กอนช. เตือน 1-7 ต.ค.นี้ น้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา สูงขึ้น 30-60 ซม. เฝ้าระวังใกล้ชิด

1-7 ต.ค.นี้ กอนช. เตือนพื้นที่ลุ่มต่ำ เฝ้าระวังระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา

เมื่อวันที่ 28 กันยายน นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.​) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)​ เปิดเผยว่า กอนช.ประกาศฉบับที่ 43/2565 เรื่องเฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์จะมีฝนตกหนัก เนื่องจากอิทธิพลของพายุ “โนรู” ในช่วงวันที่ 28 กันยายน – 2 ตุลาคม 2565 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑล ส่งผลให้มีน้ำไหลหลากผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับเกิดฝนตกในลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำท่าจีน เกิดน้ำหลากไหลลงคลองชัยนาท-ป่าสัก และแม่น้ำท่าจีน

กอนช. ได้ประเมินสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา คาดการณ์ว่าจะมีน้ำไหลผ่านบริเวณจ.นครสวรรค์ (C.2) อยู่ในเกณฑ์ 2,500-2,800 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที โดยปริมาณน้ำจะไหลมารวมกับแม่น้ำสะแกกรัง และลำน้ำสาขา ไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ 2,300-2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ในช่วงวันที่ 1-7 ตุลาคม 2565 โดยจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.30-0.60 เมตร บริเวณชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท อ.อินทร์บุรี เมืองสิงห์บุรี และพรหมบุรี จ.สิงห์บุรี อ.ป่าโมกและไชโย จ.อ่างทอง คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา อ.เสนา และผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ปทุมธานี จ.นนทบุรี กรุงเทพฯ และจ.สมุทรปราการ

ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โปรดดำเนินการ ดังนี้

1. ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำและเสริมคัน บริเวณจุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ
2. เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที
3. ปรับแผนบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ ระบบชลประทาน เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สำหรับเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ขอให้บริหารจัดการน้ำโดยใช้ระบบชลประทานในการนำเข้าคลองต่าง ๆ ทั้งด้านฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้ได้มากที่สุดตามศักยภาพคลองชลประทาน ในแต่ละช่วงเวลาที่สามารถรองรับได้
4. ประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำทราบล่วงหน้า