‘จุรินทร์’ โชว์ตัวเลขส่งออก ส.ค.โต 7.5% ชี้สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวต่อเนื่อง

‘จุรินทร์’ โชว์ตัวเลขส่งออก ส.ค.โต 7.5% ชี้สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวต่อเนื่องเผย 8 เดือนแรก โกยรายได้เข้า ปท.กว่า 5.41 แสนล้านบาท

เมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่กระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เปิดเผยว่า เดือนสิงหาคม 2565 ไทยส่งออกมีมูลค่า 23,632 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวอยู่ที่ 7.5% คิดเป็นเงินไทย 861,169 ล้านบาท ขยายตัว 20.4% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน หรือขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 27,848 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 21.3% คิดเป็นเงินไทย 1,026,654 ล้านบาท ขยายตัว 35.5% ทำให้ไทยขาดดุลการค้า 4,215 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 165,485 ล้านบาท ดังนั้น 8 เดือนแรกปี 2565 (มกราคม-สิงหาคม) ไทยส่งออกรวม 196,446 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 11% คิดเป็นเงินไทย 6.63 ล้านล้านบาท ขยายตัว 21.9% นำเข้ารวม 210,578 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 21.4% คิดเป็นเงินไทย 7.21 ล้านล้านบาท บวก 33.4% และขาดดุลสะสม 14,131 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท 583,424 ล้านบาท

นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า สำหรับการส่งออกในเดือนสิงหาคม 2565 ขยายตัวได้ดีจากสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวอยู่ที่ 27.6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย 8 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัวกว่า 29.1% คิดเป็นมูลค่ากว่า 16,015 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย 541,555 ล้านบาท โดยกลุ่มอาหารแปรรูปที่มีความต้องการสูงในเดือนสิงหาคม 2565 เช่น ข้าว น้ำตาล อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไก่สด อาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องดื่ม และไอศกรีม เป็นต้น ขณะที่ สินค้าอุตสาหกรรม กลับมาขยายตัวสูงอีกครั้งหลังชะลอตัวในเดือนก่อน อยู่ที่ 9.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย 8 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัวกว่า 9% คิดเป็นมูลค่ากว่า 153,044 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย 5.16 ล้านล้านบาท ซึ่งสินค้าที่มีความต้องการสูงในเดือนสิงหาคม 2565 เช่น การส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) และผงวงจร เป็นต้น ส่วนกลุ่มสินค้าที่ยังติดลบอยู่ ได้แก่ สินค้าเกษตร ในเดือนสิงหาคม 2565 ติดลบ 10.3% เนื่องจากยังติดปัญหาเรื่องผลไม้สด และการส่งออกยางพารา

 

สำหรับตลาดที่ขยายตัวดี 10 ดับแรกเดือนสิงหาคม 2565 ประกอบด้วย 1.กลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี 41.1% 2.แคนาดา 39.3% 3.ตะวันออกกลาง 38.4% 4.สหราชอาณาจักร 32.2% 5.ลาตินอเมริกา 27.4% 6.ทวีปออสเตรเลีย 19.0% 7.สหภาพยุโรป 19.0% 8.สหรัฐ 16.3% 9.ญี่ปุ่น 6.6% และ 10.อาเซียน (5) 5.8%

นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การส่งออกเดือนสิงหาคม 2565 กับ 8 เดือนแรกของปี 2565 เป็นบวกคือ 1.เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด 2.กิจกรรมการเดินทางท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวและนับหนึ่งได้ ทำให้สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวขายดีขึ้น ทั้งอัญมณี เครื่องประดับ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้สำหรับการเดินทาง เครื่องสำอาง เป็นต้น 3.ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นตามกระแสการสร้างความมั่นคงทางอาหารของแต่ละประเทศ 4.ราคาสินค้าเกษตรไทยอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ดีขึ้นเพราะค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง และ 5.ความต้องการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องทำความเย็นที่เพิ่มขึ้นเพราะกระแสคลื่นความร้อนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น

นายจุรินทร์กล่าวว่า สำหรับการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน การส่งออกผ่านการค้าชายแดน เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ขยายตัว 29.6% สร้างเงินให้ประเทศ 56,849 ล้านบาท 8 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว 21.1% ทำเงินให้ประเทศ 432,923 ล้านบาท โดยการค้าชายแดนกับ 1.ประเทศมาเลเซีย เดือนสิงหาคม ขยายตัว 20.5% สินค้าที่ขยายตัวสูง อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์รถยนต์ ไก่ และลำโพงขยายเสียง 2.ประเทศกัมพูชา ขยายตัว 34.8% ทำเงินให้ประเทศ 15,427 ล้านบาท 3.สปป.ลาว ขยายตัว 28.8% ทำเงินให้ประเทศ 12,736 ล้านบาท และ 4.เมียนมา ขยายตัว 37.8% สร้างเงินให้ประเทศ 12,452 ล้านบาท

นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า ส่วนการค้าผ่านแดนตัวเลขติดลบ เนื่องจากความสำคัญของการค้าผ่านแดน ไปประเทศที่ 2-3 ทางบกลดความสำคัญลง เพราะเราหันไปส่งออกทางเรือมากขึ้น ขณะนี้ตู้คอนเทนเนอร์มีเพียงพอ ภาคเอกชนพอใจที่กระทรวงพาณิชย์และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน และค่าระวางเรือเริ่มถูกลงเกือบเท่าตัว ทำให้การส่งออกผ่านทางบกน้อยลง สำหรับประเทศที่ค้าผ่านแดน 3 ประเทศหลักคือ จีน เวียดนาม และสิงคโปร์ การค้าผ่านแดนเดือนสิงหาคม ติดลบ 33.6% โดยจีน ติดลบ 55.2% สินค้าที่หดตัวสูง คือ ผลไม้สด แช่เย็นและแห้ง เวียดนาม ขยายตัว 51.5% ทำเงินให้ประเทศ 4,799 ล้านบาท และสิงคโปร์ ขยายตัว 2.4% ทำเงินให้ประเทศ 4,481 ล้านบาท สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ 434.4% เครื่องใช้ไฟฟ้า 237.7%

“ผมเชื่อมั่นในศักยภาพของทีมเซลส์แมนประเทศ ทูตพาณิชย์ของเราทั่วโลก รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ที่เราทำงานร่วมกับเอกชนใกล้ชิด ทำให้เราสามารถหาตลาดใหม่ๆ ที่เป็นตลาดไม่ถึงกับเป็นอุปสรรคจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ให้เราสามารถระบายสินค้ามากขึ้น ทำให้ตัวเลขส่งออกของเรายังดีอยู่ จากที่ตั้งเป้าหมายการส่งออกปี 2565 ไว้ที่ 4% ซึ่งเกินเป้า และปลายปี 2565 คิดว่าตัวเลขยังดีอยู่ และการส่งออกยังถือเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (จีดีพี) เพราะการท่องเที่ยวเพิ่งเริ่มฟื้นตัว” นายจุรินทร์กล่าว