หมอประสิทธิ์ ชี้ 1 ต.ค. อยู่กับโควิดแบบนิวนอร์มอล ศิริราชถอดบทเรียนรับมือไวรัสใหม่ระบาด

หมอประสิทธิ์ ชี้ 1 ต.ค. อยู่กับโควิดแบบนิวนอร์มอล ศิริราชถอดบทเรียนรับมือไวรัสใหม่ระบาด

วันนี้ (30 กันยายน 2565) ที่โรงพยาบาล (รพ.) ศิริราช ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงปลายทางของโควิด-19 แล้วด้วยเหตุผลที่ทั่วโลกฉีดวัคซีนป้องกันโรคมากขึ้น เชื้อโอมิครอนแม้กลายพันธุ์เร็ว แต่ไม่รุนแรง หากแพร่เร็ว เราก็จะมีภูมิคุ้มกันมาก ซึ่งจะเหมือนเชื้อไข้หวัดใหญ่

“ช่วงเวลานี้ คนที่ยังต้องระวังคือ คนที่ยังไม่ฉีดวัคซีน ฉีดไม่ครบ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมาก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องระวังในอนาคต เป็นบทเรียนที่เราต้องศึกษา เพราะโคโรนาไวรัสมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา สายพันธุ์ใหม่ๆ ต้องมีมาแน่ตามธรรมชาติ ตราบใดสายพันธุ์เหล่านั้นไม่รุนแรงเพิ่ม ก็ไม่มีประเด็น แต่ที่อยากย้ำ ก่อนหน้าที่เกิดขึ้น ซาร์ส 2002 ก็มาโผล่เป็นเมอร์ส 2012 จากนั้นก็มาโผล่โควิด 2019 พวกนี้เป็นโคโรนาไวรัสทั้งสิ้น ดังนั้น วันไม่ดี คืนไม่ดี ก็อาจจะกลายพันธุ์กลับมาใหม่ แล้วเจอสายพันธุ์ที่รุนแรงได้ เมื่อถึงตอนนั้น อีก 3-4 ปีจากนี้ ภูมิคุ้มกันของคนก็จะไม่ใช่เป็นเช่นปัจจุบัน ซึ่งขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีผู้ผลิตวัคซีนจะสามารถผลิตวัคซีนให้ภูมิคุ้มกันอยู่ได้นานแค่ไหน หรืออาจจะมีรูปแบบอื่นที่สะดวกสบายนอกจากการฉีด ซึ่งขณะนี้กว่า 10 ประเทศ มีการผลิตวัคซีนแพลตฟอร์มต่างๆ ที่หลากหลายรองรับประชาคมโลก” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ยังไม่สามารถกำหนด หรือคาดการณ์ระยะเวลาที่แน่ชัดว่า ภายใน 1-2 ปี ไวรัสจะกลับมาระบาดอีกหรือไม่ รู้เพียงว่า มีโอกาสกลับมาระบาด ตราบใดที่คนมีภูมิคุ้มกันที่ดี ก็อาจจะเป็นแค่เชื้อไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดเป็นครั้งเป็นคราว เนื่องจากไวรัสมีการกลายพันธุ์อยู่เรื่อยๆ ก็จะเจอสายพันธุ์ใหม่ๆ หากติดเร็ว แต่ไม่รุนแรง ทุกคนมีภูมิคุ้มกันก็คงควบคุมได้

“แต่เราก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันมี เพราะไม่มีการตรวจอีกแล้วในอนาคต มันอาจจะมาโดยที่เราไม่รู้ตัว หากตรวจพบและเป็นโคโรนาไวรัสและก่อความรุนแรงถึงเสียชีวิต คนที่ตรวจพบตั้งแต่ต้นต้องให้ข่าวที่จริงเพื่อควบคุม อย่างไรก็ตาม การถอดบทเรียนที่ผ่านมา เป็นสิ่งสำคัญเพื่อเป็นแนวทางเรียนรู้และรับมือในอนาคตหากเกิดการระบาดขึ้น ขณะนี้ศิริราชกำลังรวบรวมประสบการณ์เพื่อสรุปถอดบทเรียนช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ คาดจะแล้วเสร็จต้นปี 2566 แต่ละแห่งต้องช่วยกันถอดบทเรียนในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงการถอดหน้ากากกับการใช้ชีวิตแบบนิวนอร์มอล หลังวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า นิวนอร์มอลไม่ได้หมายความว่า ไม่ต้องสวมหน้ากาก นิวนอร์มอลคือ ใครอยากสวมก็สวม ไม่อยากสวมก็ไม่ต้องสวม ไม่เช่นนั้น ก็อาจจะเกิดการละเมิดสิทธิ

“สำหรับผมยังอยากสวม เพื่อไม่ต้องกังวลโรคต่างๆ แต่คนจะสวมน้อยลงแน่ กลายเป็นการยอมรับซึ่งกันและกัน นิวนอร์มอลแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่เป็นการดูแลสุขภาพตนเอง ป้องกันตนเอง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังต้องติดตามจนถึงปีใหม่ว่า จะพบการกลายพันธุ์อะไรอีกหรือไม่ โลกก็ยังมีการจับตาเฝ้าระวังอยู่ สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาคือ โซเซียลมิเดียที่เกิดข้อมูลกระจัดกระจายจนบางครั้งนำไปสู่ความสับสน บางคนไม่สามารถแยกออกระหว่างข้อมูลกับความจริง การแสดงความคิดเห็นไม่ใช่สิ่งผิดที่มองรุนแรงเพื่อเตือนสังคม แต่คนฟังต้องมีดุลยพินิจ อย่าเชื่อทันที ต้องหาข้อมูลข้อเท็จจริง” ศ.นพ.ประสิทธิ กล่าว