ซีอีโอเอสซีบี ห่วงเงินฝากต่ำกว่า1แสนบ./บัญชีหดตัว เหตุคนไทยรายได้ลด-รายจ่ายเพิ่ม

‘กฤษณ์’ ซีอีโอเอสซีบี ห่วงเงินฝากต่ำกว่า1แสนบ./บัญชีหดตัว เหตุคนไทยรายได้ลด-รายจ่ายเพิ่ม

 

วันที่ 29 กันยายน 2565 เวลา 09.00 น. ที่โรงแรม เรเนซองส์ กรุงเทพฯ ราชประสงค์ หนังสือพิมพ์มติชน จัดเสวนา หัวข้อ “ท้าชน PERFECT STORM ทางรอดเศรษฐกิจไทย” โดย นายกฤษณ์  จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีบี บรรยายพิเศษในหัวข้อ “โอกาส – ทางรอด เศรษฐกิจไทย” ว่า หนึ่งในเรื่องที่กำลังขับเคลื่อนและจะนำไปสู่ทางออก ในฐานะตัวแทนภาคอุตสาหกรรมทางการเงินจะเข้าไปมีบทบาทเพิ่มเติมในเรื่องการกระจายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการรายเล็กและครัวเรือนให้สามารถไปต่อได้ รวมถึงสนับสนุนเศรษฐกิจในระยะยาว

สำหรับต้นตอของปัญหาหนีไม่พ้นความไม่เท่าเทียม หรือโอกาสที่ไม่เท่าเทียม หรืออาจจะเรียกว่าความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นจาก 2 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.โครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่ไม่สอดคล้องกับบริบทของเศษฐกิจโลกที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มหรือการปักหมุดทางอุตสาหกรรม หรือมุมมองการเติบโตด้านศักยภาพเศรษฐกิจในอนาคตอาจจะกลับมาพิจารณาบริบทนี้อย่างจริงจังผ่านการทำงานอย่างต่อเนื่อง

และ 2.ปัญหาวิกฤตโควิด ส่งผลให้ความไม่เท่าเทียมจะเห็นได้จากการที่ครัวเรือนไทยต้องเผชิญความผันผวนของกระแสรายได้และรายจ่ายอย่างรุนแรง ซึ่งชี้ให้เห็นความเปราะบางของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยและรายได้ประชากรไทย และเห็นชัดว่ารายได้เฉลี่ยของคนไทยลดลงมาอย่างรวดเร็ว และแนวโน้มการฟื้นตัวของรายได้ก็ยังช้าสวนทางกับรายจ่าย

โดยข้อมูลสำคัญสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบว่า 1.ครัวเรือนไทย 7 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 อยู่ในภาวะรายได้ไม่พอใช้จ่าย ซึ่งจัดว่าเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจสูง 2.ครัวเรือนไทย 8.9% มีรายได้เหลือออมน้อยกว่า 5% จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่รายได้จะไม่พอใช้จ่ายในอนาคต

อีกทั้งการชี้วัดเรื่องเงินออม ทั้งระบบธนาคารเพิ่มมากขึ้นในช่วงโควิดถึง 2.5 ล้านล้านบาท แต่เกือบ 90% เป็นเงินฝากในบัญชีขนาดใหญ่เกิน 1 ล้านบาทต่อบัญชี ซึ่งบัญชีขนาดใหญ่นี้คิดเป็นแค่ 1.5% ของจำนวนบัญชีทั้งหมดที่มีเงินฝากเพิ่มขึ้น แต่บัญชีเงินฝากขนาดเล็ก ที่มีเงินฝากต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อบัญชี ซึ่งมีมากถึง 91% เริ่มมีสัญญาณหดตัวในปี 2565 สาเหตุเพราะรายได้ลดลง แต่รายจ่ายเพิ่มขึ้นจึงต้องนำเงินเก็บออกมาใช้มากขึ้น

นายกฤษณ์กล่าวว่า ดังนั้น บทบาทของภาคการเงินจึงมีความจำเป็นที่ต้องช่วยกระจายโอกาสในการเข้าถึงเงินทุนของครัวเรือนและผู้ประกอบการ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจในระยะยาว การสนับสนุนการเข้าถึงบริการสินเชื่อและผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้มากขึ้น