ภาครัฐผนึกเอเชีย จัดประชุมระดับเอเชีย รวม 3 งานด้านพลังงาน สู่เป้าหมาย Net Zero

วันที่ 20 กันยายน ศูนย์ประชุมและนิทรรศการไบเทค บางนา บริษัท แกท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท แคริออน อีเวนท์ จำกัด ประเทศสิงคโปร์ ผนึกภาครัฐและเอกชนด้านพลังงานกว่า 200 แห่งทั่วโลก เปิดงานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีทางด้านพลังงานและงานประชุมระดับผู้นำแห่งเอเชีย ภายใต้คอนเซปต์ การเติบโตแห่งพลังงานที่ยั่งยืนสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ชูนวัตกรรม Solar Storage ระบบกักเก็บพลังงาน ที่จะมาเปลี่ยนโลกให้ก้าวสู่ Net Zero ได้เร็วขึ้น สร้างความสมดุลแห่งการผลิตไฟฟ้าและการใช้งานได้ตลอด 24 ชั่วโมง

นางวุฒยา หนุนภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เปิดเผยว่า การจัดงานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีทางด้านพลังงานและงานประชุมระดับผู้นำแห่งเอเชียในปีนี้ ได้เปิดตัวขี้นอย่างเป็นทางการ โดยภายในงานจะมีงานสำคัญ 3 งาน อยู่รวมกัน ได้แก่ งาน Sustainable Energy & Technology Asia (SETA) 2022 (งานพลังงานและเทคโนโลยีแห่งเอเชียประจำปี 2565) งาน Solar+Storage Asia 2022 (งานพลังงานโซลาร์และระบบกักเก็บพลังงานแห่งเอเชียประจำปี 2565) และงาน Enlit Asia 2022 (งานระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าและระบบกริดแห่งเอเชีย 2022) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-22 กันยายนนี้ ที่ศูนย์ประชุมและนิทรรศการไบเทค บางนา Hall 100-104

นางวุฒยา กล่าวว่า งานแสดงสินค้านี้เป็นงานที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาคีต่างๆ จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 6 ปี เพื่อสร้างให้เป็นเวทีในการส่งเสริมการเติบโตทางธุรกิจ และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ นวัตกรรมและเทคโนโลยี และร่วมกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาในทุกๆ ด้านของอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศและในภูมิภาค ซึ่งเวทีแห่งนี้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปยืนอยู่แถวหน้าในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในภูมิภาค และมีนโยบายเชิงรุกรวมถึงการกำกับดูแลด้านพลังงานที่ส่งเสริมและก่อให้เกิดแรงดึงดูดการลงทุนมหาศาล

อย่างไรก็ดีจากความก้าวหน้าของด้านพลังงาน ได้ส่งผลกระทบด้านมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้างเนื่องจากทุกอุตสาหกรรมและเกือบทุกกิจกรรมของผู้คนในสังคมล้วนต้องใช้พลังงานในการดำเนินชีวิต จากข้อมูลของ Climate Watch Data ที่ทำการสำรวจในปี 2565 พบว่าภาพรวมภาคธุรกิจในประเทศไทยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด คือ ภาคพลังงาน ซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุดถึง 61.11% รองลงมาคือ ภาคอุตสาหกรรม 16.67% ตามด้วย ภาคการเกษตร 15.96% และ ภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน 3.31%

ดังนั้น การจัดงานในปีนี้จึงจัดขึ้นภายใต้แนวคิดของการเติบโตทางพลังงานที่ยั่งยืน เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสโลกที่ร่วมกันเดินไปสู่เป้าหมายการปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero) รวมถึงเปิดตัวนวัตกรรมใหม่ในการจัดเก็บพลังงาน ซึ่งสอดคล้องกับการประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทยภายในปี 2065-2570 เป็นคำมั่นที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายพลังงานสะอาดในอนาคต

ในปีนี้ SETA ได้จัดงานร่วมกับ SOLAR+STORAGE ASIA 2022 (SSA) ซึ่งเป็นงานด้านเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์และระบบกักเก็บพลังงานของเอเชีย เป็นการจัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จะมาเชื่อมต่อภาครัฐและเอกชนให้เกิดความร่วมมือกันในการเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาดได้อย่างแท้จริง สามารถใช้ทดแทนพลังงานดั้งเดิมให้ได้ในวงกว้าง ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคประชนชน ระบบกักเก็บพลังงาน จะเข้ามาสร้างสมดุลของระบบผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการให้สมดุลและต่อเนื่องมากขึ้น เพราะหากมีการผลิตไฟฟ้าได้เพียงช่วงเวลาหนึ่ง เช่น ในเวลากลางวันที่มีแสงแดดเข้มข้น แต่ถ้าพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตมาที่ไม่ถูกใช้งานก็จะทำให้เกิดการสูญเปล่า แต่ระบบการกักเก็บจะนำส่วนที่ผลิตเกินและจ่ายเข้าไปยังระบบ ดังนั้น ระบบกักเก็บพลังงานจึงช่วยให้การใช้ไฟฟ้าที่ผลิตได้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยให้สามารถตอบสนองความต้องการของการใช้ไฟได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง ช่วยลดปัญหาการผลิตไฟฟ้าได้ไม่สม่ำเสมอในบางช่วงเวลาจนต้องสลับไปใช้ไฟฟ้าแบบดั้งเดิม นวัตกรรมใหม่นี้จึงส่งผลให้การลดการปล่อยคาร์บอนสามารถก้าวสู่เป้าหมายแห่ง Net zero สู่เป้าหมายได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ ภายในงานจะมีการเสวนาที่เป็นไฮไลต์สำคัญคือ “ผ่าแผนนโยบายพลังงานชาติฉบับใหม่ กับเส้นทางเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย ทั้งสี่ด้าน :ไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน พลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน” ซึ่งเป็นการร่วมถกประเด็นในด้านแผนพลังงานชาติที่แรกของปี 2565 ทั้งในเชิงยุทธศาสตร์และผลกระทบต่อภาคประชาชนที่ทุกคนต้องจับตามอง เป็นประเด็นสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP) ฉบับใหม่ ทั้งสิ้น โดยมีเนื้อหาสำคัญ 6 ประเด็น ประกอบด้วย 1. การผลิตไฟฟ้าแบบปลอดคาร์บอน (Decarbonised Power Generation)

2.การเสริมความแข็งแกร่งและสร้างโครงข่ายระบบไฟฟ้าในอนาคต (Fortifying and Creating a Next-Gen Power Grid) 3. การพัฒนาระบบไฟฟ้าในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (The Electrification of The ASEAN Economy) 4. ความผันผวนของราคาไฟฟ้าจากสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด (Electricity Prices Surging due to unexpected Circumstances) 5. การผลักดันพลังงานหมุนเวียนให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ (Enabling Renewable Energy to meet RE Targets) และ 6. แผนกลยุทธ์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (The Roadmap to Net-Zero)

มร.ริชาร์ด ไอร์แลนด์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคริออน อีเวนท์ จำกัด ผู้อำนวยการจัดงาน Enlit Asia กล่าวว่า Enlit Asia ได้ร่วมจัดงาน แสดงสินค้าและเทคโนโลยีทางด้านพลังงานและงานประชุมระดับผู้นำแห่งเอเชีย กับ บริษัท แกท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และหน่วยงานด้านพลังงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยหวังว่างานจะผลักดันให้เกิดความร่วมมือ แลกเปลี่ยนความคิด ในการนำเทคโนโลยี และพลังงานสะอาด มาทดแทนพลังงานสิ้นเปลือง โดย Enlit Asia 2022 ได้นำเสนองานด้านผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าและโครงข่ายไฟฟ้า(กริด) เพื่อการผลิตไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพของโลกแม้ว่าสภาพอากาศจะมีแนวโน้มที่แปรปรวนขึ้น ภายใต้หัวข้อ “Accelerating ASEAN’s Energy Transition to Achieve Carbon Neutrality” เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายพลังงานและเศรษฐกิจของรัฐบาล ตามการประกาศเจตนารมณ์ในเวทีการประชุม COP26 ผู้นำโลกร่วมเจรจา เร่งดำเนินงานแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศตนเอง ด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศทั่วโลกที่จะร่วมมือกันทุกภาคส่วน สนับสนุนการใช้พลังงานที่ยั่งยืนอย่างจริงจัง สร้างความแข็งแกร่ง และขยายฐานลูกค้าในกลุ่มพลังงาน โดยปีนี้จะเน้นเรื่องการเปลี่ยนถ่ายไปสู่การใช้เทคโนโลยีสะอาด

สำหรับงานประชุมและนิทรรศการทั้ง 3 งานนี้ นับเป็นเวทีด้านพลังงานที่สำคัญที่ผู้นำด้านพลังงานในภูมิภาคจะได้มาแลกเปลี่ยนและเรียนรู้โซลูชั่นที่เป็นนวัตกรรมด้านพลังงานที่แท้จริง จากวิทยากรที่มาจากองค์กรอุตสาหกรรมพลังงานชั้นนำกว่า 200 แห่งทั่วโลก ที่จะหยิบยกประเด็นด้านพลังงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้นในยุคปัจจุบันที่อุตสาหกรรมพลังงานโลกกำลังวิวัฒนาการอย่างไม่หยุดนิ่ง วิทยากรที่เข้าร่วมจะบรรยายและอภิปรายในประเด็นที่ท้าทายเหล่านี้ เช่น ผู้บริหารจาก ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) การไฟฟ้านครหลวง (MEA)  การไฟฟ้ามาเลเซีย (TNB) การไฟฟ้าแห่งเวียดนาม (EVN) การฟ้าแห่งอินโดนีเซีย (PLN)

และตัวแทนจากภาคเอกชน เช่น  Indonesia Power, Trilliant, Wartsila, Shell, Mitsubishi Power, Siemens, ABB, JERA, Toyota และ Saudi Aramco และ อีกหลายองค์กร โดยการจัดงานแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1.งานประชุมนานาชาติ 2.งานสัมมนาภาคภาษาไทย ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ 3. งานแสดงสินค้าและนิทรรศการนานาชาติ แบ่งเป็นโซน Power, Utilities,Grid, IPP/SPP/VSPP, Renewable Energy, Solar, Energy Storage, EV and charging system และ Hydrogen  4. การจับคู่ธุรกิจ และ 5.สตาร์ตอัพ และโครงการ Hosted Buyer ผู้ซื้อไฟรายใหญ่พบกับผู้จำหน่วยโซลาร์แบบเจาะจง คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 15,000 คน ทั้งในประเทศและต่างประเทศกว่า 70 ประเทศทั่วโลก