อดีต สมช.ชี้ผู้นำต้องมีสปิริต ไม่ใช่สัจจะไร้เกียรติ ยกตัวอย่าง ประเทศที่เจริญแล้วไม่ต้องตีความกฎหมาย

24 ก.ย.65 พลโทภราดร พัฒนถาบุตร เลขานุการคณะกรรมการกิจการพิเศษพรรคเพื่อไทยอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)กล่าวว่าหลักกฎหมายทั่วไปของประเทศที่เจริญแล้วบัญญัติไว้ว่าบุคคลใดจะปฏิเสธไม่รู้กฎหมายไม่ได้ กฎหมายดังกล่าวจึงต้องเป็นตัวบทที่เข้าใจง่ายและเป็นที่ยอมรับของสังคมนั้นๆ ในกรณีกฎหมายกำหนดเวลาการดำรงตำแหน่งของผู้นำประเทศไม่ว่าจะเป็นแบบเทอมหรือแบบเป็นไม่ต่อเนื่องแต่รวมกันแล้วต้องไม่เกินจำนวนปีที่กำหนดประชาชนก็จะเข้าใจตรงกันทันทีว่าในเวลานั้นต้องเป็นเช่นไรไม่มีปัญหาที่จะต้องมาตีความกัน

อังกฤษประเทศต้นแบบประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญของเขาไม่เป็นลายลักษณ์อักษรใช้ยึดหลักประเพณีการปกครองที่ดีงาม ผู้นำประเทศเขารู้ชอบชั่วดีว่าจะต้องลุกออกจากตำแหน่งในเวลาอันควรด้วยตนเองไม่ต้องให้ใครตีความหรือให้ประชาชนมาขับไล่ อีกประการหนึ่งในประเทศที่เจริญแล้วการถวายสัตย์หรือปฏิญาณตนของผู้นำประเทศต่อองค์พระประมุขหรือคำภีร์ศาสนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แต่ละประเทศให้ความเคารพนับถือและต้องดำเนินการอย่างเปิดเผยโดยปลายทางของคำตอบก็คือเพื่อให้เป็นสัญญาประชาคมที่มีพิธีการดังกล่าวมารองรับเพื่อสร้างความยอมรับจากสังคมนั่นเอง ถ้าผู้นำคนใดปฏิบัติไม่ครบถ้วนตามพิธีการ ผู้นำคนนั้นเขาก็จะแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชนด้วยการปลีกวิเวกออกไปจากสังคมการเมืองทันทีและไม่ขอกลับเข้ามาข้องแวะอีก เพราะเขาถือสปิริตว่ามันเป็นความผิดพลาดที่ใหญ่โตมากที่มิอาจจะได้รับการให้อภัย เรื่องแบบนี้เมื่ออาสามารับใช้ประชาชนจะต้องเตรียมการซักซ้อมมาอย่างดี เมื่อเกิดความผิดพลาดมันแสดงถึงความไม่จริงใจต่อประชาชนไม่ใส่ใจที่จะรักษาสัตย์ เริ่มต้นก็ไม่ให้เกียรติไม่แคร์ประชาชนไม่ตระหนักถึงเกียรติยศศักดิ์ศรีแล้ว คนประเภทนี้ถ้ายังทุรังได้มาเป็นผู้นำประเทศก็กล้าที่จะทำเรื่องบัดซบได้อย่างไม่ละอายใจขอเพียงให้บรรลุผลประโยชน์แห่งตนและพวกพ้องเป็นใช้ได้ แต่ในประเทศที่เป็นอารยะนั้นคนประเภทนี้ก็จะมิอาจผ่านด่านกระบวนการยุติธรรมของเขาขึ้นมาเป็นผู้นำได้ สองประการที่กล่าวมาแล้วข้างต้นไม่ทราบว่าจะใช้มาเทียบเคียงกับเหตุการณ์ในประเทศไทยได้หรือไม่