‘พิพัฒน์’ ยอมรับ ‘โควิด-19’ พายุลูกยักษ์ในรอบ 100 ปี ขอบคุณ ‘ประยุทธ์-สธ.’ ช่วยฝ่าวิกฤต

วันที่ 29 กันยายน เมื่อเวลา 09.00 น. ที่โรงแรม เรเนซองส์ กรุงเทพฯ ราชประสงค์ หนังสือพิมพ์มติชน จัดเสวนา หัวข้อ “ท้าชน PERFECT STORM ทางรอดเศรษฐกิจไทย” โดย นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธาน และกล่าวปาฐกถาพิเศษ เปิดสัมมนาในหัวข้อ “ท่องเที่ยวไทยท้าชน PERFECT STORM” ว่า การระบาดโควิด-19 ถือเป็นพายุที่มีคลื่นรุนแรงมาก เชื่อว่าโอกาสที่จะเจอพายุแบบนี้จะเกิดขึ้นอีกครั้ง มีเพียง 100 ปีเกิดขึ้น 1 ครั้งเท่านั้น

คาดหวังว่าเราจะไม่ต้องเจอพายุลูกแบบนี้อีกแล้วในช่วงชีวิตที่มีอยู่ โดยการแก้ไขปัญหา และแก้วิกฤตด้านการท่องเที่ยว ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามการแก้ปัญหาของโควิดอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลายปี 2562 ที่อูฮั่น ประเทศจีน มีการรับมือผ่านการนำเข้าวัคซีน และมีการเปิดประเทศอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วีซ่าท่องเที่ยวพิเศษ (STV) การกักตัวหรือควอรันทีนต่างๆ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ จนถึงปัจจุบันที่มีการปลดล็อกเงื่อนไขต่างๆ จนกลับมาเป็นปกติแล้ว ขอขอบคุณกระทรวงสาธารณสุขที่จัดวัคซีนเข้ามาฉีดให้ประชาชนในประเทศ ที่ขณะนี้มีสัดส่วนการฉัดวัคซีนประมาณ 70% แล้ว

“หลังจากโควิดคลายตัวแล้ว เราจะฟันฝ่าเศรษฐกิจต่อไปได้อย่างไร หลังจากเราเดินทางมาถึงช่วงสุดท้ายของการปลดล็อกทุกอย่างกลับเข้าสู่ช่วงก่อนโควิดระบาด หรือภาพปี 2562 อีกครั้ง โดยจะใช้ภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือ ผ่านแผนฟื้นประเทศด้วยท่องเที่ยว ทั้งเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ตั้งเป้าหมายการเติบโตอย่างทั่วถึง สมดุล และยั่งยืน” นายพิพัฒน์ กล่าว

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า แผนการขับเคลื่อนในกลุ่มการท่องเที่ยวชุมชน ที่ถือเป็นการดูแลสิ่งแวดล้อมเข้าไปในตัว และตอบโจทย์นโยบายของนายกฯ ในเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้วย โดยแต่ละชุมชนมีของดีของตัวเอง ทั้งวัตถุดิบ เจ้าของพื้นที่ ทุกอย่างมีครบแล้วจึงไม่ต้องนำอย่างอื่นเข้ามา เมื่อสามารถพัฒนาท่องเที่ยวชุมชนได้ สิ่งที่จะตามมาคือ ชุมชนจะดูแลสิ่งแวดล้อมให้เขียวชอุ่มต่อไปได้ เพราะนักท่องเที่ยวในปัจจุบันต้องการเสพธรรมชาติ ตามเทรนด์ท่องเที่ยวโลกในปัจจุบัน ส่วนในแง่สังคมจะต้องพัฒนาเมืองให้สามารถท่องเที่ยวได้อย่างสะดวก สะอาด ปลอดภัย เพราะหากสถานที่ใดมีปัญหาความเสื่อมโทรม สกปรก ไม่ปลอดภัย ก็จะไม่เป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยว

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า การพัฒนาภาคการท่องเที่ยวต่อจากนี้ ผ่านการพัฒนาการท่องเที่ยว 2 ฝั่งทะเลไทย ขอขอบคุณกระทรวงคมนาคม ที่พัฒนาถนนหนทางจนเราสามารถท่องเที่ยวชายฝังทะเลได้อย่างดี พร้อมกับการท่องเที่ยวอนุรักษ์ประมงพื้นบ้าน โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ไทยแลนด์ริเวียร่า ประกอบด้วย เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง 2.อีอีซี การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี ประกอบด้วย ชลบุรี ตราด ระยอง และจันทบุรี 3.อันดามัน โก กรีน ประกอบด้วย พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

ที่เรากำลังพัฒนาการท่องเที่ยวโลว์คาร์บอน ในพื้นที่เขาหลัก เกาะยาวน้อยและเกาะยาวใหญ่ ในพังงาน ส่วนภูเก็ต อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สู่เมืองท่องเที่ยวระดับโลก ในปี 2028 การจัดตั้งศูนย์สุขภาพเอเชียใต้ในปี 2528 การทำสปอร์ตคอมเพล็กซ์ พื้นที่ 238 ไร่ รวมถึงศูนย์ซ่อมเรือยอร์ช พื้นที่ 1,900 ไร่ มีขนาดใหญ่สุดในอาเซียน และ 4.ดินแดนแห่งศรัทธา วัฒนธรรม และความหลากหลายทางชีวภาพ ประกอบด้วย สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา