‘ลิณธิภรณ์’ ชี้ 8 ปี รัฐบาลประยุทธ์ ถลุงงบจัดการน้ำท่วม-น้ำแล้ง 4 แสนล้าน แต่ยังแก้ไม่ได้!

‘ลิณธิภรณ์’ ชี้ 8 ปี รัฐบาลประยุทธ์ถลุงงบแก้น้ำท่วม-น้ำแล้ง 400,000 ล้าน มากกว่าแผนจัดการน้ำของ ‘ยิ่งลักษณ์’ แต่แก้น้ำท่วมไม่ได้ แนะพ้นโนรูต้องแก้ปัญหาระยะยาวเพื่อประชาชน

 

วันที่ 28 กันยายน 2565 ดร.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ในขณะนี้อาจถูกซ้ำเติมความรุนแรงมากขึ้นจากพายุโนรูที่จะเข้าไทย แต่เมื่อประกอบรวมเข้ากับความลักลั่นของกฎเหล็ก 180 วัน กกต.ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการที่ ส.ส.จากแต่ละพรรคการเมืองที่จะไม่สามารถช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้อย่างเต็มที่ ยิ่งทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน และหากมองในอีกแง่มุมหนึ่งกฎเหล็กดังกล่าวกำลังจะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นส่วนหนึ่งในการละเลยการทำหน้าที่ในทางรัฐสภาหรือไม่ เพราะองค์ประกอบของการปกครองต้องมีทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้ง 2 ฝ่ายล้วนยึดโยงกับประชาชนและต้องมองผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้งด้วย

ดร.ลิณธิภรณ์ กล่าวอีกว่า จากความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก เกิดสภาวะโลกร้อน ทำให้ระดับความรุนแรงของพายุมีความแปรปรวนมากขึ้น แม้รัฐบาลเตรียมรับมืออุทกภัย แต่มาตรการระยะสั้นอาจไม่เพียงพอ นอกจาก 5 มาตรการ และการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดแล้ว สิ่งที่รัฐบาลควรคำนึงถึงอย่างจริงจังภายหลังจากสถานการณ์พายุโนรูผ่านพ้นไป คือการมองปัญหาการบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศอย่างเป็นองค์รวมทั้งระบบ ต้องลงมือทำจริง และทำอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมา ‘แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ’ ของรัฐบาลที่วางไว้ตั้งแต่ปี 2558-2569

หากนับเอาเฉพาะปี 2560-2565 รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้งบประมาณแผ่นดินรวมกับงบกลางไปแล้ว 364,090 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบมูลค่า 350,000 ล้านบาทของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ได้ทำไว้หลังเกิดน้ำท่วมในปี 2554 เพียง 1 ปี ในขณะที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ใช้งบประมาณแผ่นดินไปมากมาย แต่ไม่สามารถป้องกันชีวิตและดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนได้ นี่คือตัวอย่างของผู้นำที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงที่คนไทยไม่ต้องการ

สำหรับในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลได้กำหนดแผนงานให้กับ 5 กระทรวง 13 หน่วยงาน ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนปี 2565 และการกักเก็บน้ำในฤดูแล้งปี 2565/2566 ตามหน่วยงานในพื้นที่จังหวัด ผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดใน 5 กลุ่มประเภทโครงการ

1.การซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์
2.การปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ และกำจัดผักตบชวา
3.การขุดลอกคูคลอง เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ
4.การเตรียมความพร้อมวางแผนเครื่องจักรเครื่องมือ
5.การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อเก็บกักไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง

ทั้งหมดเป็นโครงการที่ทำทุกปี แต่กลับไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และรับมือได้จริง เพราะในปี 2563/2564 รัฐบาลยังได้จัดสรรงบกลางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งยังมีโครงการที่ไม่เสร็จกว่า 2,000 โครงการ

“วันนี้สิ่งรัฐบาลต้องทำนอกจากมาตรการรับมือพายุโนรูเฉพาะหน้า ประชาชนอยากเห็นการลงมือทำงาน แก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างจริงจังและเป็นระบบ แม้รัฐบาลนี้จะเหลือเวลาอีกไม่นาน แต่ช่วยทำงานให้คุ้มค่ากับเงินภาษีของพี่น้องประชาชนมากกว่านี้” ดร.ลิณธิภรณ์ กล่าว