เผยแพร่ |
---|
ข่าวเด่น
SX 2022 ชู “กะดีจีน-คลองสาน” ชุมชนตัวอย่าง
ศาสนากับความยั่งยืนของชุมชน
วันนี้ 29 กันยายน 2565 เวลา 14.00-15.30 น. งาน Sustainability Expo 2022 มหกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ภายใต้แนวคิด “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” (SUFFICIENCY FOR SUSTAINABILITY) ณ SX Grand Plenary Hall ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้มีการจัดงานเสวนาหัวข้อ “ศาสนากับความยั่งยืนของชุมชน”
นำวงสนทนาโดยผู้นำ 3 ศาสนา ทั้งพุทธ คริสต์ และอิสลาม ได้แก่ พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร, กรรมการมหาเถรสมาคม, อุปนายกสภามหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, มงซินญอร์ ดร.วิษณุ ธัญญอนันต์ รองเลขาธิการสภาประมุขบาทหลวง โรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย และฮัจยี อุมัร กาญจนกูล (วาสุเทพ กาญจนกูล) ผู้แทนชุมชนมุสลิมย่านกะดีจีน-คลองสาน ดำเนินรายการเสวนาโดย นายสุรพล เศวตเศรนี
นายสุรพล เศวตเศรนี กล่าวนำว่า ในปัจจุบันองค์กรหรือหน่วยงานเอกชนต่างๆ ได้มีการช่วยเหลือชุมชนต่างๆ อยู่เป็นประจำ แต่อีกหนึ่งพลังในการช่วยเหลือชุมชนต่างๆ ให้เกิดความยั่งยืนคือศาสนา ที่มีส่วนช่วยให้คนในชุมชนนั้นๆ ยืดมั่นถือมั่นเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน โดยขอหยิบยกชุมชนกะดีจีน-คลองสาน เป็นต้นแบบในวงสนทนาครั้งนี้
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร กล่าวเปิดวงสนทนาว่า สำหรับศาสนากับความยั่งยืนของชุมชนนั้น คำว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) เป็นสิ่งที่ผ่านหูผ่านตาผู้คนมาแล้วกว่า 30 ปี หมายถึงการพัฒนาที่เอื้อต่อคนรุ่นต่อๆ ไป ที่คนในรุ่นปัจจุบันได้หยิบยืมทรัพยากรธรรมจากลูกหลานมาใช้ จึงไม่ควรใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง
แต่ว่าสหประชาชาติได้ขยายคำว่าความยั่งยืนมากกว่านั้น ในปี 2555 สหประชาชาติได้กำหนดว่า ภายในปี 2023 โลกของเราจะมีการพัฒนา 17 ข้อที่ต้องได้ผล หลักๆ คือเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ซึ่งไปไกลกว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมจากเดิม
ส่วนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาล 9 ได้นำวัฒนธรรมเข้ามา เป็นความสมดุลของเศรษกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม แต่เนื่องจากสังคมและวัฒนธรรมเป็นเรื่องเดียวกัน ทางสหประชาชาติจึงควบรวมเป็นเรื่องเดียวกัน คือ สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ
หลังจากที่ทางสหประชาติได้ประกาศเป้าหมายความยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ ทางด้านฝ่ายศาสนาเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีจัดการประชุมผู้นำศาสนาจากพระสันตปาปาที่วาติกันช่วงก่อนโควิด 19 จะระบาด โดยมีคำว่า “No Man Left Behind” (ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง) ซึ่งพระดำรัสของพระสันตปาปาเป็นแกนหลัก โดยมีท่าน มงซินญอร์ ดร.วิษณุ ธัญญอนันต์ เป็นผู้ประสานงานครั้งนี้ขึ้น
จากการประชุมดังกล่าวได้ข้อสรุปพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืนว่าต้องมี เศรษกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และสันติภาพ ที่จะต้องเกิดขึ้นพร้อมเพียงกัน ไม่มุ่งหน้าไปทางใดทางหนึ่ง เหมือนการมองช้าง ก็ให้เห็นทั้งตัว ไม่ทำงานแยกส่วนเหมือนคนตาบอดคลำช้าง ที่คลำส่วนใดของช้างก็เข้าใจแค่เฉพาะส่วนนั้น และการไปสู่เป้าหมายได้นั้นต้องมีพาร์ตเนอร์ชิป หรือการร่วมมือกัน โดยการยกตัวอย่างชุมชุนย่านกะดีจีน-คลองสาน ที่ชุมชนชาวพุทธ คริสต์ อิสลาม จับมือกันเป็นต้นแบบ
ผู้นำชุมชนย่านกะดีจีน-คลองสาน มีอยู่ 6 ชุมชนด้วยกัน ทั้งวัดประยูรวงศาวาสวรวิหาร ที่เป็นหน้าด่านชองชาวพุธ ตามด้วยชุมชนวัดกัลยาณมิตร ชุมชนวัดบุปผาราม ชุมชนโรงพราหมณ์ และชุมชนมัสยิดกุดีขาวที่เป็นอิสลาม รวมถึงชุมชนกะดีจีนที่เป็นคริสต์ เรียกได้ว่ามี 6 ชุมชน 3 ศาสนา ที่น่าจะยากต่อการประสานงานให้สำเร็จได้
วิธีการทำงานจึงใช้ “บ้าน วัด ราชการ” เป็นแกนหลักในการประสานงาน เริ่มจากชุมชนพุทธจับมือกับชุมชนอื่นๆ ในย่านกะดีจีน โดยนำผู้นำศาสนาอื่นมาร่วมเวทีแลกเปลี่ยนความคิด โดยสงวนจุดต่างทางศาสนาเป็นที่ตั้ง และจากการสืบค้นทางประวัติศาสตร์พบว่า ชุมชนพุทธ คริสต์ อิสลาม เหล่านี้เริ่มสร้างชุมชนร่วมกันมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ หากสืบเนื่องมาถึงปัจจุบันก็อาจนับได้ว่า คนในชุมชนผูกพัน นับญาติกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
การแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ โดยมีองค์กรเอกชนมาร่วมสนับสนุนโดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแกนนำ ยกตัวอย่างเช่นด้านวัฒนธรรมที่จัดร่วมกัน คือการจัดงานลอยกระทง ที่เริ่มต้นเมื่อปี 2553 จนติดตลาดมาจนถึงปัจจุบัน โดยให้ประชาชนนำกระทงมาลอยได้ที่วัดประยูรวงศาวาสวรวิหาร ชุมชนมัสยิดกุดีขาว และย่านชุมชนกะดีจีน มีขนมและอาหารที่ขึ้นชื่อของคนในชุมชนมาวางจำหน่าย โดยที่วัดไม่คิดค่าใช้จ่าย ทำเช่นนี้มากว่า 10 ปี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้แก่ชุมชน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวิสาหกิจชุมชนอย่างต่อเนื่อง
ส่วนในเรื่องอื่นๆ ก็เช่น การประกวดอาหาร 3 ศาสนา ประกวดกันอย่างละ 1 วัน หรือการรณรงค์ไม่ให้มีการสูบบุหรี่ในศาสนสถาน หรือการรณรงค์เรื่องการเก็บขยะให้เป็นที่เป็นทาง รวมถึงการจัดงานศิลป์ในซอยเมื่อปี 2557 ที่กลายเป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยมีเยาวชนในชุมชนเป็นมักกุเทศน์น้อยนำชม กลายเป็นการท่องเที่ยวเชิงพหุวัฒนธรรมไปโดยปริยาย
วิธีการพัฒนาดังกล่าวเริ่มจากที่คนในชุมชนที่ตื่นพร้อม ตื่นรู้ สร้างสรรค์ แล้วค่อยกระจายสู่ภายนอกจนประสบความสำเร็จ โดยมีผู้นำชุมชนเป็นคนสำคัญในการประสานงาน จากชุมชนกะดีจีนได้พัฒนาไปถึงคลองสาน กลายเป็นต้นแบบการพัฒนาชุมชนตัวอย่างของทางกรุงเทพมหานคร
ต่อมา มงซินญอร์ ดร.วิษณุ ธัญญอนันต์ รองเลขาธิการสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทยกล่าวว่า หลังจากที่พระพรหมบัญฑิตได้บอกเล่าปูทางให้เราเข้าใจในภาพรวมแล้ว ตนจึงขอลงถึงภาคปฏิบัติของชุมชนคาทอลิกว่า
เมื่อวันที่ 14-16 กันยายนที่ผ่านมา มีการประชุมผู้นำโลกที่อัสตานา เมืองหลวงของประเทศคาซัคสถาน ที่ผู้นำศาสนาได้นั่งเวทีโต๊ะกลมพูดคุยในหัวข้อ “ศาสนาเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างความยั่งยืนของโลก” ว่าตามหักศาสนาคริสต์ เราทุกคนต่างเป็นพี่น้องกัน แต่เมื่อเรายังไม่รู้จักกัน เราก็ไม่กล้าทำความรู้จักกัน คือไม่ได้เรียนรู้กันและกัน แต่ในยุคสมัยนี้แตกต่างไปอย่างสิ่งเชิง คือการเป็นศาสนิกทำให้เราต้องเข้านอกออกในวัดและมัสยิดของศาสนาอื่น คือความเป็นภราดรภาพไม่ใช่เพียงแค่พี่น้องชาวคริสต์เท่านั้น แต่ยังเป็นพี่น้องกับผู้คนในศาสนาอื่น วัฒนธรรมอื่นด้วย
โดยมีสิ่งที่น่ากังวลในวงสนทนาดังกล่าวคือ ในยุโรปเริ่มกังวลกับภาวะ Xenophobia หรือการหวาดกลัวคนต่างชาติ หรือคนที่แตกต่างทางวัฒนธรรม ซึ่งการแก้ไขปัญหานี้ต้องเริ่มจากผู้นำศาสนาในชุมชนในการแสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง ของผู้คนที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกัน ซึ่งส่วนที่น่ากังวลคือคนที่นำเอาศาสนามาเป็นเรื่องสุดโต่ง ชาตินิยมจัด กับอีกพวกคือคนที่ไม่มีศาสนาเลย ที่น่าจะทำงานด้วยยาก
สิ่งที่พระสันตปาปาฟรานซิสทรงห่วงที่สุดก็คือ กลัวคนรุ่นใหม่จะลืมเลือนประวัติศาสตร์ แต่โชคดีที่สมาชิกชุมชนวัดคาทอลิกที่ซานตาครูสกว่า 1,000 คน ไม่หลงลืมประวัติศาสตร์และช่วยรักษาวัฒนธรรมของชุมชน ผ่านการประสานงานของผู้นำศาสนาและชุมชนอื่นๆ ในบริเวณโดยรอบ ซึ่งชุมชนคริสต์คาทอลิกอยู่ตรงบริเวณนี้ 253 ปีแล้ว อยู่ติดกับวัดพุทธและศาลเจ้าจีน รวมถึงพี่น้องมุสลิมทางคลองหลวง แสดงถึงความเป็นพหุวัฒนธรรมในย่านนี้ได้เป็นอย่างดี
สิ่งที่น่าทึ่งก็คือ มีผู้คนทั้งในประเทศและต่างประเทศมาเยี่ยมเยียนชุมชนแห่งนี้ โดยมีผู้นำชุมชนอธิบายพื้นที่ในบริเวณต่างๆ ของชุมชนศาสนอื่นได้ จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันมาก่อนอย่างเป็นกัลยาณมิตร ที่คนทั้ง 3 ศาสนา 4 ความเชื่อในพื้นที่นี้ร่วมแบ่งปันกัน เพราะโลกใบนี้เปรียบเสมือนบ้านของเรา เราจึงต้องร่วมแบ่งปันกัน
เวลาต่อมา ฮัจยี อุมัร กาญจนกูล (วาสุเทพ กาญจนกูล) ผู้แทนชุมชนมุสลิมย่านกะดีจีน-คลองสาน กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของมัสยิดกูวติลอิสลาม หรือมัสยิดตึกแดง ย่านกะดีจีน-คลองสาน คือการต่อยอดและพัฒนาสู่ความยั่งยืน
อิสลามแปลว่าสันติ กล่าวคือศาสนอิสลามมีสันติ อิสรภาพ และภราดรภาพ โดยภราดรภาพนี้ ทำให้มัสยิดตึกแดงอยู่ร่วมชุมชนกะดีจีน-คลองสานมาได้อย่างเนิ่นนานแล้ว ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา
มัสยิดตึกแดงของเราอยู่ใกล้กับศาลเจ้าพ่อกวนอู วัดประยุรวงศาวาส ที่มีศรัทธาและความเชื่อต่างกัน แต่อิสลามสอนให้เรามีมารยาทที่ดีงาม ให้เกียรติทุกศาสนาและความเชื่อที่แตกต่าง ไม่มีคำสอนใดๆ อนุญาตให้เราทำไม่ดีต่อคนอื่นแต่อย่างใด จึงทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยสิ่งสำคัญคือดุลยภาพที่ให้เกียรติกันและกัน ทำให้ชุมชนของเรายั่งยืนสืบไป
ในช่วงท้าย นายสุรพล เศวตเศรนี นมัสการพระพรหมบัญฑิตกล่าวปิดท้าย ซึ่งพระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร กล่าวว่า มีคำกล่าวเป็นสโลแกนของการพัฒนาไว้ว่า พัฒนาชาติให้เริ่มที่ประชาชน พัฒนาคนให้เริ่มทีใจ จะพัฒนาอะไรให้เริ่มที่ตัวเราเองก่อน จุดเด่นของศาสนาเพื่อการพัฒนา คือการพัฒนาจิตใจให้อยู่ร่วมกับคนอื่น พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับเมตตาและความรัก อิสลามเป็นศาสนาแห่งสันติและความรัก มีผู้ถามพระเยซูว่าถ้าจะให้บัญญัติ 10 ประการเหลือเพียงข้อเดียวจะทรงเลือกข้อไหน ก็ทรงตอบว่า ความรัก – ความรักในเพื่อนมนุษย์
ดังนี้ ถ้าเรานำศาสนามาขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนา คือที่ขาดให้เต็ม ที่เต็มให้พอ ที่พอให้แบ่ง ที่แบ่งให้เป็นธรรม แล้วทุกที่ทุกพื้นแห่งในสังคมไทยจะกลายเป็นสวรรค์บนดินที่น่าอยู่ จากพลังการแบ่งปันของศาสนาด้วยวิธีเช่นนี้เอง •