“ชัชชาติ” สัญจรมีนบุรี ดึงปชช.ร่วมแก้น้ำท่วม พร้อมหารือผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ แก้ฝุ่น PM2.5

ผู้ว่าฯชัชชาติ สัญจร เขตมีนบุรี ดึงประชาชนมีส่วนร่วมแก้ปัญหาน้ำท่วม ตั้งเป้าในปีนี้กทม.เผาเป็นศูนย์ พร้อมหารือผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5

 

วันที่ 18 กันยายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมรับทราบปัญหาในเขตมีนบุรี ตามนโยบาย “ผู้ว่าฯ สัญจร 50 เขต” โดยในช่วงเช้า ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกันปลูกต้นข้าวหลามดง จำนวน 9 ต้น ณ บริเวณสวนเฉลิมเกียรติ ร.9 และเยี่ยมชม “ห้องให้นม-ปั๊มนมแม่” ก่อนจะประชุมพูดคุยการบริหารจัดการและปัญหาในการปฏิบัติงาน ณ ห้องประชุมชั้น 1 ศาลาประชาคม เมืองมีนถิ่นทอง สำนักงานเขตมีนบุรี

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เขตมีนบุรีเป็นเขตสำคัญที่มีเมืองเจริญเติบโตขึ้น ปัญหาหลัก ๆ เป็นเรื่องของเมืองที่มีความเจริญ มีหมู่บ้านต่าง ๆ เข้ามา ปัญหาหลักคือเรื่องน้ำท่วม ซึ่งมีชุมชนได้รับผลกระทบเยอะ ปัจจุบันได้เบาลงแล้ว ได้ให้นโยบายว่า ช่วงนี้ต้องเข้าไปดูแลจุดเปราะบาง และเสริมกำลังให้เท่าที่ทำได้ จากที่ได้คุยกับอาจารย์เสรีเมื่อวาน ฝนอาจจะไม่ได้หยุดแค่นี้ อาจจะมีมาอีก 1-2 เดือน ต.ค.- พ.ย. ต้องอาศัยจังหวะนี้เสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ต้องให้ชุมชนมีส่วนช่วยดูแลตัวเองด้วย และวิเคราะห์ว่าชุมชนแต่ละชุมชนมีปัญหาและจุดอ่อนตรงไหน ก็ช่วยไปเสริมและเตรียมอุปกรณ์ให้เขา เช่น กระสอบทราย เพื่อรองรับกรณีหากฝนมาอีก อย่างน้อยเขาก็ดูแลตัวเองได้ในระดับนึง

ปัญหาอย่างหนึ่งของเขตมีนบุรี คือ พื้นที่กระจายมาก อาจจะต้องเตรียมทางเดินที่เป็นไม้ต่อเตรียมไว้เลย หากมีเหตุฉุกเฉินก็ยังเข้าออกจากชุมชนได้ อย่าแก้ปัญหาครั้งต่อครั้ง พยายามแก้ปัญหาระยะยาว และเอาชุมชนเข้ามาเป็นส่วนร่วมของการแก้ปัญหา ตอนนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น ทางน้ำในคลองแสนแสบก็ระบายลงด้านล่างได้เยอะ คลองมีนบุรีมี 62 คลอง ซึ่ง 11 คลองอยู่ในความดูแลของสำนักการระบายน้ำ ส่วน 51 คลองอยู่ในความดูแลของเขต มีคลองเล็กคลองน้อยจำนวนมากที่ต้องดูแล เพราะมีกระทบต่อเรื่องการระบายน้ำ

เรื่องต่อมาคือเรื่องถนนหนทาง เขตมีนบุรีมีถนนที่เป็นหินคลุกหลายสาย ถนนที่อยู่ในท้องไร่ท้องนา 31 เส้น เป็นถนนที่ยังไม่ได้เป็นคอนกรีต ในช่วงเวลาฝนตกถนนจะเป็นหลุมเป็นบ่อมาก ปัญหาของคนที่แจ้งมาใน traffy foudue จะแจ้งเรื่องถนนเยอะมาก และการแก้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องเปลี่ยนจากถนนที่เป็นหินคลุกเป็นถนนคอนกรีตไม่ได้ในข้ามคืน จึงต้องใช้วิธีการซ่อมชั่วคราว พอฝนตกลงมาถนนก็จะกลับเป็นเหมือนเดิม ซึ่งได้ให้นโยบายไปว่า อาจจะต้องหารือกับสำนักการโยธาหาทางแก้ โดยอาจจะต้องใช้เครื่องมือหนักมาลง เช่น ตัวบดอัด และในระยะยาวจะวางแผนยุทธศาสตร์ว่า จะรวมกลุ่มเขตและมีเครื่องมือหนักรวมกัน เช่น รถบด หรือรถแบคโฮ ที่สามารถซ่อมของตนเองได้ เพิ่มประสิทธิภาพของเขตให้เข้มแข็งขึ้น

ส่วนเรื่องสายสื่อสารที่รกรุงรังอยู่ ได้เริ่มดำเนินการ และอยู่ในแผนของ กสทช. ซึ่งจะเร่งดำเนินการเอาลงใต้ดินให้มากขึ้น และจะจัดระเบียบสายที่มีอยู่ให้ดีขึ้น

ด้านปัญหาการจราจรติดขัด ซึ่งมีจุดติดขัดจำนวน 17 จุด ได้ให้เขตสำรวจพื้นที่ที่จราจรติดขัดหรือจุดฝืด โดยให้เริ่มดำเนินการร่วมมือกับตำรวจจราจร ตอนนี้ได้นำร่องจุดแรกที่ติดหนักที่สุด คือ ถนนสีหบุรานุกิจ ซึ่งอยู่หน้าเขตมีนบุรี เนื่องจากมีหน่วยราชการ มีโรงเรียนหลายแห่ง ซึ่งทางสำนักการจราจรและขนส่งจะมาช่วยดูแลการปรับปรุงการจราจร ตอนนี้จะทำทุกเขตในการแก้จุดฝืด ปัญหาการจราจร โดยเริ่มแก้ไขด้วยตัวเองก่อน และนำตำรวจมาช่วย น่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้

ในส่วนของปัญหาการเก็บขยะ เนื่องจากพื้นที่กว้างขึ้น เมืองขยายขึ้น ทำให้การเก็บขยะไม่ทันต่อความต้องการ ซึ่งเป็นปัญหาของหลาย ๆ หน่วยงานในหลายเขตของ กทม. โดยเฉพาะเขตด้านนอกที่มีพื้นที่มาก ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพ เก็บให้ทั่วถึงมากขึ้น รวมทั้งกำลังคนและอุปกรณ์ต่าง ๆ

ด้านไฟฟ้าแสงสว่าง มีประมาณ 7,000 ดวง ชำรุดดับ 500 ดวง ขณะนี้กำลังดำเนินการเร่งซ่อมแซมอยู่ ซึ่งมีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ traffy foudue ก็ช่วยเยอะ มีคนแจ้งปัญหามาประมาณ 2,200 เรื่อง แก้เสร็จแล้ว 1,000 กว่าเรื่อง มีเรื่องค้างอยู่ 600 กว่าเรื่อง แต่เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เช่น น้ำท่วม ถนนหนทางต่าง ๆ

ตอนนี้ได้เริ่มทำนโยบายเรื่องฝุ่น PM2.5 แล้ว มีการประชุมเตรียมรับมือ โดยเขตมีนบุรีอยู่ในเขตชั้นนอกซึ่งมีการทำเกษตรกรรม ปีนี้ตั้งเป้าว่า จะทำให้ กทม. มีการเผาเป็นศูนย์ คือ ไม่ให้มีการเผาชีวมวลเลย และเดินหน้าคุยกับเขตข้างเคียงด้วย และอยากจะนัดผู้ว่าฯ ปทุมธานี นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร และผู้ว่าฯ จังหวัดข้างเคียง เพราะปัญหา PM2.5 ต้องร่วมมือกัน

“ผมว่าท่านผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ น่าจะมีประสบการณ์ที่ดีมาก เพราะท่านทำได้ดีมาก ๆ ตอนที่ตำรงตำแหน่ง ผู้ว่าฯ เชียงราย ท่านทำเรื่องลดการเผาได้ดีมาก ตอนนี้ท่านออกจากโรงพยาบาลแล้ว เดี๋ยวคงไปหารือกับท่าน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

นอกจากนี้ ผอ.เขตก็ต้องร่วมมือกับเกษตรกร และอาจจะต้องมีหน่วยเกษตรกรรมเข้าไปให้ความรู้กับประชาชน หรือไปจัดการกับชีวมวลอย่างไร ซึ่งถ้าทุกเขตทำได้ เผาชีวมวลเป็นศูนย์ จังหวัดข้างเคียงร่วมมือกันทั้งหมดก็สามารถช่วยลดปัญหาได้ นอกจากนี้ ต้องดูแลเรื่องรถควันดำ รถอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งได้เริ่มมีคณะทำงานเดินหน้าในเรื่องนี้แล้ว

จากนั้น นายไพโรจน์ จันทรอด ผู้อำนวยการเขตมีนบุรี ได้กล่าวสรุปน้ำท่วมเขตมีนบุรีว่า ส่วนใหญ่เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง บริเวณหมู่บ้านที่อยู่ริมแนวคลองที่มีพื้นที่ต่ำ ซึ่งมีประมาณ 37 ซอย กระจายอยู่ตามถนนต่าง ๆ ถนนหลักจะไม่ท่วม แต่จะท่วมตามแนวขอบริมคลองเป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันได้คลี่คลายลงแล้วเหลือประมาณ 12-13 ซอยที่มีปัญหาน้ำท่วมขังอยู่ แต่ระดับน้ำไม่สูงแล้ว ประชาชนใช้ชีวิตได้เกือบปกติ

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า ในส่วนของการช่วยเหลือดูแลเต็มที่ โดยให้ ผอ.เขตเก็บข้อมูลความเสียหายอยู่ว่า จำเป็นต้องประกาศเขตภัยพิบัติเพิ่มหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะประกาศหรือไม่ประกาศ กทม. ก็ช่วยเหลือ แต่ถ้าไม่ประกาศ เรานำเงิน กทม. ช่วย ถ้าประกาศ เรานำเงินของ ปภ. มาช่วย ซึ่งไม่ได้มีความแตกต่างกัน แต่ทำให้เรามีทรัพยากรเยอะขึ้น และเงิน ปภ. มีจำกัด คงต้องดูความเสียหายจริง ผอ.เขตช่วยดูความเสียหาย ว่ามีมากน้อยเท่าไหร่ มีเกษตรกรเท่าไหร่ เดี๋ยวต้องหารือกับรองผู้ว่าฯ ทวิดา
ทั้งหมดนี้ คือ การที่เราลงมาพยายามหาทางช่วยกัน

ในช่วงบ่าย ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร และคณะ พร้อมด้วย นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมท่าเรือไฟฟ้าสำนักงานเขตมีนบุรี จากนั้นเดินทางไปยังชุมชนมีนบุรีอุปถัมภ์ ซอยรามคำแหง 207 ซึ่งชุมชนโบราณย่านคลองแสนแสบ และเป็นชุมชนต้นแบบการบำบัดน้ำเสีย แบบมุ่งเป้าจากต้นทางในครัวเรือน โอกาสนี้
ได้พบปะประชาชน บริเวณลานอเนกประสงค์ชุมชนมีนบุรีอุปถัมภ์ และเยี่ยมประชาชนในชุมชน

จากนั้น ตรวจพื้นที่ก่อสร้างแนวถนนสีหบุรานุกิจ การแก้ไขปัญหาคลองเจ็ก โดยเดินออกจากชุมชนข้ามมายังบริเวณท่าเรือไฟฟ้าตลาดมีนบุรี ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อ ล้อรางเรือ รถไฟฟ้า และระบบขนส่งสาธารณะย่าน กทม.ฝั่งตะวันออก พร้อมตรวจความเรียบร้อยพื้นที่การก่อสร้างฯ บริเวณถนนสีหบุรานุกิจ บริเวณริมคลองเจ็ก และการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจากโครงการก่อสร้างฯ

ก่อนที่จะลงพื้นที่ชุมชนรามอินทราเนรมิต ซอยรามอินทรา 86 ซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบการบำบัดน้ำเสีย แบบมุ่งเป้าจากต้นทางในครัวเรือน ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ สวนบึงกระเทียม ตรวจเยี่ยมศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ชุมชนรามอินทราเนรมิต และพบปะประชาชน พร้อมสำรวจสวนสาธารณะบึงกระเทียม ซึ่งมีปัญหาน้ำเน่าเสียในพื้นที่โดยรอบ โดยสำนักการระบายน้ำ ได้จัดทำโครงการปรับปรุงบึงกระเทียม และพื้นที่ต่อเนื่อง ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบหมุนเวียนน้ำ แก้ไขและป้องกันปัญหาน้ำท่วมด้วยระบบแก้มลิง และระบบ Pipe Jacking และเป็นแก้มลิงปริมาตรความจุ 120,000 ลบ.ม.