“ชัชชาติ” เปิดงานเร่งฟื้นฟูคลองหัวลำโพง นำร่องพัฒนาให้สะอาด

เร่งฟื้นฟูคลองหัวลำโพง นำร่องพัฒนาให้สะอาด ชี้เป็นเรื่องท้าทาย ถ้าทำได้ขยายผลไปทั่วกทม.

 

วันที่ 20 กันยายน 2565 เมื่อเวลา 11.30 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดกิจกรรมฟื้นฟูคลองหัวลำโพง ตามโครงการนำร่อง (Pilot Project) เนื่องในวันอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำคูคลองแห่งชาติ 20 กันยายน 2565 ณ บริเวณหน่วยเก็บขยะทางน้ำคลองหัวลำโพง เขตคลองเตย พร้อมทั้งร่วมปลูกต้นอโศกอินเดีย จำนวน 70 ต้น

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า วันนี้ 20 กันยายน เป็นวันอนุรักษ์และพัฒนาคูคลอง ซึ่งหลายเดือนที่ผ่านมาเราได้ไปพูดคุยกับสภาอุตสาหกรรม จึงคิดว่าเรื่องคูคลองเป็นเรื่องสำคัญของกรุงเทพฯ เพราะฉะนั้นเราจะลองเลือกคูคลองที่มันโหดๆ เพื่อเป็นต้นแบบในการทำให้เข้าใจปัญหาที่แท้จริง แล้วลองทำเป็นต้นแบบเพื่อเอาผลที่ได้ไปขยายต่อได้ อย่างไรก็ตามเลยลองนึกถึงคลองหัวลำโพงที่วิ่งไปถึงหัวลำโพง ตอนหลังโดนถมที่ทำถนน สุดท้ายก็จะเห็นเป็นคลองเล็กๆ มาจากตลาดคลองเตย แล้วก็วิ่งออกที่คลองพระโขนง และไปเชื่อมต่อกับคลองไผ่สิงโตด้วย ก็เป็นจุดที่เราถือว่าท้าทาย

จากจุดที่เราอยู่ตรงนี้จะได้กลิ่นน้ำเน่าเหม็นเลย เพราะว่ามีบ้านเรือนที่อยู่ริมคลองแล้วก็ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงเลย ทั้งห้องส้วมทั้งการซักล้างทิ้งลงมาเลย  อีกทั้งต้นทางมีตลาดคลองเตยที่เป็นตลาดใหญ่ มีการเชือดไก่ มีน้ำล้างเขียงหมูแล้วก็ลงคลองหมด ไม่แน่ใจว่ามีบ่อบำบัดหรือเปล่า ก็เป็นต้นเหตุหนึ่ง ซึ่งอยู่ในนโยบายของเราด้วย นโยบายข้อที่ 171 เรื่องการดูแลตลาดให้ถูกหลักสุขอนามัย ซึ่งก็มีความร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ซึ่งทางรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแล้ว ที่ผ่านมาได้มีการลงมาดูพื้นที่มานานแล้วเป็นเดือน โดยจะเอาพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่นำร่องในการพัฒนาให้สะอาด ถ้าทำได้จะขยายผลไปทั่วพื้นที่กทม. อีกทั้งตรงนี้เป็นคลองที่ระยะทางมันสั้นแค่ 3 กิโลเมตร เป็นจุดที่เราดูแลได้เต็มที่ ไม่มีการสัญจรทางน้ำ ทำให้การควบคุมดูแลทำได้ง่ายขึ้น

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวอีกว่า คลองหัวลำโพงตั้งอยู่กลางใจเมือง ห่างจากศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่จะจัดประชุมเอเปคนิดเดียวเอง ห่างกันไม่กี่กิโล ถนนพระราม 4 ต่อไปก็เป็นแนวถนนที่จะมีการพัฒนาเป็น Smart City ซึ่งก็เป็นโจทย์ที่ท้าทาย เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นโครงการที่เราเริ่มตั้งแต่เข้ามา ตอนนี้เราก็เริ่มลุยเรื่องน้ำเสีย บ่อบำบัดน้ำเสีย ต่อไปก็จะทำขนานกันไปคือ เรื่องอากาศพิษ เรื่องPM2.5 ซึ่งได้มีคณะทำงานเริ่มทำงานเป็นหลายเดือนแล้ว ก็จะเริ่มดำเนินการต่างๆ เดี๋ยวจะมีการเข้าไปคุยกับทางวช.เรื่องการติดตั้งอุปกรณ์เตือนภัย ทำพวกเครื่องฟอกอากาศให้กับชุมชน ก็ดำเนินคู่ขนานกันไป เพราะว่าเรื่องมลพิษเรามีหลายมิติ ขยะเราทำแล้วเรื่องแยกขยะ เรื่องน้ำเสีย ต่อไปเรื่องอากาศพิษ เพราะว่าทุกอย่างก็ต้องลุยในแต่ละงานต่อไป

นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงแผนการฟื้นฟูคลองหัวลำโพง 3 เฟส เฟสแรก ระยะ 6 เดือน สร้างผังข้อมูลน้ำและโมเดลนำร่อง เฟสที่ 2 ระยะ 10 เดือน เริ่มโมเดลนำร่องในจุดที่น้ำมีคุณภาพแย่ ส่วนเฟสที่ 3 ปรับภูมิทัศน์บ้านเรือน และสำรวจความเข้มข้นของน้ำ

ดร.ไชโย จุ้ยศิริ ผู้อำนวยการส่วนแหล่งน้ำจืด กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวด้วยว่า คลองหัวลำโพงวัดค่า FCB หรือค่าความสกปรกที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียจากสิ่งปฏิกูลได้หลักแสน หลักล้าน จากค่าเฉลี่ย 4,000 ส่วนค่าบีโอดี BOD (Biological Oxygen Demand ) หรือการหาปริมาณออกซิเจนที่แบคทีเรียใช้ในการหายใจ วัดได้หลักร้อย ซึ่งทั้ง 2 ค่านี้สูงกว่าเกณฑ์ปกติการใช้ประโยชน์ของแหล่งน้ำประเภทที่ 3

“คลองหลักๆ ที่เริ่มทำแล้วเช่น คลองแสนแสบ คลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว ที่เราดูเรื่องการปล่อยน้ำเสีย การปล่อยสิ่งปฏิกูล ที่คลองแสบแสบก็ได้แจกถังดักไขมันตามชุมชนต่างๆ ส่วนเรื่องผู้บุกรุกริมคลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว ซึ่งจะต้องรีบดำเนินการต่อ เพราะจะเป็นตัวอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาหลายๆ อย่างในระยะยาว คือจะให้ชาวบ้านลงทุนเองก็คงเป็นเรื่องที่ยากแล้วเรามีโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียรวม สามารถแก้ปัญหาเส้นเลือดฝอยอย่างนี้ได้

ถ้ายังมีคนรุกล้ำซึ่งเรื่องนี้คงต้องทำระยะยาว ต้องช่วยเรื่องการทำติดตั้งบ่อบำบัดเสียที่มีคุณภาพในชุมชนให้เยอะขึ้น ถ้าเอาน้ำเสียรวมต่อท่อเอาน้ำเสียทั้งหมดดึงไปบำบัดที่รวมคงยาก เราคงต้องบาลานซ์ระหว่างเส้นเลือดใหญ่กับเส้นเลือดฝอยในชุมชนให้มากขึ้น ต้องเอาตรงนี้เป็นตัวอย่าง ถ้าเราสามารถหาวิธีดูแลกลุ่มนี้ได้ ก็ขยายผลในระยะยาวได้” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวตอนท้าย

สำหรับกิจกรรมในวันนี้มี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขตคลองเตย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกิจกรรมดังกล่าว

ร่วมพัฒนาคลองแสนแสบภายใต้แนวคิดสายน้ำพหุวัฒนธรรม

ในวันเดียวกันนี้ นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำคูคลองแห่งชาติ ประจำปี 2565 ณ มัสยิดกมาลุลอิสลาม เขตคลองสามวา

สำหรับการจัดกิจกรรมในวันอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำดูคลองแห่งชาติ ประจำปี 2565 นี้ เกิดขึ้นจากความตั้งใจของประชาชนในท้องถิ่น เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินประพาสคลองแสนแสบตลอดสายทั้ง 72 กิโลเมตร ตั้งแต่ท่าเรือสะพานผ่านฟ้าลีลาศ กรุงเทพมหานคร จนถึงท่าเรือประตูท่าไข่ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา และทรงเสด็จเยือนมัสยิดกมาลุลอิสลาม ทรงปลูกต้นตะแบกไว้เป็นอนุสรณ์ และทรงปล่อยปลา จำนวน 30,000 ตัว เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2537 มีผลให้ประชาชนในพื้นที่มีจิตอนุรักษ์ หวงแหน และมีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะคลองแสนแสบ

จากที่ช่วงเวลาหนึ่งในอดีต ที่น้ำในคลองเคยเน่าเสีย มีวัชพืช มีขยะ สัตว์น้ำลดน้อยลง และไม่สามารถใช้เป็นเส้นทางสัญจรได้ และตั้งแต่พระองค์ท่านเสด็จในวันนั้น สภาพคลองแสนแสบในท้องถิ่นนี้ ไม่เคยกลับไปวิกฤตอีกเลย ซึ่งท้องถิ่นแห่งนี้ ได้รับความร่วมมือจากองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ช่วยเหลือและสนับสนุนการจัดกิจกรรมเพื่อ ดูแล อนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาคลองแสนแสบมาโดยตลอด ได้แก่ มัสยิดกมาลุลอิสลาม สำนักงานเขตคลองสามวา สำนักงานเขตมีนบุรี สำหนักงานเขตหนองจอก มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม สำนักการระบายน้ำ กรมประมง กระทรวงอุตสาหกรรม สถาบันลูกโลกสีเขียว (ปตท.) ธนาคารออมสิน มัสยิดใกล้เคียง ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.)

โรงเรียนในพื้นที่ทั้งสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวะศึกษา (สอศ.) สถานีตำรวจนครบาลมีนบุรี ในปีนี้คณะกรรมการจัดงานได้กำหนดจัดงานภายใต้แนวคิดสายน้ำพหุวัฒนธรรม ได้รับเกียรติจากวัดสุทธิสะอาด วัดทรัพย์สโมสร วัดนักบุญเทเรซา หนองจอก เพื่อเป็นการรวมพลังจากประชาชนในทุกศาสนามาร่วมกิจกรรมที่สามารถปฏิบัติร่วมกันได้ โดยไม่ขัดต่อหลักการศาสนา เพื่อให้เกิดความมั่นคง ยั่งยืนของสังคม และเป็นตัวอย่างให้เยาวชนรุ่นต่อไป มีความเข้าใจการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลายหลายทางวัฒนธรรม

ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะฯ ได้ร่วมปล่อยพันธุ์ปลา โดยการสนับสนุนจากกรมประมงจำนวน 100,000 ตัว เทน้ำหมักชีวภาพ บริเวณท่าน้ำหน้ามัสยิดกมาลุลอิสลาม เปิดบ่อบำบัดน้ำเสีย โดยการสนับสนุนของกระทรวงอุตสาหกรรม และเยี่ยมชมการแสดงนิทรรศการ เยี่ยมชมร้านค้าชุมชนท้องถิ่น และกิจกรรมวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยมี อาจารย์บันฑิตย์ สะมะอุน ประธานจัดงาน อาจารย์วินัย สะมะอุน อิหม่ามมัสยิดกมาลุลอิสลาม พระครูธำรง วงศ์วิสุทธิ เจ้าอาวาสวัดสุทธิสะอาด นายวันชัย ผิวเกลี้ยง ผู้แทนบาทหลวงมาโนช สมสุข วัดนักบุญเทเรซา ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตคลองสามวา เขตมีนบุรี เขตหนองจอก สำนักการระบายน้ำ กรมประมง กระทรวงอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม สถานีตำรวจนครบาลมีนบุรี สถาบันลูกโลกสีเขียว มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน (ปตท.) ธนาคารออมสิน ภาค 2 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมงาน

ซึ่งภายในงานยังมีกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หัวข้อ วันอนุรักษ์คลองแสนแสบสายน้ำพหุวัฒนธรรม การแสดงพื้นบ้านการตีกระบี่กระบอง ประกวดวาดภาพ หัวข้อ วันอนุรักษ์คลองแสนแสบสายน้ำพหุวัฒนธรรม ระดับเด็กเล็ก ประถม และมัธยม การแสดงของนักเรียนจากศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนกมาลุลอิสลาม โรงเรียนพิทยพัฒน์ศึกษา โรงเรียนสุเหร่าทรายกองดิน เสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากสถาบันลูกโลกสีเขียว ภูมิทัศน์และการบริหารจัดการทรัพยากรฯ ตอน คลอง ข้าว คนวิถีชุมชนเครือข่ายชุมชนกามาลุลอิสลาม