‘พุทธ-คริสต์-อิสลาม’ ร่วมปันมุมมอง ยกชุมชน ‘กะดีจีน-คลองสาน’ ตัวอย่างศาสนากับความยั่งยืน

ศาสนากับความยั่งยืนเกี่ยวข้องกันอย่างไร ในงาน Sustainability Expo 2022 หรือ SX 2022 มหกรรมการแสดงสินค้าด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีคำตอบ

 

บนเวทีเสวนา ‘ศาสนากับความยั่งยืนของชุมชน’ เมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา มีตัวแทนจาก 3 ศาสนา ทั้งพุทธ คริสต์ และอิสลาม ได้แก่ พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร และกรรมการมหาเถรสมาคม มงซินญอร์ ดร.วิษณุ ธัญญอนันต์ รองเลขาธิการสภาประมุขบาทหลวง โรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย อุปนายกสภามหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ ฮัจยี อุมัร กาญจนกูล (วาสุเทพ กาญจนกูล) ผู้แทนชุมชนมุสลิมย่านกะดีจีน-คลองสาน ดำเนินรายการโดย สุรพล เศวตเศรนี ที่ปรึกษาคณะกรรมการการท่องเที่ยวโดยชุมชนและประธานจัดงาน Water & River Festival มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และแสดงให้เห็นว่า ชุมชนเป็นฐานรากของสังคม ซึ่งหากชุมชนเข้มแข็ง ประเทศก็จะมั่นคงต่อไป

‘ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน

พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) กล่าวเปิดวงสนทนาว่า สำหรับศาสนากับความยั่งยืนของชุมชนนั้น คำว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน ได้เริ่มมีการพูดถึงและใช้เมื่อ 30 ปีก่อนเป็นครั้งแรก โดยให้ความหมายว่า เป็นการพัฒนาที่เอื้อต่อคนรุ่นต่อๆ ไป ซึ่งเป็นความหมายที่เน้นในเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะว่าทุกคนได้มีการหยิบยืมทรัพยากรธรรมชาติจากรุ่นลูกหลานมาใช้ จึงไม่ควรใช้อย่างสิ้นเปลือง และเหลือไว้ให้คนรุ่นลูกหลานได้ใช้บ้าง 

แต่องค์การสหประชาชาติได้ขยายคำว่า ความยั่งยืน ให้มีความหมายมากกว่านั้น โดยในปี 2555 องค์การสหประชาชาติได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ว่า ภายในปี 2568-2571 โลกจะต้องบรรลุเป้าหมาย 17 ข้อ แต่เป้าหมายที่ควรทำได้ มี 3 เรื่อง คือ สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ สรุปแล้วการพัฒนาที่ยั่งยืนจึงไม่ได้มีเพียงแค่สิ่งแวดล้อมเท่านั้น 

สำหรับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 ยังคงหลักเป้าหมายทั้ง 3 เรื่อง ที่องค์การสหประชาชาติได้เน้นย้ำไว้อยู่ แต่ได้มีการนำวัฒนธรรมเข้ามา ซึ่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้มีแนวคิดที่จะนำไปสู่ความสมดุล ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม แต่เนื่องจากสังคมและวัฒนธรรมเป็นเรื่องเดียวกัน องค์การสหประชาชาติจึงควบรวมเป็นเรื่องเดียวกัน คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 

ดังนั้น ในปี 2549 สำนักเลขาธิการสหประชาชาติจึงนำรางวัล UN Human Development Lifetime Achievement Award ซึ่งเป็นรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ ทูลเกล้าฯ ถวาย ในหลวง รัชกาลที่ 9 

“หลังจากองค์การสหประชาติประกาศเป้าหมายความยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ ฝ่ายศาสนาก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้จัดการประชุมผู้นำศาสนาที่นครรัฐวาติกัน ในปี 2562 ซึ่งมีหนึ่งประโยคที่รู้สึกประทับใจ คือ ประโยคที่ว่า ‘No man left behind.’ การพัฒนาที่ยั่งยืนจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่ว่าจะเป็นผู้ด้อยโอกาส หรือคนยากคนจน ซึ่งเป็นพระดำรัสของพระสันตปาปา 

“ทั้งนี้ ตัวผู้พูดได้มีส่วนร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนในการประชุมครั้งนี้ และมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหลายฝ่าย รวมถึงคุณฐาปน สิริวัฒนภักดี (กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ไทยเบฟเวอเรจ) ก็ได้เข้าร่วมพูดคุยในครั้งนี้ด้วย โดยมีท่าน มงซินญอร์ ดร.วิษณุ ธัญญอนันต์ เป็นผู้ประสานงานครั้งนี้” เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารกล่าว แล้วเผยอีกว่า

การประชุมดังกล่าวได้ข้อสรุปพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืนว่า ต้องมี 5 Ps ได้แก่ People คุณภาพชีวิตของผู้คน, Prosperity ความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน, Planet ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, Peace สันติภาพ และ Partnership การมีส่วนร่วมเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งทั้งหมดจะต้องเกิดขึ้นพร้อมเพรียงกันและจับมือไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และได้มีการยกตัวอย่างชุมชนย่านกะดีจีน-คลองสาน ที่ชุมชนชาวพุทธ คริสต์ และอิสลาม ได้ร่วมจับมือกันเป็นต้นแบบ

‘บ้าน วัด ราชการ’ ตัวกลางประสานงานให้ชุมชนทั้ง 3 ศาสนาทำงานร่วมกัน

พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) กล่าวถึงชุมชนต้นแบบว่า ผู้นำชุมชนย่านกะดีจีน-คลองสาน มีอยู่ 6 ชุมชนด้วยกัน ทั้งวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ที่เป็นหน้าด่านของชาวพุทธ ตามด้วยชุมชนวัดกัลยาณมิตร ชุมชนวัดบุปผาราม ชุมชนโรงพราหมณ์ ชุมชนมัสยิดกุดีขาวเป็นอิสลาม รวมถึงชุมชนกะดีจีนที่เป็นคริสต์ เรียกได้ว่าใน 6 ชุมชน มีถึง 3 ศาสนาอยู่ด้วยกัน ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องยากที่จะติดต่อประสานงานให้ทำงานร่วมกันจนสำเร็จได้ แต่ก็เกิดขึ้นได้และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี 

“วิธีการทำงานจึงใช้ ‘บ้าน วัด ราชการ’ เป็นแกนหลักในการประสานงาน เริ่มจากชุมชนพุทธจับมือกับชุมชนอื่นๆ ในย่านกะดีจีน โดยนำผู้นำศาสนาอื่นมาร่วมเวทีแลกเปลี่ยนความคิด และจากการสืบค้นทางประวัติศาสตร์พบว่า ชุมชนพุทธ คริสต์ อิสลาม เหล่านี้เริ่มสร้างชุมชนร่วมกันมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งหากนับตั้งแต่อดีตจนมาถึงปัจจุบันก็นับได้ว่า คนในชุมชนมีความผูกพัน และนับญาติกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน” 

การแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ มีองค์กรจากภาคเอกชนมาร่วมสนับสนุน โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแกนนำ ยกตัวอย่างเช่น ด้านวัฒนธรรมที่จัดร่วมกัน คือ การจัดงานลอยกระทง ที่เริ่มต้นเมื่อปี 2553 จนมาถึงปัจจุบัน โดยให้ประชาชนนำกระทงมาลอยได้ที่วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ชุมชนมัสยิดกุดีขาว และย่านชุมชนกะดีจีน ภายในงานมีขนมและอาหารขึ้นชื่อของคนในชุมชนมาวางจำหน่าย โดยที่วัดไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งปฏิบัติเช่นนี้มานานกว่า 10 ปี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน และเป็นจุดเริ่มต้นของวิสาหกิจชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับกิจกรรมอื่นๆ อย่างการประกวดอาหาร 3 ศาสนา ได้มีการประกวดกันอย่างละ 1 วัน การรณรงค์ไม่ให้มีการสูบบุหรี่ในศาสนสถาน และการรณรงค์เรื่องการเก็บขยะให้เป็นที่เป็นทาง รวมถึงการจัดงานศิลป์ในซอยเมื่อปี 2557 ที่ได้กลายเป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยมีเยาวชนในชุมชนเป็นมัคคุเทศก์น้อยพานักท่องเที่ยวเดินชมชุมชน และกลายเป็นการท่องเที่ยวเชิงพหุวัฒนธรรมไปโดยปริยาย

วิธีการพัฒนาดังกล่าวเริ่มจากที่คนในชุมชน ได้ตื่นพร้อม ตื่นรู้ สร้างสรรค์ และกระจายสู่ภายนอกจนประสบความสำเร็จ โดยมีผู้นำชุมชนเป็นคนสำคัญในการประสานงาน จากชุมชนกะดีจีนได้พัฒนาไปถึงคลองสาน และกลายเป็นต้นแบบการพัฒนาชุมชนตัวอย่างของกรุงเทพมหานคร

ผู้นำศาสนาในชุมชน ต้องแสวงหาจุดร่วม-สงวนจุดต่าง คนที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกัน

ด้าน มงซินญอร์ ดร.วิษณุ ธัญญอนันต์ กล่าวเสริมหลังจากที่พระพรหมบัญฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) ได้บอกเล่าปูทางให้เข้าใจในภาพรวมของศาสนาและความยั่งยืนของชุมชนว่า สำหรับภาคปฏิบัติของชุมชนคาทอลิก เมื่อวันที่ 14-16 กันยายนที่ผ่านมา มีการประชุมผู้นำโลกที่อัสตานา ประเทศคาซัคสถาน ที่ผู้นำศาสนาได้นั่งร่วมวงสนทนาพูดคุยกันในหัวข้อ ‘ศาสนาเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างความยั่งยืนของโลก’ 

“ตามหลักศาสนาคริสต์ เราทุกคนต่างเป็นพี่น้องกัน แต่เมื่อเรายังไม่รู้จักกัน เราก็ไม่กล้าทำความรู้จักกัน คือ ไม่ได้เรียนรู้กันและกัน ซึ่งปัจจุบันมีความแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง เพราะการเป็นศาสนิกทำให้ต้องเข้านอกออกในวัด และมัสยิดของศาสนาอื่น คือความเป็นภราดรภาพไม่ใช่เพียงแค่พี่น้องชาวคริสต์เท่านั้น แต่ยังเป็นพี่น้องกับผู้คนในศาสนาอื่น วัฒนธรรมอื่นด้วย ทว่าสิ่งที่น่ากังวลในวงสนทนาดังกล่าวคือ ในยุโรปเริ่มกังวลกับภาวะ Xenophobia ซึ่งเป็นการหวาดกลัวคนต่างชาติ หรือคนที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม 

“ดังนั้น การแก้ไขปัญหานี้ต้องเริ่มจากผู้นำศาสนาในชุมชน ต้องแสวงหาจุดร่วมและสงวนจุดต่างของผู้คนที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกัน ส่วนที่น่ากังวลอีกประการ คือ คนที่นำเอาศาสนามาเป็นเรื่องสุดโต่ง หรือชาตินิยมจัด” มงซินญอร์ ดร.วิษณุ กล่าวด้วยความเป็นห่วง และบอกต่อไปอีกว่า

นอกจากนี้ สิ่งที่พระสันตปาปาฟรานซิสทรงห่วงที่สุด คือ กลัวคนรุ่นใหม่จะลืมเลือนประวัติศาสตร์ แต่โชคดีที่สมาชิกชุมชนวัดคาทอลิกที่ซางตาครู้สกว่า 1,000 คน ไม่หลงลืมประวัติศาสตร์และช่วยรักษาวัฒนธรรมของชุมชน ผ่านการประสานงานของผู้นำศาสนาและชุมชนอื่นๆ ในบริเวณโดยรอบ ซึ่งชุมชนคริสต์คาทอลิกอยู่ตรงบริเวณนี้กว่า 253 ปีแล้ว อยู่ติดกับวัดพุทธและศาลเจ้าจีน รวมถึงพี่น้องมุสลิมทางคลองหลวง แสดงถึงความเป็นพหุวัฒนธรรมในย่านนี้ได้เป็นอย่างดี

มงซินญอร์ ดร.วิษณุ เผยด้วยว่า สิ่งที่น่าประหลาดใจและน่าประทับใจ คือ มีผู้คนทั้งในประเทศและต่างประเทศมาเยี่ยมเยียนชุมชนแห่งนี้ โดยมีผู้นำชุมชนอธิบายพื้นที่ในบริเวณต่างๆ ของชุมชนศาสนาอื่นได้ จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันมาก่อนอย่างเป็นกัลยาณมิตร โดยคนทั้ง 3 ศาสนา 4 ความเชื่อในพื้นที่แห่งนี้ได้ร่วมแบ่งปันกัน เพราะโลกใบนี้เปรียบเสมือนบ้านของเรา เราจึงต้องร่วมแบ่งปันกัน

 

ให้เกียรติทุกศาสนาและความเชื่อที่แตกต่าง จะทำให้อยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

ฮัจยี อุมัร กาญจนกูล (วาสุเทพ กาญจนกูล) ผู้แทนชุมชนมุสลิมย่านกะดีจีน-คลองสาน กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของมัสยิดกูวติลอิสลาม หรือมัสยิดตึกแดง ว่า ย่านกะดีจีน-คลองสาน เป็นการต่อยอดและพัฒนาสู่ความยั่งยืน โดยคำว่า อิสลาม แปลว่า สันติ กล่าวคือศาสนอิสลามมีสันติ อิสรภาพ และภราดรภาพ โดยภราดรภาพนี้ ทำให้มัสยิดตึกแดงอยู่ร่วมชุมชนกะดีจีน-คลองสานมาได้อย่างเนิ่นนานแล้ว ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา

มัสยิดตึกแดงอยู่ใกล้กับศาลเจ้าพ่อกวนอู และวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ซึ่งมีศรัทธาและความเชื่อที่แตกต่างกัน แต่อิสลามสอนให้มีมารยาทที่ดีงาม ให้เกียรติทุกศาสนาและความเชื่อที่แตกต่าง อีกทั้งไม่มีคำสอนใดอนุญาตให้ทำไม่ดีต่อคนอื่นแต่อย่างใด จึงทำให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยสิ่งสำคัญคือ ดุลยภาพ ที่เป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน จะทำให้ชุมชนมีความยั่งยืนได้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) กล่าวทิ้งท้ายว่า การพัฒนาชาติให้เริ่มที่ประชาชน และการพัฒนาคนให้เริ่มที่ใจ จะพัฒนาอะไรให้เริ่มที่ตัวเรา ดังนั้น หากนำศาสนามาขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนา คือ เติมส่วนที่ขาดให้เต็ม เติมที่เต็มให้พอ และถ้าพอให้แบ่ง ที่แบ่งให้เป็นธรรม จะทำให้ทุกพื้นที่ทุกแห่งในสังคมไทยกลายเป็นสวรรค์บนดินที่น่าอยู่ จากพลังการแบ่งปันของศาสนาสืบไป