โคราชหนัก เด็กต่ำกว่า 5 ขวบ ป่วย RSV แล้ว 621 ราย ลงปอด เสียชีวิตแล้ว 1 ราย

โคราชหนัก เด็กต่ำกว่า 5 ขวบ ป่วย RSV แล้ว 621 ราย ลงปอด เสียชีวิตแล้ว 1 ราย

 

ตามที่มีข่าวเด็กเล็กป่วยเสียชีวิตด้วยโรค RSV 1 ราย เมื่อเร็วๆ นี้ ที่จังหวัดนครราชสีมา ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองพากันตื่นตัว เฝ้าระวังดูแลบุตรหลานกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เนื่องจากมักจะพบการแพร่ระบาดของโรคในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว อากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ร่างกายปรับสภาพไม่ทัน จึงทำให้เกิดอาการป่วยและติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ จึงมีความเสี่ยงสูงที่อาการจะรุนแรงได้นั้น

วันที่ 19 กันยายน 2565 นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครราชสีมา เปิดเผยว่า โรค RSV ไม่ใช่โรคระบาด แต่เป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง เชื้อจะอยู่ในกลุ่มไวรัสไข้หวัด พบในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ป่วยได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ขอประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก แต่จะต้องตระหนักในความรุนแรงของโรค เพราะยังไม่มีมาตรการจำเพาะในการป้องกัน ควบคุม และรักษา ซึ่งเด็กเล็กต่ำกว่า 5 ปี, กลุ่ม 608 และผู้ที่มีโรคประจำตัว ต้องระมัดระวังไม่ให้ติดเชื้อ เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะอาการรุนแรง

ซึ่งปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 – 12 กันยายน 2565 จังหวัดนครราชสีมามีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ป่วยแล้ว 621 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 24.4 ต่อประชากร 1 แสนคน และตัวเลขมัธยฐานตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป พบผู้ป่วยกระจายอยู่ทุกอำเภอ โดย 3 อำเภอที่พบเด็กต่ำกว่า 5 ปีป่วยมากสุดเรียงลำดับอัตราป่วยต่อแสนประชากร ได้แก่ อำเภอบัวใหญ่ พบเด็กป่วย RSV 75 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 90 ต่อแสนประชากร รองลงมาคือ อำเภอคง 62 ราย หรืออัตราป่วย 76 ต่อแสนประชากร และอำเภอสีดา ป่วย 14 ราย หรืออัตราป่วย 57 ต่อแสนประชากร แต่ที่อำเภอครบุรี มีเด็กป่วย 9 ราย ซึ่งมี 1 รายที่เสียชีวิต เพราะมาพบแพทย์เมื่ออาการรุนแรงแล้ว

ส่วนช่วงอายุอื่นๆ สามารถติดเชื้อได้ แต่อาการไม่รุนแรง และเมื่อดูข้อมูลผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 5 ปี ย้อนหลังไป 5 ปี (ปี 2560-2565) พบว่า ปี 2561 พบผู้ป่วยมากสุด รองลงมาคือปี 2560 และ ปี 2562 ส่วนปี 2565 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 ถึงปัจจุบัน พบผู้ป่วยเด็กติดเชื้อสูงถึง 621 ราย ซึ่งมากกว่าปี 2564 ตลอดทั้งปี ที่มีป่วยเพียง 410 รายเท่านั้น อีกทั้งปีนี้มีผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว 1 ราย ทำให้อัตราป่วยตายเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยในปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 0.16

ดังนั้น มาตรการที่ดีที่สุด ก็คือการป้องกัน จะใช้มาตรการป้องกัน กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือเป็นประจำ ใส่แมสก์ เว้นระยะห่าง เหมือนโควิด-19 ก็ได้ และในกลุ่มเด็กเล็กมีภูมิต้านทานต่ำ จะเสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย จึงต้องป้องกันดูแลอย่างเข้มงวด และต้องติดตามผลเป็นระยะๆ ถ้ามีไข้ ไอ หอบ อาการไม่ดี ให้รีบพาไปพบแพทย์ เพราะเด็กเล็กจะดูแลตนเองไม่เป็น เมื่อติดเชื้อแล้ว เชื้อจะเข้าไปทางระบบทางเดินหายใจส่วนบน ทั้งในช่องปาก ช่องคอ และส่วนล่าง ไปทางกล่องเสียง หลอดลม ซึ่งถ้าอาการหนักเชื้อจะลงปอด ทำให้ปอดบวม ปอดอักเสบ อาจเสียชีวิตได้

ด้านนายเสรี เจริญกลาง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสระแก้ว สังกัดเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 1 กล่าวว่า โรงเรียนวัดสระแก้วเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ มีนักเรียน 2,114 คน บุคลากรอีกเกือบ 200 คน เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลปีที่ 2 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งห้วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้ดำเนินมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเข้มข้น และปัจจุบันพบอุบัติการณ์ของเชื้อ RSV ด้วย โรงเรียนจึงบูรณาการมาตรการคล้ายกับมาตรการป้องกันโควิด-19 โดยใช้ 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม และ 7 มาตรการเข้ม คำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนและบุคลากรเป็นหลัก ก่อนจะมาโรงเรียน ผู้ปกครองต้องคัดกรองบุตรหลานว่า ป่วยไม่สบาย, เสี่ยงเป็นโควิด-19 หรือเสี่ยงป่วย RSV หรือไม่

หากป่วยให้งดไปโรงเรียน รีบพาไปพบแพทย์รักษาจนหายดีจึงค่อยมาเรียน ส่วนเด็กที่มาเรียน ต้องสวมหน้ากากอนามัย พกเจลแอลกอฮอล์ไว้ฆ่าเชื้อประจำตัว และต้องมีขวดน้ำ-ช้อนประจำตัว นอกจากนี้ ทางโรงเรียนได้สื่อสารทำความเข้าใจผู้ปกครองให้รับทราบมาตรการป้องกันควบคุมโรคร่วมกัน เพื่อดูแลบุตรหลานให้ปลอดภัยปลอดโรค และคณะครูต้องติดตามสถานการณ์ เพื่อวางแผนรวมพลังป้องกัน ไม่ประมาท การ์ดไม่ตก” นายเสรีกล่าว