วงถกพระปกเกล้า ชี้โจทย์ใหม่ เลือกตั้งท้องถิ่น หลังได้ผู้ชนะ คนในพื้นที่ ต้องไม่แตกแยก

วงถกพระปกเกล้าถอดบทเรียนเลือกตั้งท้องถิ่น ‘วุฒิสาร’ ชี้ สนามอบจ.-อบต.ปชช.ตื่นตัวใช้สิทธิ์หลังถูกแช่แข็งกว่า 7 ปี ด้านเลขากกต. เผย จ่อนำผลคะแนนขึ้นเว็บไซต์ โชว์ความโปร่งใส ดักทางคนคิดกกต.ดัดแปลงคะแนน

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 28 กันยายน ที่สถาบันพระปกเกล้า จัดเวทีสัมมนาสาธารณะ “การประเมินผลการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น” โดยมี นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และ นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าร่วม

นายวุฒิสาร กล่าวตอนหนึ่งว่า การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่สำคัญสุดของระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะประชาธิปไตยแบบตัวแทน กลไกการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือที่ให้อำนาจกับประชาชนในการกำหนดคนที่จะมาเป็นตัวแทนไม่ว่าจะเป็นระดับชาติหรือท้องถิ่น ดังนั้น หากสามารถทำให้กระบวนการเลือกตั้ง Free and Fair ทุกคนกาบนเสรีภาพทางความคิดปราศจากเงื่อนไข อามิสสินจ้าง มีกลไกควบคุมการปฏิบัติอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม กลไกการตรวจสอบต้องมีประสิทธิภาพที่จะชี้ให้เห็นว่า การเลือกตั้งบริสุทธ์ยุติธรรม

ทั้งนี้ การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นเครื่องมือการสร้างประชาธิปไตยท้องถิ่นเพื่อไปสู่การสร้างประชาธิปไตยระดับชาติ การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นเป็นการเลือกตั้งโดยตรง เมื่อพื้นที่เล็กความใกล้ชิดพื้นที่ ทำให้การตัดสินใจง่าย ขณะที่อำนาจในการถอดถอนตามกฎหมายยังมีข้อจำกัดทั้งเงื่อนเวลาการดำรงตำแหน่งและจำนวนประชาชนเข้าชื่อ

นายวุฒิสาร กล่าวต่อว่า การเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรง เป็นโจทย์สำคัญในการแก้ปัญหา ยกตัวอย่างการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. มีปรากฎการณ์ใหม่ คือ มีแคนดิเดตที่น่าสนใจจำนวนมากที่มีข้อเสนอทางนโยบายที่เป็นรูปธรรมและทำให้ประชาชนจับต้องได้และตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายทั้งในพื้นที่และภาพรวม โดยมีนโยบายที่นำไปสู่การพัฒนาการเลือกตั้งท้องถิ่นในอนาคต

ทั้งนี้ การเลือกตั้งทางตรงแม้จะมีข้อดีแต่ยังมีข้ออ่อน คือทำให้การแข่งขันรุนแรงขึ้น ทำให้การต่อสู้กันรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่เล็ก จะทำให้การจัดเลือกตั้งยาก ทั้งนี้ การเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งอบจ.เทศบาล อบต. ที่ผ่านมาหลังถูกแช่แข็งมา 6-7 ปี พบว่าประชาชนตื่นตัว ออกมาใช้สิทธิ์มาก ผู้สมัครหน้าใหม่และคนรุ่นใหม่ลงสมัคร โดย 60-70% ที่คนหน้าใหม่ได้รับเลือกตั้ง สะท้อนว่าการเลือกไม่ใช่การส่งต่อมรดก และบทบาทนักการเมืองท้องถิ่น ทำให้การเลือกตั้งเปลี่ยน และโจทย์ใหม่คือต้องทำให้หลังการเลือกตั้งจบลงยังเกิดความสามัคคี ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชุมชน

“วันนี้หลังการเลือกตั้งวิกฤตแตกแยกของคนในชุมชน ผมคิดว่าเป็นสัญญาณที่อาจจะไม่ค่อยไปในทางบวก หลายท่านคงจำได้ว่าการเลือกตั้งเปิดเผยทำได้ อย่างเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านเปิดเผยได้ ใครเลือกนาย ก. ยืนฝั่งนี้ ใครเลือกนาย ข. อยู่ฝั่งนี้ และได้ผู้ใหญ่บ้านหลังการเลือกตั้งความสามัคคีของคนในชุมชนก็ยังเหมือนเดิม แต่วันนี้ไม่มีการเลือกตั้งเปิดเผย มีแต่ทางลับ และทำให้แปลกแยกบาดหมางมากขึ้น ผมคิดว่า โจทย์นี้เป็นโจทย์ใหม่ของการพัฒนาประชาธิปไตยในอนาคตโดยเฉพาะประชาธิปไตยท้องถิ่น” นายวุฒิสาร กล่าว

ขณะที่ นายแสวง กล่าวว่า จากการถอดบทเรียนของ กกต. และการศึกษาทางวิชาการ ทำให้ กกต.รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งทั้งระดับชาติและท้องถิ่น โดยตั้งเป้าให้การเลือกตั้งเป็นการเลือกตั้งที่ดี มีประสิทธิภาพ เกิดปัญหาข้อบกพร่องให้น้อยสุด ทำให้ประชาชนยอมรับผลการเลือกตั้งและคุณภาพของคะแนนเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม หากผู้สมัครหรือพรรคอยากเห็นการเลือกตั้งดี ผลการเลือกตั้งจะเป็นอีกแบบ แต่ถ้ามุ่งหวังเพียงชัยชนะเพียงอย่างเดียว ผลการเลือกตั้งจะต่างไป ดังนั้น กกต.ต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกฝ่าย และต้องทำให้เกิดการยอมรับการประมวลผลการเลือกตั้ง โดยต้องทำให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เช่นผลการนับคะแนน เช่น ใบ สส. 5/18 ที่ปิดประกาศหน้าหน่วยเดิม อาจจะถูกลมพัดปลิวเสียหาย ของสำนักงานฯ มีแนวทางว่าเลือกตั้งครั้งหน้าจะนำลงในเว็บไซต์ว่าขณะที่นับแล้วเสร็จเพื่อแสดงความโปร่งใส ตัดปัญหาคนที่คิดว่ากกต.เปลี่ยนแปลงคะแนนหรือไม่ พร้อมยอมรับว่า กฎระเบียบที่ใช้ในการจัดเลือกตั้งดี แต่มีความซับซ้อนบ้าง จึงทำให้เกิดปัญหาการทำหน้าที่ในการทำหน้าที่ของ กปน. ซึ่งได้จัดอบรมและจัดคู่มือสำหรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย