แอมเนสตี้ จี้ ‘ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน’ ‘ชลิตา’ อัดรัฐบาลไทย ต่ออายุตามใจชอบ-สภาฯสอบไม่ได้

แอมเนสตี้ จี้ ‘ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน’ ชี้ ที่ผ่านมา 1,467 คนถูกหว่านคดี ‘ชลิตา’ อัดรัฐไทย ต่ออายุตามใจชอบ-สภาฯ ตรวจสอบไม่ได้

 

วันที่ 23 กันยายน 2565 เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย นำโดย น.ส.ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย พร้อมด้วยตัวแทนนักกิจกรรมและนักวิชาการที่ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อาทิ ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ร่วมยื่นหนังสือและ 6 ข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทย เพื่อให้ยุติการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และยุติข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่เกิดจากการแสดงออกและการชุมนุมประท้วง เนื่องจากที่ผ่านมาข้อกล่าวหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถูกนำมาใช้ในการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมประท้วงมากที่สุด และมีอย่างน้อย 1,467 คนถูกดำเนินคดีดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ปิยนุช นำนักกิจกรรมเดินเท้า จากหน้ากองกำกับการ 4 กองบัญชาการตำรวจสันติบาล ถึงประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล จากนั้น ผู้ถูกดำเนินคดีสลับปราศรัยถึงผลกระทบจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พร้อมชูป้ายไวนิลขนาดใหญ่ ระบุว่า “ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หยุดการใช้กฎหมายปิดปากผู้เห็นต่าง” ไปจนถึงป้ายข้อความขนาดเล็ก ความว่า “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควบคุมโรคระบาด หรือควบคุมเสรีภาพประชาชน” “ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน = ขยายเวลาปิดปากผู้เห็นต่าง”

ผศ.ดร.ชลิตากล่าวว่า มาถึงทุกวันนี้ เราก็รู้ว่าเรื่องของโควิด-19 เบาบางลงด้วยเหตุผลหลายอย่าง แต่ตัว พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ยังมีการบังคับใช้อย่างเต็มที่ แม้กระทั่งเดือนนี้ ที่ทุกคนรู้ว่า สถานการณ์เบาบางลงมาก และกำลังจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ แต่ในเดือนนี้ก็ยังคงมีประชาชนอีกหลายกลุ่ม จำนวนมาก ถูกดำเนินคดีรายใหม่ๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆ แถมยังมีการใช้กฎหมายควบคุมการชุมนุม เข้ามาประกอบร่วมทำให้เกิดความสับสนอย่างมาก และผลเสียก็ตกกับประชาชนที่ถูกตั้งข้อหานี้

“และเราก็รู้ว่า ที่ผ่านมา มีหลายคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องบ้าง ศาลยกฟ้อง แต่กระบวนการของตำรวจ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาล หรือนายกโดยตรง ก็ยังไม่หยุดที่จะตั้งข้อหากับประชาชน ทำให้มีภาระต่อสู้คดีต่างๆ มากมาย ในการมาขึ้นศาล รายงานตัว

ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่รัฐบาลใช้ตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ขัดกับรัฐธรรมนูญอย่างมาก แม้ที่ผ่านมาทั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือศาลรัฐธรรมนูญ จะมีข้อวินิจฉัยไปในทางที่เอื้อต่อความชอบธรรมในการประกาศใช้ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่โดยความรู้สึกของประชาชน สามัญสำนึกเราต่างรู้ดีว่า ขัดต่อหลักการพื้นฐานในรัฐธรรมนูญอย่างมาก เอื้อต่อการอำนาจอย่างไม่มีขีดจำกัดของรัฐบาล สร้างภาระให้กับประชาชน และความจริง รัฐบาลมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน หากจะจำกัดอย่างจำเป็น ก็ต้องมีขอบเขต และรัฐจะต้องคำนึงถึงหลักความได้สัดส่วน ไม่ใช่ทำแบบนี้” ผศ.ดร.ชลิตาระบุ

ผศ.ดร.ชลิตากล่าวต่อว่า ที่สำคัญ คือเรื่องของหลักการถ่วงดุลอำนาจ ซึ่งทำอะไรไม่ได้กับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รัฐบาลสามารถต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ตามใจชอบ

“ไม่รู้กี่จะครั้งแล้ว ไม่มีใครตรวจสอบ สภาทำอะไรไม่ได้ หรือว่าสภาประเมินผลไม่ได้เลยด้วยซ้ำว่า การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีผลดี เสียอย่างไร

ที่สำคัญ กระบวนการไม่สามารถเข้ามาถ่วงดุลได้ เพราะเมื่อประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการบังคับใช้ตามข้อกำหนด ก็ไม่สามารถไปร้องต่อศาลปกครองได้ ทั้งที่ความจริงเป็นสิ่งที่ทำได้” ผศ.ดร.ชลิตากล่าว และว่า

พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ได้มีผลกระทบแค่ต่อพวกเรา ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ยังมีพื้นที่อย่าง 3 จังหวัด ชายแดนใต้ด้วย ซึ่งมีการใช้ พ.ร.กฉุกเฉิน มา 17-18 แล้ว

“เราทราบดีว่า ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ชายแดนใต้ดีขึ้น กลับทรุดหนักไปอีก การใช้ในที่แห่งนั้นทำให้ประชาชนที่ถูกตั้งข้อสงสัย เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะในช่วงที่เขาจะต้องถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร และเอื้ออำนวยต่อการถูกซ้อมทรมาน หรือถูกละเมิดสิทธิต่างๆ ถึงเวลา พอกันที ต้องบอกให้รัฐบาลยุติการบังคับใช้กฎหมายนี้ โดยทันที” ผศ.ดร.ชลิตากล่าว

จากนั้น น.ส.ปิยนุช นักวิชาการและนักกิจกรรม ร่วมยื่นหนังสือถึงรัฐบาล โดยมี นายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี ออกมารับหนังสือ พร้อมระบุว่า รัฐบาลให้ความสำคัญ กับข้อเรียกร้องทั้ง 6 ข้อ

นายสมพาศกล่าวว่า ในฐานะที่ดูแลเรื่องโควิด ก็ขอรับข้อเสอนทั้งหมดไปดำเนินการ และจะแจ้งความคืบหน้าให้ทราบต่อไป

สำหรับ 6 ข้อเรียกร้อง ได้แก่

1. ยุติการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยคำนึงถึงความจำเป็น ความได้สัดส่วน และความเหมาะสมในการจำกัดหรืองดเว้นการปฏิบัติตามสิทธิที่ได้รับรองในกติกาสากล ว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR)

2. อนุญาตและคุ้มครองให้บุคคลหรือกลุ่มใดๆ สามารถแสดงความเห็นของตนและชุมนุมประท้วงโดยสงบในพื้นที่ได้อย่างปลอดภัย รวมถึงรัฐมีหน้าที่ต้องอำนวยความสะดวกให้บุคคลเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงโดยสงบ และประกันให้บุคคลในสังคมมีโอกาสแสดงความเห็นที่สอดคล้องกับบุคคลอื่นตามสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

3. ยุติการดำเนินคดีอาญากับบุคคลใดๆ อันเนื่องมาจากการใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ อันเป็นสิทธิที่พึงมีและได้รับการรับรองภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ และตามรัฐธรรมนูญฯ ฉบับ 2560

4. ดำเนินการให้มั่นใจว่า เจ้าหน้าที่บังคับใช้ กฎหมายทุกคนที่มีหน้าที่ควบคุมฝูงชน ต่างได้รับการฝึกอบรมอย่างเหมาะสม ทั้งในด้านกลยุทธ์และยุทธวิธีที่สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมทั้งตรวจสอบการละเมิดกฎหมายทั้งภายในประเทศและการละเมิดมาตรฐานสากลอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นกลาง และเป็นอิสระโดยทันที และรับรองว่าผู้กระทำผิดต้องถูกนำมาลงโทษ

5. ประกันว่ามาตรการทั้งปวงที่นำมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และการเลี่ยงพันธกรณีด้านสิทธิต้องมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับข้อกำหนดในแง่การให้ข้อมูล ความถูกต้องตามกฏหมาย และความจำเป็น รวมถึงกำหนดให้มีกลไกตรวจสอบที่เป็นอิสระเพื่อติดตามและรายงานข้อมูลมาตรการที่นำมาใช้

6. พิจารณาและปรับปรุงกฎหมายพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศและหลักความถูกต้องของกฎหมาย เพื่อนำมาประกาศใช้แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และรองรับบทบัญญัติที่ต่อต้านวัฒนธรรมลอยนวลผลผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อประกันความรับผิดและการเยียวยาให้มีประสิทธิภาพ