สธ.จ่อออกประกาศคุมสถานประกอบการ หลังโควิดเป็นโรคเฝ้าระวัง 1 ต.ค. ย้ำต้องสวมแมสก์ต่อ

สธ.จ่อออกประกาศคุมสถานประกอบการ หลังโควิดเป็นโรคเฝ้าระวัง 1 ต.ค. ย้ำ! หน้ากากยังสำคัญ

 

วันที่ 29 กันยายน 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย แถลงชี้แจงมาตรฐานด้านสุขอนามัย สุขาภิบาล และอนามัยสิ่งแวดล้อม สำหรับสถานประกอบกิจการหลังจากปรับลดระดับให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ว่า หลังวันที่ 1 ตุลาคมนี้ โควิด-19 จะเปลี่ยนจากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง คำถามที่ถามบ่อย คือ สถานประกอบการต่างๆ เช่น โรงภาพยนตร์ ตลาด ร้านอาหาร สปา ร้านนวด เป็นต้น จะมีแนวทางปฏิบัติตัวอย่างไร จะต้องทำตัวตามปกติเหมือนที่ไม่มีโควิด-19 กำลังระบาดหรือไม่

รวมถึงแพลตฟอร์ม Thai Stop Covid-19 2 Plus ผู้ประกอบการยังต้องประเมินตนเองอยู่หรือไม่ ทั้งนี้ ช่วงการระบาดโควิด-19 มีการใช้กฎหมาย 3 ฉบับ คือ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 และ พ.ร.บ.การสาธารณสุข ประกอบกับ เครื่องมือสำคัญ คือ โควิด ฟรี เซ็ตติ้ง (Covid-19 Free Setting)

“ดังนั้น หลังจากวันที่ 1 ตุลาคมนี้ จะผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น แต่ยังคงปฏิบัติตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.การสาธารณสุข เพื่อควบคุมสถานการณ์ โดยเฉพาะสถานประกอบที่มีการจำหน่ายอาหาร และ 142 ประเภทกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ในหมวดที่ 7 8 และ 9 เช่น อาบอบนวด สถานดูแลผู้สูงวัยและเด็ก ตลาด สระว่ายน้ำ เป็นต้น ฉะนั้น แพลตฟอร์ม Thai Stop Covid-19 2 Plus ยังคงมีอยู่ เพียงแต่รายละเอียดจะปรับให้ผ่อนคลายลง เช่น สถานประกอบการที่มีความเสี่ยงสูง อาจจะต้องประเมินเดือนละ 1 ครั้ง ส่วนเสี่ยงน้อยก็ลดลงเป็น 3 เดือนครั้ง โดยจะเน้นสิ่งสำคัญเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายหากมีการติดเชื้อมากขึ้น ซึ่งจะรวมถึงการประเมินในสถานศึกษาด้วย โดยอยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)” นพ.เอกชัย กล่าว

รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สำหรับมาตรฐานสุขอนามัย สุขาภิบาลในสถานประกอบการ แบ่งเป็น 1.ด้านสิ่งแวดล้อม จะเน้น 3 เรื่อง ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม จัดสถานที่ให้ระบายอากาศ และจัดอุปกรณ์ล้างมืออย่างเพียงพอ 2.ด้านพนักงาน/ผู้ปฏิบัติงาน เน้นการคัดกรองอาการป่วย หากพบพนักงานป่วยเป็นกลุ่มก้อนควรปฏิบัติตามมาตรการโควิด-19 ผู้ปฏิบัติงานต้องได้รับวัคซีนเข็มโควิด-19 ที่ 3 ผู้ที่ป่วยควรหยุดทำงาน และสำคัญคือ หากพบว่ามีความเสี่ยงหรือป่วย ควรตรวจ ATK ซึ่งต่างจากช่วงระบาดที่ต้องตรวจทุกคนก่อนเข้าทำงาน

“คำแนะนำสำหรับประชาชน หากพบว่า มีอาการป่วย ควรรักษาตัวเองที่บ้าน หากจำเป็นต้องออกมาข้างนอกให้สวมหน้ากาก เลี่ยงเข้าพื้นที่แออัด ส่วนมาตรการของผู้เข้าไปใช้บริการในสถานประกอบการว่าต้องสวมหน้ากากเข้าพื้นที่ก็อาจจะไม่ถูกกำหนดในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ แล้ว แต่ขอให้ผู้ใช้บริการมีจิตสำนึกในการป้องกันตนเอง โดยเฉพาะผู้ที่ป่วย ก็ควรสวมหน้ากากตลอดเวลา” นพ.เอกชัย กล่าว

นอกจากนี้ นพ.เอกชัย กล่าวว่า ส่วนผู้ที่ไม่ป่วย หากต้องไปอยู่ในพื้นที่แออัด คนมากๆ เข้าห้องแอร์ ควรสวมหน้ากาก เว้นแต่ไปพื้นที่โล่ง โปร่ง เช่น ชายหาด ออกกำลังกายในพื้นที่โล่ง

“ส่วนคำถามว่า หากขึ้นเครื่องบิน ลงเรือ นั่งรถไฟฟ้า หรือเข้าโรงหนัง ยังต้องสวมหน้ากากหรือไม่ ต้องเรียนว่า ทุกวันนี้แทบไม่เว้นระยะห่างแล้ว แต่ถ้าทำได้ ก็ยังแนะนำให้เว้นระยะห่าง และสวมหน้ากากไว้ ขณะที่ การล้างมือยังสำคัญ ทั้งนี้ การตรวจ ATK ผู้ไม่มีความเสี่ยง ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจ เว้นแต่มีอาการป่วยหรือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงมากๆ

อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่ม 608 คือ สูงอายุมากกว่า 60 ปี มีโรคประจำตัวหรือตั้งครรภ์ ยังรณรงค์ให้ไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์ โดส) และหากจำเป็นต้องเข้าสถานที่แออัด สถานที่เสี่ยง เข้าทำกิจกรรมกับคนอื่น ก็ให้สวมหน้ากาก และล้างมือบ่อยๆ” นพ.เอกชัย กล่าวและว่า

ทั้งนี้ กรมอนามัยได้สำรวจอนามัยโพลช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2565 จำนวน 274,400 คน เกี่ยวกับมาตรการที่ควรทำต่อไปแม้โควิด-19 จะเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง พบว่า อันดับ 1 เห็นว่ายังต้องเฝ้าระวัง และต้องปฏิบัติตามมาตรการ DMH อย่างต่อเนื่อง คือสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะหว่าง อันดับ 2 การจัดสถานที่ให้มีจุดล้างมือ หรือ    เจลล้างมือ และการระบายที่ดี และอันดับ 3 ทำความสะอาด และจัดการด้านสุขาภิบาลของสถานที่ต่างๆ

นพ.เอกชัย กล่าวว่า สำหรับคำถามว่า หลังวันที่ 1 ตุลาคม 2565 จะใช้ชีวิตปกติเหมือนเดิมได้หรือไม่ ต้องบอกว่า ขณะนี้สถานการณ์จากวันนั้นถึงวันนี้เกิดยุคที่เรียกว่า นิว นอร์มอล (New Normal) การสวมหน้ากากถือเป็นสุขอนามัยที่ดี เพราะนอกจากป้องกันโรคทางเดินหายใจแล้ว ยังป้องกันมลพิษ ฝุ่นละออง หลายคนอาการโรคภูมิแพ้จากฝุ่นละอองก็ดีขึ้น ดังนั้น จะเหมือนเดิมหรือไม่ ก็อาจไม่ เพราะการเฝ้าระวังสุขภาพของประชาชนดีขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ปรุงอาหารยังจำเป็นต้องสวมหน้ากากเพื่อความสะอาดหรือไม่ และกรมอนามัยจะออกประกาศแนะนำเรื่องนี้อย่างไร นพ.เอกชัย กล่าวว่า ยังเน้นย้ำ โดยเฉพาะผู้ประกอบอาหารต้องปฏิบัติมาตรการอย่างเคร่งครัด ทั้งล้างมือก่อนปรุงอาหาร หรือหลังเข้าห้องน้ำ และควรมีถุงมือในการหยิบจับอาหาร และควรมีผ้ากันเปื้อน สวมหมวก และหน้ากากอนามัยสำคัญมาก

“ต้องป้องกันไม่ให้สิ่งต่างๆ ในตัวท่านปนเปื้อนกับอาหารได้ และขอให้เจ้าของร้านอาหารควบคุมดูแลเรื่องนี้ ในส่วนผู้ปรุงอาหารที่บ้านก็ควรปฏิบัติเช่นกัน เพื่อความปลอดภัยความสะอาด ถูกสุขอนามัยด้วย ซึ่งหากประชาชนที่พบเห็นว่าพนักงานไม่ปฏิบัติตามร้องเรียนผ่าน Thai Stop Covid-19 2 Plus ได้” นพ.เอกชัย กล่าว

เมื่อถามว่า หากพนักงานในสถานประกอบการอ้างว่าไม่มีข้อกำหนดให้สวมหน้ากากแล้ว จะต้องดำเนินการอย่างไร นพ.เอกชัย กล่าวว่า ต้องฝากถึงเจ้าของสถานประกอบการ พนักงาน ว่า หากมีรายงานระบาดในร้านนั้นๆ นำมาสู่ความเดือดร้อน เขาต้องรับผิดชอบ ซึ่งยังเป็นไปตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข โดยจะมีบทลงโทษตามมา อย่างไรก็ตาม ในเร็วๆนี้ จะมีประกาศ สธ. โดยกรมอนามัยจะออกรายละเอียดคำแนะนำประกอบประกาศเพิ่มเติม

“คงไม่เหมือนเดิมที่จะอิสระเสรี เมื่อออกประกาศแล้ว ก็ต้องติดตามทางกฎหมาย เพื่อให้ได้ตามมาตรฐาน โดยประกาศดังกล่าวก็จะออกให้เร็วที่สุด อย่างช้าที่สุดคือ สัปดาห์แรกของเดือนตุลาคมนี้” นพ.เอกชัย กล่าว