ประวิตร ชื่นชม “อะห์หมัด สาเมาะ” ตัวแทนเยาวชนชายแดนใต้ สร้างชื่อเสียง คว้ารางวัลชนะเลิศท่องจำอัลกุรอาน ที่ซาอุฯ

“ลุงป้อม” ชื่นชม นาย อะห์หมัด สาเมาะ ตัวแทนเยาวชนชายแดนใต้ สร้างชื่อเสียง คว้ารางวัลชนะเลิศท่องจำอัลกุรอาน ณ เมืองมักกะห์ซาอุดีอาระเบีย

วันนี้ (30 กันยายน 2565) ที่ ตึกห้องรับรอง 1 ชั้น 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นำ นายอะห์หมัด สาเมาะ และครอบครัว ตัวแทนเยาวชนไทยจากชายแดนภาคใต้ ผู้ชนะเลิศการทดสอบท่องจำอัลกุรอาน ระดับนานาชาติ ณ เมืองมักกะห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา เข้าพบ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.)

ในการนี้ พลเอก ประวิตร ได้ชื่นชมยินดีกับ นาย อะห์หมัด สาเมาะ ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนเยาวชนไทยจากชายแดนภาคใต้ เดินทางไปแข่งขันได้รับรางวัลผู้ชนะเลิศการทดสอบท่องจำอัลกุรอาน ระดับนานาชาติ สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย

พลเอกประวิตร กล่าวเพิ่มเติมว่า นาย อะห์มัด สาเมาะ ปัจจุบันศึกษาอยู่ที่ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัดปัตตานี เป็นบุตรชายของ ผศ.ดร.อาลี สาเมาะ รองผู้อำนวยการสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีพี่น้อง จำนวน 3 คน โดยทั้ง 3 คน มีดีกรีคว้าเหรียญทอง อันดับ 1 ของโลก มาแล้ว ในฐานะตัวแทนคนไทย ที่เข้าร่วมการแข่งขัน ท่องอัลกรุอาน จากประเทศต่าง ๆ ประกอบด้วย นายฮาซัน สาเมาะ (พี่คนโต) ที่ 1 ของโลกจากประเทศซูดาน นายฮูเซน สาเมาะ (พี่คนรอง) ที่ 1 ของโลก จากประเทศแคนาดา และ ล่าสุด นายอะห์มัด สาเมาะ (น้องชาย) ที่ 1 ของโลก จากประเทศซาอุดีอาระเบีย สมเป็นครอบครัวตัวอย่าง เป็นแบบอย่างให้กับเยาวชนไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยจะมีประชาชนส่วนใหญ่ที่นับถือพุทธศาสนาแต่ก็ให้ความสำคัญกับการศึกษาการปฏิบัติและการเรียนรู้ทางหลักการศาสนาของทุกศาสนาอย่างเท่าเทียมโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ทางศาสนาและการเรียนรู้ตามหลักการศาสนาอิสลามอย่างเต็มที่

เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ชี้แจงว่า มีผลงานที่สำคัญหลายประการ อาทิ (1) ส่งเสริมการเรียนรู้หลักการตามศาสนา และเผยแพร่คุณงามความดีความเก่งของเยาวชนและการเลี้ยงดูของครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับการเป็นคนดี คนเก่งไปยังเยาวชนคนอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป (2) โครงการเสริมสร้างคนดีตามหลักการทางศาสนาเพื่อสืบสานและรักษาสังคมพหุวัฒนธรรมที่ดีงามของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( จัดอาหารกลางวันให้โรงเรียนตาฎีกาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้) เพื่อพัฒนาเด็กเล็กให้เข้าสู่ระบบการเรียนรู้หลักการทางศาสนา อิสลามที่ถูกต้องตั้งแต่เยาว์วัย (3) โรงเรียนสอนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์และมีกิจกรรมกลางร่วมกับยุวชนทั้ง 2 ศาสนา (4) ส่งเสริมระเบียงมักกะห์และระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลภาคใต้ที่สำคัญของโลก (5) จัดตั้งสถาบันภาษานานาชาติเพื่อการเรียนรู้และการสื่อสารของประชาชน และส่งเสริมการใช้ภาษา จำนวน 6 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอาหรับ ภาษาจีน ภาษามลายู ภาษาอังกฤษ และภาษาตูรเคีย เพื่อรองรับการเชื่อมโยงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กับนานาชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกมุสลิมและประชาคมโลกอิสลาม