พิธา-พรรณิการ์ ร่วมงานแฟชั่นโชว์โพเอ้ม ชี้อนาคตเศรษฐกิจไทยคืออุตสาหกรรมครีเอทีฟ-คราฟต์

พิธา-พรรณิการ์ ร่วมงานแฟชั่นโชว์โพเอ้ม ชี้อนาคตเศรษฐกิจไทยคืออุตสาหกรรมครีเอทีฟ-คราฟต์

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ได้รับเชิญเข้าร่วมงานแฟชั่นโชว์ของแบรนด์ POEM โดยชวนล ไคศิริ ดีไซเนอร์ชื่อดัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Bangkok International Fashion Week 2022

พิธากล่าวว่า คำตอบของอนาคตเศรษฐกิจไทย ไม่ใช่การพึ่งสินค้าเกษตรหรืออิเล็กทรอนิกส์อีกต่อไป เพราะโลกยุคดิจิทัลและ AI ดิสรัปชั่น อุตสาหกรรมไทยจะถูกท้าทายอย่างมาก แต่ทางออกของการสร้างงานที่ดี มีรายได้สูง เป็นธรรมและเป็นการใข้ศักยภาพคนไทยอย่างเต็มที่ คืออุตสาหกรรมครีเอทีฟ คราฟต์ แคร์ หรืองานใช้ความคิดสร้างสรรค์ งานฝีมือ และงานบริการ ที่หุ่นยนต์ไม่สามารถแทนที่คนได้ ด้วยเหตุนี้อุตสาหกรรมแฟชั่นดีไซน์ จึงเป็นอนาคต ที่รัฐต้องสนับสนุนทั้งสาขาดีไซน์ และสาขาการผลิต ซึ่งหมายถึงช่างฝีมือจำนวนหลักแสนหรือล้านคน

พิธาระบุว่า รัฐต้องสนับสนุนดีไซเนอร์ให้มีต้นทุนต่ำลงในการคงอยู่ในวงการ เพราะคนส่วนใหญ่ใช้เวลาหลายปีและต้นทุนมหาศาล กว่าจะประสบความสำเร็จ หนึ่งในเรื่องที่รัฐทำได้ คือการสร้าง Common House หรือสถานที่ที่ออกแบบเพื่อการทำงานดีไซน์และช่างฝีมือโดยเฉพาะ มีสตูดิโอและอุปกรณ์เครื่องมือจำเป็นให้ใช้ฟรี สถานที่แบบนี้นอกจากจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของดีไซเนอร์รุ่นสร้างตัว ยังเป็นแหล่งพบปะแลกเปลี่ยนไอเดียระหว่างดีไซเนอร์และช่างฝีมือแขนงต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดไอเดียได้ดีขึ้น

ส่วนในสายงานช่างเย็บ ช่างปัก ช่างแพทเทิร์น พิธาเสนอโมเดลของ เลอดิสเนิฟ เอ็ม เมติเย ดาต์ ของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นองค์กรที่รวมเอาช่างฝีมือทุกแขนงมาทำงานด้วยกัน พัฒนาต่อ

ยอด ผสมผสานองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ หากรัฐบาลไทยจัดให้มีสถาบันแบบนี้ขึ้น ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือช่าง หรือแม้แต่รับจ้างผลิต ให้ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ๆ ไม่ต้องหาช่างเป็นของตัวเอง แต่นำแบบมาสั่งผลิตได้ที่นี่ ก็จะทำให้เกิดระบบซัพพลายที่แข็งแกร่ง แข่งขันในเวทีโลกได้

“หมดยุคที่อุตสาหกรรมสิ่งทอ แฟชั่นไทย จะสร้างศักยภาพการแข่งขันด้วยของถูก ด้วยการบีบค่าแรงช่าง เราต้องส่งเสริมฝีมือช่างไทย สร้างระบบอุตสาหกรรมที่มีค่าจ้างเป็นธรรม แข่งขันด้วยฝีมือและความประณีต นี่คืออนาคตของคนรุ่นต่อไป” พิธากล่าวทิ้งท้าย

ส่วนพรรณิการ์ แสดงความเห็นต่องานแฟชั่นโชว์ของ POEM ว่าเป็นการสั่นสะเทือนวงการแฟชั่นด้วยคุณค่าทางการเมืองที่เป็นสากล โดยการส่งเสียงเรียกร้องเรื่องความหลากหลายและคุณค่าของคนเท่ากัน ที่แสดงออกผ่านการให้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสีผิว ทุกรูปร่าง คนหลากหลายทางเพศ เดินบนรันเวย์

“ในอดีตรันเวย์แฟชั่นสู้กันเรื่องมาตรฐานความงามเกี่ยวกับความอ้วนผอม นางแบบต้องไม่ผอมเกินไป แต่เวทีนี้ไปไกลกว่านั้นมาก มันพูดถึงคุณค่าของคนเท่ากัน ไม่มีกรอบ อคติทางเพศ สีผิว อายุ รูปร่าง จะเป็นคนแบบไหนก็คือคนเหมือนกัน มีคุณค่าในตัวเอง”

พรรณิการ์ยังบอกอีกด้วยว่าเวลาเราเห็นรันเวย์ เห็นเสื้อผ้าราคาแพง มันคือห่วงโซ่สุดท้าย คือความสำเร็จที่ปลายทาง แต่ก่อนจะถึงตรงนั้น มีช่างเย็บผ้ากี่ร้อยคน คนทำงานกี่พันคนที่อยู่เบื้องหลัง เมื่อพูดถึงการยกระดับอุตสาหกรรมแฟชั่น เราต้องไม่คิดถึงแค่การส่งเสริมแบรนด์หรือดีไซเนอร์ แต่ต้องคำนึงถึงคนตัดคนเย็บ ทั้งระบบ ต้องมีค่าตอบแทนที่เป็นธรรม สภาพการทำงานที่ดีด้วย