“ชูศักดิ์” ยก 4 ข้อโวยกฎเหล็ก กกต.คุมเข้ม 180 วันก่อนเลือกตั้ง มีปัญหาทั้งข้อ กม.-ข้อเท็จจริง

“ชูศักดิ์” ยก 4 ข้อโวยกฎเหล็ก กกต.คุมเข้ม 180 วันก่อนเลือกตั้ง มีปัญหาทั้งข้อ กม.และข้อเท็จจริง มีแต่ รมต.ได้เปรียบ จี้ทบทวน

 

วันที่ 29 กันยายน 2565 นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะกรรมการฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวกรณีข้อห้ามการหาเสียงของพรรคการเมืองและ ส.ส. ช่วง 180 วัน ซึ่งเป็นปัญหาในทางปฏิบัติอยู่ในขณะนี้ว่า ปัญหาใหญ่อยู่ที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง มีมุมมองกับพรรคการเมืองเป็นลบ จึงต้องมี รัฐธรรมนูญปราบโกงจึงต้องมีข้อจํากัด ควบคุม ตรวจสอบพรรคการเมืองอย่างเข้มข้น อันเป็นยุคสมัยของพวกยึดอํานาจและสภาแต่งตั้ง เบื้องต้นจึงต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้กฎหมายเลือกตั้งและพรรคการเมือง เปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ว่าพรรคการเมืองคือตัวแทนประชาชน มีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชน

นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า เท่าที่ตนได้ตรวจสอบมีข้อสังเกตที่อยากให้สังคมเห็น ดังต่อไปนี้ 1.การขยายเวลาการบังคับใช้ในเรื่องการหาเสียงออกไปถึง 180 วันก่อนวันครบอายุสภา เป็นระยะเวลานานเกินไป แตกต่างจากกรอบเวลาตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2541 ที่เริ่มจากวันที่มีประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งหรือแม้แต่พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2550 เริ่มตั้งแต่ 90 วันก่อนวันครบอายุสภาจนถึงวันเลือกตั้ง และ กกต. ในขณะนั้นมิได้เน้นการบังคับการหาเสียงในช่วงก่อนมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง

นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า หากจะเน้นในเรื่องการบันทึกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งเท่านั้น แต่กกต.ชุดปัจจุบันกลับเน้นการบังคับการหาเสียงโดยออกระเบียบว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งครอบคลุมไปในช่วง 180 วันก่อนวันครบอายุสภา และกําหนดไว้ในระเบียบว่าให้บังคับใช้กับผู้ซึ่งประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งด้วย ประเด็นนี้อาจมีปัญหาข้อกฎหมาย เนื่องจากในขณะที่กระทําผู้นั้นยังมิได้มีสถานะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง

นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า 2.ข้อห้ามหลายกรณีในระเบียบดังกล่าวมีลักษณะฝ่าฝืนธรรมชาติ และขัดต่อการทําหน้าที่ ส.ส.ในฐานะผู้แทนปวงชน เช่น ผู้ที่ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งอาจมีความจําเป็นต้องจัดงานอันเป็นประเพณีสําหรับคนในครอบครัว เช่น งานศพ งานบวช งานแต่งงาน ในช่วงระยะเวลาต้องห้าม แต่อาจจะเข้าข่ายเป็นการจัดเลี้ยง ยิ่งในช่วงระยะเวลานี้มีสถานการณ์ภัยพิบัติอันเนื่องมาจากพายุและอุทกภัย แต่มีข้อห้ามมิให้มีการมอบสิ่งของช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย ซึ่งขัดต่อการทําหน้าที่ของ ส.ส. ในฐานะผู้แทนปวงชน ที่มีหน้าที่ต้องดูแลทุกข์สุขของประชาชน ในทางตรงกันข้ามข้อห้ามนี้มิได้ถูกนํามาบังคับใช้กรณีนายกฯ หรือรัฐมนตรี ลงไปปฏิบัติหน้าที่และมีการมอบสิ่งของหรือเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับผู้ประสบภัย โดยอ้างว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติของฝ่ายบริหาร ทําให้เกิดความได้เปรียบในการหาเสียง

“3.การจัดทําป้ายหาเสียงในช่วงเวลานี้ ถูกควบคุมทั้งเรื่องขนาดของป้าย จํานวนและสถานที่ติดตั้ง ทั้งที่ยังไม่มีการประกาศเขตการเลือกตั้งใหม่ ยังไม่มีการกําหนดจํานวนหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งส่งผลต่อการกําหนดจํานวนป้าย แต่ กกต.กลับให้ถือปฏิบัติตามเดิมไปพลางก่อนซึ่งขัดกับข้อเท็จจริง ที่สําคัญยิ่งคือ การบังคับใช้ในเรื่องนี้มิได้ถูกนํามาบังคับ กรณีที่มีการจัดทําป้ายต้อนรับรัฐมนตรีหรือป้ายประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบาล โดยอ้างว่ามิใช่ป้ายหาเสียง ทั้งที่มีผลในการจูงใจให้เกิดความนิยม ทั้งต่อตัวรัฐมนตรีหรือพรรคการเมืองต้นสังกัด” นายชูศักดิ์ กล่าว

นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า 4.ในเรื่องการควบคุมค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครและพรรคการเมือง เนื่องจากกรอบเวลาในการหาเสียง และกรอบเวลาในการคํานวณค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งเป็นระยะเวลาที่นานมาก อย่างน้อย 225 วันหรือ 7 เดือนครึ่ง ทําให้ยากต่อการควบคุมค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ กําหนดจํานวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งตามมาตรา 62 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 จะมีการกําหนดขึ้นภายหลังโดย กกต.ต้องหารือกับ พรรคการเมือง หากผู้ประสงค์จะสมัครและพรรคการเมืองได้ใช้จ่ายไปเกินจํานวนที่กําหนด จะมี ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายได้ ตนจึงเห็นว่าการขยายเวลาการบังคับใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. ออกไปนี้ อาจมีปัญหาทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ทําให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้สมัครและพรรคการเมือง ซึ่งเป็นประเด็นสําคัญที่ควรที่จะได้มีการทบทวนแก้ไข เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม