โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย พลิกฟื้นโลกให้ยั่งยืนได้จริง?

เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ภาวะการเปลี่ยนแปลงท่ามกลางปัญหาที่เกิดขึ้นบนโลกทั้งภาวะการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ มลพิษจากการใช้ทรัพยากรเพื่อดำเนินเศรษฐกิจที่กำลังส่งผลย้อนกลับสู่เศรษฐกิจและชีวิตประชาชน ทำให้มีการปรับกระบวนทัศน์ทางเศรษฐกิจที่กลับมาสู่การให้ความสำคัญต่อชีวิตและการหมุนเวียน แทนที่การบริโภคแบบล้างผลาญแต่กลับสร้างผลตอบแทนอย่างไม่คุ้มค่่า อย่างแนวคิดที่กำลังถูกพูดถึงมากขึ้นอย่าง โมเดลเศรษฐกิจ BCG

BCG เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติพร้อมกัน ประกอบด้วย 3 เศรษฐกิจหลัก ได้แก่ B ย่อมาจาก Bio Economy คือ ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ ซึ่งมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า C ย่อมาจาก Circular Economy คือ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และ G ย่อมาจาก Green Economy คือ ระบบเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งมุ่งแก้ไขปัญหามลพิษ เพื่อลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน แล้วโมเดลเศรษฐกิจใหม่นี้จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนอย่างไร

ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ในส่วนของ BCG หลายคนคงได้ยินแล้ว เป็นวิถีที่ไทยนั้นมีความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ที่ประกอบด้วย ถ้าเอาใช้กับกระบวนการ BCG จะช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรฐษกิจ พร้อมกับเพิ่มคุณภาพชีวิตและสร้างความยั่งยืน แต่ BCG จะเดินหน้าไปได้ จะต้องร่วมขับเคลื่อนแบบจตุภาคี 4 ส่วนต้องมาร่วมช่วยกัน โดยส่วนแรกคือ ภาครัฐจะมี 11 กระทรวงเข้ามาร่วม ส่วนที่ 2 คือภาคเอกชน เรามีเอกชนร่วมคณะกรรมการ 11 สาขา โดยเอกชนนั่งประธานสาขาต่างๆ ในทั้งหมด 11 สาขา จะต้องคงสาขาอุตสาหกรรมเพื่อขับเคลื่อน BCG แผนปฏิบัติการได้รับอนุมัติและสิ้นสุดในปี 2570 โดยตั้งเป้าหมายว่า ตัวเลขจีดีพีไทยจะต้องเพิ่มใน 4 สาขาอุตสาหกรรม 1 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย เกษตรกรรมและอาหาร, สุขภาพ-การแพทย์,พลังงาน วัสดุเคมีชีวภาพและการท่่องเที่ยว และทั้ง 11 สาขา มีผู้แทนเอกชนระดับบริษัทชั้นนำมาร่วมนั่งเป็นประธาน แม้แต่กฎหมายยังสำคัญ

ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้อำนวยการใหญ่กลุ่มงานส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า การใช้นวัตกรรมมาขับเคลื่อน BCG ทางดีป้า เราทำการขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิตัล ที่จริงทุกๆเรื่องทั้ง BCG หรือแม้แต่ Soft Power หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ก็เป็นหน้าที่เราที่ต้องนำเอาเครื่องมือดิจิตัลเข้าไปช่วย ทำยังไงให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้าได้ ดีป้ามีบทบาทตัวเชื่อมการทำงานอยู่แล้ว เช่นวันนี้ ประเทศจำต้องขับเคลื่อนด้วย BCG เราเข้าใจกันดีว่า เศรษฐกิจโลกขับเคลื่อนด้วย เศรษฐกิจแพลตฟอร์มหรือเศรษฐกิจแบ่งปัน แต่วันนี้การทำงานของ BCG สามารถไปได้ด้วยเครื่องมือดิจิตัล และ BCG ก็ขยายไปไกลมาก แม้แต่เรื่องของเมืองอัจฉริยะ ซึ่งไม่ใช่แค่เอาเครื่องมือเทคโนโลยีไปใส่ในเมือง แต่จะทำยังไงให้เทคโนโลยีเพิ่มคุณภาพชีวิตคนในเมืองได้ ทั้งการอยู่อาศัย สิ่งแวดล้อมยั่งยืน กิจกรรมและโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ เครื่องมือที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ไม่ว่า ปัญญาประดิษฐ์ บล็อกเชน ทำยังไงให้การจัดการของเมืองดีขึ้น เอาข้อมูลขับเคลื่อนเมือง เป็นต้น

ฉะนั้น ในส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตัล แผนแม่บทประเทศนี้ เราต้องร่วมทำงานกับผู้ประกอบการ SMEs ผู้ให้บริการดิจิตัล ถ้าเรา แม้แต่เกษตรกรก็เกี่ยวข้องอย่างเศรษฐกิจสีเขียว ก็ต้องเครื่องมือให้เกษตรกรได้ยกระดับดีขึ้น เช่น การประเมินสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะมีสตาร์อัพที่ให้บริการด้านนี้ หรือเป็นการเอาดิจิตัลแพลตฟอร์มที่ลดพลังงานสิ้นเปลือง นี่เป็นตัวอย่างที่เอาเทคโนโลยีไปใช้เพื่อเสริมการจัดการ ดิจิตัลคือการ Cross-cutting เอาเครื่องมือไปใช้ ส่งเสริมให้ผู้คน สร้างสตาร์ทอัพเก่งๆ และผู้ประกอบการดิจิตัลเก่งๆได้

ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในแง่การส่งเสริมการลงทุน เรื่องของ BCG มันเป็นทางรอดของโลกและโอกาสของไทย ถ้าเราไม่ทำอะไรในวันนี้ ทุกอย่างจะเปลี่ยนไป และเข้าสู่ดินแดนที่ไม่คุ้นเคย การทำธุรกิจและใช้ชีวิตจะเปลี่ยนไป ส่วนไทยที่จะเป็นโอกาส เพราะเราเข้มแข็งในเกษตรกรรม ความหลากหลายทางชีวภาพ ถ้าเราจะเอาจุดนี้ไปต่อยอดไม่ว่า ไอที จะเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการผลิตสิ่งของที่ดีต่อโลกและดีกับตัวบริษัท ในแง่ตลาดทุน นักลงทุนให้ความสำคัญมากขึ้น กองทุนต่างประเทศหลายแห่ง คำถามที่เราไม่คุ้นเคยว่า มีการจัดการพลาสติก ขยะสิ้นเปลืองยังไง เป็นคำถามที่เริ่มพูดถึงมากขึ้น นี่เป็นโอกาสของไทยและเรามีโอกาสทำในระดับหนึ่งแล้ว สามารถเอาไปขาย ทำให้เกิดโอกาสเติบโตได้ เป็นแชมป์เปี้ยนแสดงให้เห็นว่าเราทำได้

BCG กับการปรับเป็นนโยบาย

ดร.จุฬารัตน์ กล่าวว่า ในส่วนกรอบแผนปฏิบัติ เมื่อดูสถานการณ์ของอุตสาหกรรมของแต่ละด้าน อย่างเกษตรกรรม เรามีเกษตรกรทั่วประเทศอยู่ 12 ล้านคน แต่ผลิตสินค้าที่คิดเป็นตัวเลขจีดีพีได้เพียง 13% ถือว่าน้อย เราส่งแค่สินค้าเกษตรระดับวัตถุดิบ ตรงนี้เราจะเอาเทคโนโลยีไปเปลี่ยนพวกนี้ ให้เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ทำน้อยแต่ได้มาก ส่วนสุขภาพและการแพทย์ 2 เป็นของโควิด เรามีบุคลากรทางการแพทย์เข้มแข็ง แต่ยา วัคซีนและเครื่องมือทางการแพทย์ต้องนำเข้า เราจะทำยังไงที่ผลิตเองได้เพียงพอและส่งไปทั่วโลกได้ ในเรื่องพลังงานไทยนำเข้าถึง 60% ประมาณ 1 ล้านล้านบาท 40% ที่เหลือผลิตเองเป็นพลังงานหมุนเวียนเพียง 15% เราจะทำยังไงให้สัดส่วนนี้เพิ่มขึ้น เพิ่มพลังงานหมุนเวียนภายในปี 2570 ถึง 30% ส่วนสุดท้าย การท่องเที่ยวก่อนโควิด เรามีนักท่องเที่ยวเข้าไทยปีละ 40 ล้านคน แต่ก็มักเที่ยวกระจุกตัว ก็มีการพัฒนา happy model กระจายการท่องเที่ยวออกสู่ที่อื่นมากขึ้น และเป็นสีเขียวมากขึ้น ทั้ง 4 ด้านจะเติบโตไปเป็นได้อย่างยั่งยืน

ส่วน BCG นั้นเป็นอนาคตของโลกไม่ใช่แค่ไทย ตอนนี้ทั่วโลกมีภัยพิบัติมากมาย จากภาวะโลกร้อน ซึ่งเกิดจากเรา ที่ใช้ทรัพยากรล้างผลาญจนอุณหภูมิโลกสูงขึ้น เราต้องเป้าไม่ให้เกิน 2 องศา แต่จากภาวะที่เพิ่มขึ้น ก็ลดลงเหลือ 1.5 องศา เราใช้ชีวิตแบบเดิมไม่ได้แล้ว ทั้งเราและประเทศเพื่อนบ้าน อย่างงานเอเปคที่จะจัดขึ้น เราเอาธีม BCG ดึงหุ้นส่วนหลายประเทศมาร่วมพัฒนา เราจะพัฒนา Bangkok Goal ว่าไทยและเพื่อนบ้านจะพัฒนา BCG ให้อย่างยั่งยืน

ความท้าทายของ BCG

ดร.ชินาวุธ กล่าวว่า ถ้าดูจากสถานการณ์เกษตรกรในไทยที่คุณจุฬารัตน์แสดงให้ดู เราจะทำยังไงให้เกษตรกรเข้าถึงและยืนได้ด้วยตัวเอง แค่ง่ายๆว่าหาเช้ากินค่ำ หรือเจอสภาพอากาศแบบนี้ จะทำยังไงให้เข้าถึงเทคโนโลยีและปรับใช้ได้ วันนี้รัฐอาจทำทั้งหมดไม่ได้ จริงๆเรียกว่ารัฐแทบไม่ได้ทำ ที่ให้ดูคือที่เราไปสร้างให้กับสตาร์ทอัพหรือผู้บริการเทคโนโลยีที่เข้มแข็งไปช่วยเกษตรกร นี่เป็นความท้าทายแรกว่า จะทำยังไงให้ปรับใช้ได้

ถ้าเราดูระดับผลิตผลทั้งหมด ทั้งข้าว อ้อย จะเห็นว่าอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ทั้งๆที่เราเป็นประเทศผู้นำ เรามีเทคโนโลยีที่ไม่แพ้ใคร แต่จะทำยังไงให้ปรับใช้ได้จริง แปลว่าวันนี้เราจำเป็นต้องสร้างคนที่มาช่วยทำ จะเราสร้างสตาร์ทอัพที่เข้มแข็งพอไปช่วยเหลือ เช่น เกษตรแม่นยำ จะเอาโดรนหรือเซ็นเซอร์มาช่วยทำ เราจำเป็นต้องสร้างระบบนิเวศที่ช่วยได้ ใช้โดรนบินแล้วคุ้มค่า การให้บริการธุรกรรมใหม่ ทำให้เห็น เกิดผู้นำต้นแบบว่าใช้เทคโนโลยีลดตุ้นทุน เพิ่มผลิตภาพ เป็นความท้าทายของไทยในการสร้างกลุ่มมดงาน หรือจะทำยังไงในการท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยว 40 ล้านคน ที่เป็น 40 ล้านที่มีคุณภาพไม่เที่ยวเฉพาะแค่ 8 จังหวัด แต่ไปให้ทั่วถึง เราต้องกลับดูว่า เรามีข้อมูลนักท่องเที่ยวมากพอ นี่เป็นสิ่งที่ดีป้าทำข้อมูลท่องเที่ยว เราจะกระจายยังไง เรามีแหล่งท่องเที่ยวอะไรอีกบ้าง รองรับได้แค่ไหน ข้อมูลส่วนใหญ่ที่มีก็อยู่กับบริษัทต่างชาติ จะทำยังไงให้ข้อมูลนี้อยู่ในมือคนไทยเพื่อมาใช้ ทำยังไงให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน ตอบสนองต่อผู้บริโภคและรักษาสภาพแวดล้อม

ดร.ศรพล กล่าวว่า มี 4 เรื่องที่ต้องทำพร้อมกัน มีระบบนิเวศที่สนับสนุนอย่างยั่งยืน

อย่างแรก คือสร้างความตระหนักรู้ ทำไมถึงสำคัญ ทำให้เห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน การเปลี่ยนวิธีคิด ต้นทุนการทำธุรกิจเปลี่ยนไป เราอยู่ในเวทีที่ว่าสิ่งนี้ควรทำ ทำแล้วเป็นโอกาส การสร้างความตระหนักรู้ก็ทำได้หลายรูปแบบ เวทีเสวนาก็เรื่องหนึ่ง แต่การสร้างตระหนัก ก็แสดงตัวอย่างให้เห็นว่าทำแล้วสำเร็จ ทำให้สามารถมาคุย มาแบ่งปันกัน ตลาดกำลังทำอยู่

อย่างที่สองคือ การสร้างข้อกำหนดมาตรฐาน คือจะทำแล้วแต่ไม่รู้จะทำยังไง อย่างในวงตลาดทุน ก็ทำเรื่องเปิดเผยข้อมูลที่ยั่งยืน จะเขียนยังไงที่นักลงทุนต้องการ ทำเวิร์คชอป หรือการสร้างชุมชนเพื่อแบ่งปันข้อมูล

อย่างที่สามคือ การสร้างการยอมรับ สร้างแบบอย่างเช่น การนำขึ้นในงานใหญ่ หรือการมอบรางวัลที่เป็นรางวัลความยั่งยืนให้กับคนที่เป็นตัวอย่างที่ดี มีการอบรมกับผู้ร่วมตลาด สมมติคนสนใจความยั่งยืน อยากลงทุน แต่ไม่รู้จะวิเคราะห์ ย่อยข้อมูลยังไง ก็สร้างระบบนิเวศให้วิเคราะห์ ให้นักลงทุนสัมพันธ์ให้ข้อมูลที่แจงนักลงทุนได้ บริษัทจัดการลงทุนมีแบบแผนในการอธิบาย

และอย่างสุดท้าย การสร้างโครงสร้างพื้นฐานข้อมูล นักลงทุนจะลงทุนยังไง บริษัทจะทำอะไร การมีข้อมูลทำให้รู้ว่าการลงทุนนี้มีความสำคัญ และทำให้บริษัทดูภาพลักษณ์ดีในสายตานักลงทุน ในอนาคต ข้อมูลที่เป็นต้องเป็นโครงสร้างภาษาอังกฤษและเครื่องจักรอ่านได้ ให้รู้ว่าบริษัทไทยโดดเด่นยังไง