เผยรัฐบาลไทย คันโยกหัก! กลางที่ประชุม UN ด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน

ยังไม่ทันสิ้นสุดการประชุมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน หรือ United Nations Responsible Business and Human Rights Forum, Asia-Pacific ซึ่งจัดขึ้นที่องค์การสหประชาติสำนักงานภูมิภาค ณ กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 20-22 กันยายน ภายใต้หัวข้อ Harnessing Levers of Change หรือรวมพลังคันยกเพื่อเปลี่ยนแปลง แต่รัฐบาลไทยต้องเจอกับความท้าทายอย่างรุนแรงจากการไปประกาศให้โลกรู้ว่าจะเป็นประเทศผู้นำแห่งภูมิภาคเอเชียในการส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนของภาคธุรกิจ

แต่ไม่ทันจะระดมพลังออกแรงผลักคันโยกแห่งการเปลี่ยนแปลง คันโยกฝั่งรัฐบาลไทยก็เป็นอันหักลงเสียแล้วเมื่อ แผนปฏิบัติการระดับชาติ ซึ่งออกตามหลักการชี้แนะขององค์กรสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน กลับถูกเครือข่ายภาคประชาสังคมและกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจทั้งกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ผู้ได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมจากการสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเด็นนี้ยกป้ายประท้วงในห้องประชุมใหญ่แบบไม่เกรงใจรัฐบาลไทยและสายตาชาวโลก หนำซ้ำวันนี้ เหตุการณ์โรงงานสารเคมีรั่วที่จ.นครปฐมจนสร้างความเดือดร้อน ส่งกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรง ซึ่งยังไม่สามารถระบุผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่ที่มีการแพร่กระจายของสารเคมี ได้ตอกย้ำว่า แผนปฏิบัติการระดับชาติฯที่นำทัพโดยกระทรวงยุติธรรมและถวายพานให้ พล.เอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปท่องหลักการ “ปกป้อง เคารพ เยียวยา” ต่อหน้า UN นั้นเป็นการแสดงป่าหี่ ท่องคาถากันตายแก้วนกขุนทอง

หลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาตินั้น ออกแบบและผ่านการรับรองจากประเทศสมาชิกและกลุ่มเครือข่ายภาคธุรกิจชั้นนำของโลก เพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านด้วยหลักการผสมผสานที่เรียกว่า Smart Mixed คือ การใช้มาตรการเชิงสมัครใจ และ การใช้มาตรการด้านกฎหมายบังคับควบคู่กัน ในส่วนของมาตรการด้านกฎหมายนั้น สิ่งที่รัฐบาลและภาคธุรกิจต้องร่วมมือกันคือ การออกกฎหมายให้ภาคธุรกิจต้องตรวจสอบผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน หรือ Mandatory Human Rights Due Diligence ซึ่งจะต้องทำตลอดเวลาที่บริษัทดำเนินกิจการอยู่ โดยไม่สนว่ากิจการนั้นจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ จะเป็นบริษัทสัญชาติไทยหรือเกิดจากการลงทุนข้ามพรมแดน โดยภาคธรุกิจจะต้องจัดตั้งหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนและเร่งติดตามผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง นอกจากนี้กฎหมายสำคัญที่รัฐบาลจะต้องบัญญัติคือกฎหมายป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก (Anti-SLAPP Law) ซึ่งภาคธุรกิจมักใช้ช่องว่างทางกฎหมายในการฟ้องปิดปากชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ นักวิชาการหรือนักปกป้องสิทธิที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องหรือชี้เป้าสภาพความเสียหายที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจอย่างจริงจัง ตัวเลขการฟ้องคดีปิดปากจากภาคธุรกิจต่อ ผู้ได้รับผลกระทบ นักวิชาการและนักปกป้องสิทธิ โดยเฉพาะกรณีล่าสุดของกิจการเหมืองทองคำและอุตสาหกรรมการเกษตร เป็นสิ่งที่ยืนยันความล้มเหลวของรัฐบาลไทยในการปกป้องคนตัวเล็กที่ทำหน้าที่ในฐานะพลเมืองผู้ตื่นรู้ได้เป็นอย่างดี ยังไม่นับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งได้อนุมัติงบประมาณต่อสู้คดีกับบริษัทเหมืองทองสัญชาติออสเตรเลียเป็นจำนวนเงินเกือบ 800 ล้านบาท นับเป็นค่าโง่ก้อนแรกที่ประเทศไทยต้องเสียให้กับความไม่ฉลาดรู้ในการบริหารประเทศของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์

สุดท้ายนี้ นาดา ไชยจิตต์ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและความหลากหลายทางเพศ ขอให้ประชาชนช่วยกันติดการปรับปรุงแก้ไข ตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ระยะแรกมีกรอบเวลาบังคับใช้ระหว่างปี 2562-2565 กำลังจะสิ้นสุดลงและรัฐบาลกำลังดำเนินการยกร่างแผนฯ ระยะที่สอง จากการตรวจสอบพบว่าเนื้อภายในโดยเฉพาะสาระสำคัญเกี่ยวกับการตรากฎหมายบังคับให้ภาคธุรกิจต้องเคารพสิทธิมนุษยชนยังคงมีแนวทางที่อ่อนปวกเปียกเพราะรัฐบาลไม่กล้าที่จะออกกฎหมายบังคับภาคธุรกิจรวมถึงกลุ่มทุน พรรคไทยสร้างไทยขอส่งเรียกเรียกร้องไปยังรัฐบาลว่าให้ทำหน้าที่ของ ผู้มีหน้าทีรับผิดชอบในการปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือ Duty Bearer ด้วยการรักษาคำมั่นสัญญาตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเอาไว้ได้ หากทำไม่ได้พรรคไทยสร้างไทยจะขอเป็นผู้นำในการยกร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินการตรวจสอบผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากภาคธุรกิจ และกฎหมายคุ้มครองประชาชนจากการฟ้องคดีปิดปาก เพราะเราเชื่อว่าการผลักดันเศรษฐกิจโดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนเป็นแก่นกลาง จะทำให้สิทธิเป็นเรื่องของคนทุกคน เป็นสิทธิมนุษยชนที่ประชาชนกินได้