“ศานนท์” ร่วมถก “ก้าวพอดี 2565” ชูแก้ไขเส้นเลือดฝอย สร้างกทม.น่าอยู่ยั่งยืน

รองฯศานนท์ ร่วมเสวนา “ก้าวพอดี 2565 พลิกโฉมประเทศไทย ก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน” แก้ปัญหา​เส้นเลือดฝอย​ ส่งเสริมความร่วมมือ​ สร้างกรุงเทพฯน่าอยู่อย่างยั่งยืน

เมื่อเวลา 16.30 น. วานนี้ (22 ก.ย.2565) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นวิทยากรในเวทีเสวนา งานก้าวพอดี 2565 พลิกโฉมประเทศไทย ก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน (A Bright Leap Forward 2022: Transforming Thailand towards sustainable growth) จัดโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ระหว่างวันที่ 22-25 ก.ย. 65 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการดำเนินงานระหว่างภาคีเครือข่ายที่มีบทบาทในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของประเทศไทย ควบคู่ไปกับการพัฒนาตามแนวทางในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13

รองฯศานนท์​ กล่าวว่า​ ความยั่งยืน เป็นคำที่เรียบง่ายและมีหลายความหมาย สำหรับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครท่านพูดเสมอว่า ความยั่งยืน อาจจะหมายถึงการที่เราไม่เอาเปรียบคนรุ่นต่อไป​ อย่างเช่นเราไม่ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในปัจจุบันจนหมด จนรุ่นต่อไปไม่มีใช้ สิ่งที่กทม. เราพยายามทำและมีวิสัยทัศน์ คือ​ การไม่ได้ต้องการจะให้กรุงเทพฯเป็นเมืองอันดับ 1 ทางด้านเศรษฐกิจ​ แต่อยากให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันกรุงเทพฯเป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยวอันดับ 1 ของโลกแต่เป็นเมืองอันดับที่ 98 ในเรื่องของความน่าอยู่

ซึ่งมันน่าสนใจว่าทำไมเราถึงเป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยวแต่ไม่น่าอยู่​ นั่นก็อาจจะเป็นเพราะเรา ยังขาดสิ่งที่เรียบง่ายในการใช้ชีวิต เช่น เรื่องของการขนส่งสาธารณะที่ดี​ บ้านที่ราคาเข้าถึงได้สำหรับทุกคน โรงเรียนที่มีคุณภาพใกล้บ้าน สวนสาธารณะใกล้บ้าน​ ฟุตบาทที่ดี​ นั่นจึงเป็นนโยบายหลักของกทม.ที่พัฒนาในเรื่องของ “เส้นเลือดฝอย” คือการพยายามทำเรื่องเล็กๆให้ดี กรุงเทพมหานครเรามีเส้นเลือดใหญ่ที่ดีอยู่แล้ว​ เช่น​ โครงข่ายรถไฟฟ้าหลายสายหลายสี อุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำ​ โรงเรียนเอกชนอันดับ 1 ของภูมิภาค​ โรงแรมระดับ 6-7 ดาว แต่ในรายละเอียดของเส้นเลือดฝอยจะพบช่องว่างของความเหลื่อมล้ำอยู่สูงมาก​ จึงเป็นที่มาของนโยบายกทม.ที่จะนำเงินงบประมาณและทรัพยากรต่างๆ ไปสู่เส้นเลือดฝอย

นอกเหนือกว่านั้น หลังจากชนะการเลือกตั้งมาด้วยความหวังของประชาชน สิ่งที่สำคัญคือการเปลี่ยนความหวังเป็นความร่วมมือ ซึ่งก็ตรงกับการเสวนาในเวทีวันนี้ที่ว่าเราจะร่วมมือกันอย่างไร ที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่น่าอยู่ให้ได้ โดยต้องอาศัยเวทีสาธารณะพื้นที่สาธารณะต่างๆ​ กทม.​เชื่อว่าหลายๆคนอยากมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของคนกรุงเทพฯ เพียงแต่เรายังขาด​ Platform ที่จะรวมทุกคนที่อยากแก้ปัญหาไว้ด้วยกัน​

ดังนั้นสิ่งที่สำคัญของกทม.คือการรวมพลังของคนที่จะคิดเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ​ กทม.จึงส่งเสริมเวทีแห่งความร่วมมือ บางคนอาจจะเห็นว่ากทม.จัดแต่งงานรื่นเริง​ งานสังสรรค์​ แต่แท้จริงแล้วมันมีหัวใจบางอย่างอยู่ในงานนั้น​ ​เช่น​ งานดนตรีในสวน​ หรือฉายหนังกรุงเทพฯกลางแปลง​ มันคือพื้นที่รวมคนที่มีความแตกต่างซึ่งจะเกิดการแลกเปลี่ยนมากมาย ทำให้ได้ทราบถึงสิ่งที่เขาต้องการเพื่อให้กรุงเทพฯเปลี่ยนแปลงและสามารถทำได้​ รวมถึงยังเป็นเวทีสำหรับการแสดงออกถึงพลังของความร่วมมือกับกทม. ซึ่งกทม. ต้องส่งเสริมเวทีแบบนี้อีกมากมาย รวมถึงการที่กทม.มีหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาย่านต่างๆในกรุงเทพฯซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้คนในย่านมาเป็นหัวใจ เพราะเขาคือผู้อยู่อาศัยในย่านนั้น​ ซึ่งนั่นคือการพัฒนาที่ยั่งยืน

โครงการ “ไม่เทรวม” คืออีกหนึ่งโครงการที่เห็นถึงความร่วมมือของประชาชนกับกทม.จะเห็นได้ว่าการออกกฎหมายบังคับเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้สิ่งต่างๆประสบความสำเร็จได้ หากขาดความร่วมมือ กทม.จึงได้ออกแบบในเรื่องของการกระตุ้นสร้างจิตสำนึก​และความร่วมมือขึ้น โดยนำร่องใน 3 เขตก่อน​ คือ​ เขตหนองแขม​ เขตปทุมวัน​ และเขตพญาไท รวมถึงอีกหลายๆโครงการที่จะดำเนินการไปพร้อมๆกัน​ เนื่องจากทุกเรื่องล้วนมีความสำคัญหมด​

นอกจากนี้​ กทม.ยังให้ความสำคัญกับการศึกษาเนื่องจากเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ถ้าหากมีการศึกษาที่ดี​ มีอาชีพที่ดี​ ก็จะนำไปสู่ความเติบโต พัฒนา​ และยกระดับคุณภาพชีวิตได้​ ในปัจจุบันความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น จะเห็นได้ว่ามีนักเรียนมาเรียนกับโรงเรียนของกทม.มากขึ้น​ เนื่องจากเรามีอาหารเช้าและกลางวันฟรี​ และมีการสนับสนุนชุดนักเรียน เป็นต้น​ กทม.จึงเร่งผลักดันให้โรงเรียนของกทมเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพ

“กทม.จะวิ่งไปพร้อมกันกับประชาชนและข้าราชการกว่า 80,000 คนที่จะร่วมผลักดันนโยบาย​ 216 ข้อ​ ให้ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากกทม.ต้องการความร่วมมือและเชื่อเหลือเกินว่าพลังที่แท้จริงไม่ได้อยู่กับกทม.​ แต่อยู่กับประชาชนและความร่วมมือของทุกคน และนั่นคืออีกหนึ่งความหมายของความยั่งยืน ” รองฯศานนท์​ กล่าวทิ้งท้าย​

สำหรับ งานก้าวพอดี 2565 พลิกโฉมประเทศไทย ก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน (A Bright Leap Forward 2022: Transforming Thailand towards sustainable growth) วันที่ 22 ก.ย.65 ตั้งแต่เวลา 13.40 – 15.10 น. ได้จัดให้มีเวทีเสวนา “การขับเคลื่อน SDGs กับแผนฯ 13” โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานอนุกรรมการภาคเอกชนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน รศ.ดร.จุรี วิจิตรวาทการ ประธานอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ประธานอนุกรรมการการประเมินสิ่งแวดล้อม ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ประธานอนุกรรมการพลังเยาวชนขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ดำเนินเวทีเสวนาโดย ดร.วันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

จากนั้น เวลา 15.20 – 16.50 น. เป็นเวทีเสวนา “พลังคุณค่าคน…สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นางสาวนพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดร.กัญจนีย์ พุทธิเมธี ที่ปรึกษากลุ่ม SAFETist Farm นายชยารพ บุรพัฒน์ ผู้ก่อตั้ง Nimit Nation ดร.ศิริกุล เลากัยกุล Country Director of Sustainable Brands Thailand นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้แทนจากกรุงเทพมหานคร (TBC) ดำเนินเวทีเสวนาโดย รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของชาติ ซึ่งในเวลา 15.30 – 16.30 น. เวทีเสวนาย่อย 1 จะมีการเสนอประเด็นเสวนาโดยสำนักงานผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNRC) โดยรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะได้นำเสนอความคิดเห็นเรื่อง “คุณค่าคน & การพัฒนาเมืองในมุมมองของกทม.อีกด้วย