัศนคติจากมุมเมือง มองดูกลุ่มชาติพันธุ์เป็นผู้ทำลาย ซึ่งไม่ใช่เลย

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราตระหนักถึงปัญหาภูมิอากาศ เราต้องเสียชีวิตในการดับไฟป่าทั้งๆที่ไม่มีหน้าที่โดยตรง เมื่อเสียชีวิตไม่มีบำเหน็จบำนาญ ทุกท่าน นี่คือจิตสำนึกโดยแท้ จึงถึงเวลาแล้ว ที่สังคมเมือง สังคมชนบท และสังคมชายขอบ คนที่อยู่ในวิถีชีวิตดั้งเดิม ถึงเวลาที่รัฐต้องเข้าใจตรงนี้ ผมยังยืนยันและเห็นด้วยกับแนวทางเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) ขององค์การสหประชาชาติ ทั้ง 17 ข้อ

อีก 8 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะพัฒนาอย่างไรที่กลุ่มชายขอบต้องได้รับการคุ้มครองอย่างไร ทุกวันนี้ รัฐยังคุ้มครองไม่เป็นไปตามแผนปฏิรูประเทศเลย สิ่งที่เห็นชัดๆคือ รัฐไม่มีกฎหมายลูกส่งเสริมคุ้มครองให้กลุ่มชาติพันธุ์อยู่ได้ตามวิถีดั้งเดิม แต่รัฐกลับควบคุม จับกุมและดำเนินคดี ซึ่งผมไม่เห็นด้วย และในคณะกรรมาธิการชาติพันธุ์ได้มีแนวทางเสนอแล้วว่า ต้องหยุดจับกุมคนชายขอบ กลุ่มชาติพันธุ์ ที่ยังมีปัญหาในเรื่องทัศนคติกับการใช้พื้นที่ดินตลอดชีวิต ต้องหยุดจับกุมแล้วมาส่งเสริมอย่างไร นี่เป็นทางออกที่อยากเรียกร้องไปยังรัฐบาลไม่ว่าชุดนี้หรือชุดต่อมา ให้มีกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ และนำหลักของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้ง 17 ข้อนี้ มาส่งเสริมเป็นรูปธรรม นั้นคือการช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้อย่างชัดเจน ชัดแจ้ง

ณัฐพลกล่าวในตอนท้ายว่า ทุกคนคือผู้ที่ทำให้อากาศเปลี่ยนแปลงไป ทุกคน ทุกประเทศ มีส่วนที่จะต้องออกมาตระหนักว่่า มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี่อย่างไร จะโยนให้คนใดคนหนึ่งไม่ได้ และพวกเรายังต้องสู้กับปัญหาภูมิอากาศของโลกต่อไป