BEM พร้อมเดินหน้าก่อสร้าง! ไม่กังวลประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม การันตีผลงาน เน้นประโยชน์ประชาชน

นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม เปิดเผยถึงการเข้าร่วมประกวดราคาในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า จากที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้แจ้งให้บริษัทฯ ทราบถึงผลการประเมินคุณสมบัติและเทคนิคว่า บริษัทฯ ผ่านเกณฑ์และเสนอผลประโยชน์ให้แก่รัฐสุทธิ (เอ็มพีวี) ลบ78,287.95 ล้านบาท โดยมาจากการการหักลบระหว่างส่วนที่เอกชนจะตอบแทนให้รัฐ กับเงินที่เอกชนขอให้รัฐช่วย ซึ่งถือเป็นข้อเสนอที่ดีที่สุดนั้น ทางบริษัทฯ ยืนยันว่าข้อเสนอทั้งหมดเป็นไปตามเงื่อนไขและกติกาที่รัฐกำหนดขึ้น

นายสมบัติ กล่าวว่า นอกจากนี้ ข้อเสนอของบริษัทฯ ยังดำเนินการตามข้อกำหนดทางวิศวกรรม (specification) งานโยธาและระบบรถไฟฟ้า วิธีการและเทคนิคการก่อร้างโดยเฉพาะการก่อสร้างงานอุโมงค์และสถานีใต้ดิน ซึ่งเป็นงานก่อสร้างใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ต้องดูแลความปลอดภัยสูงสุด ระบบรถไฟฟ้าที่จัดซื้อมีประสิทธิภาพสูง อายุการใช้งานนาน มาให้บริการแก่ประชาชน และมีข้อเสนอทางการเงินที่เป็นประโยชน์แก่รัฐทั้งในส่วนของเงินสนับสนุนค่างานโยธาที่ต่ำกว่าราคากลาง ทั้งที่หากพิจารณาข้อเท็จจริงพบว่าราคาค่าก่อสร้างในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยบริษัทฯ ก็สามารถแบ่งผลประโยชน์เพิ่มเติมให้แก่ รฟม.ได้

นายสมบัติ กล่าวว่า หลังจากการประมูลฯ เสร็จสิ้นคาดว่าภาครัฐจะเรียกบริษัทฯ เข้าไปเจรจาต่อรองผลตอบแทนในการประมูลของโครงการดังกล่าว ซึ่งบริษัทฯ ไม่ได้มีการยื่นข้อเนอเพิ่มเติมเนื่องจากบริษัทฯ เล็งเห็นว่าในการยื่นข้อเสนอที่ผ่านมาถือว่าเป็นข้อเสนอที่ดีที่สุดแล้ว ส่วนภาครัฐจะให้ข้อเสนอเพิ่มเติมหรือไม่ขึ้นอยู่กับภาครัฐเป็นผู้พิจารณา ทั้งนี้ หากบริษัทฯ ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้รับสัมปทานฯ บริษัทฯ มีความพร้อมที่จะเริ่มงานได้ทันที โดยมั่นใจว่าจะเปิดให้บริการส่วนตะวันออกได้ภายใน 3 ปีครึ่ง หรือภายในปี 2568 และส่วนตะวันตกได้ภายใน 6 ปี หรือภายในปี 2571 ตามแผนงานของ รฟม.ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดเด่นของบริษัทฯ ที่ทำงานทุกโครงการประสบความสำเร็จ เปิดบริการได้ตามสัญญา เป็นไปตามแผน หรือก่อนแผนเสมอ

นายสมบัติ กล่าวอีกว่า บริษัทฯ ประเมินวงเงินการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม คาดว่าจะใช้เงินทุนประมาณ 1.2 แสนล้านบาท โดยจะจัดหาเงินทุนจากเงินกู้สถาบัน หรือออกหุ้นกู้ ไม่มีความจำเป็นต้องจัดตั้งบริษัทใหม่เพื่อเพิ่มทุน ทั้งนี้คาดการณ์ว่า รฟม.จะมีการเรียกเจรจากับบริษัทฯ เพื่อพิจารณาข้อเสนอที่ดีที่สุดในการดำเนินโครงการนี้ในเร็วๆ นี้ ซึ่งบริษัทฯ พร้อมให้ความร่วมมือในการเจรจา หลังจากนั้น บริษัทฯ จะเริ่มงานก่อสร้างทันทีเพื่อเร่งรัดให้แล้วเสร็จตามแผน อีกทั้งจะเร่งติดตั้งระบบรถไฟฟ้า และจัดหาขบวนรถ เพื่อเริ่มให้บริการส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ภายในปี 2568

นายสมบัติ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีเอกชนบางรายซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการคัดเลือก เปิดเผยว่ามีข้อเสนอที่เป็นประโยชน์แก่ รฟม. มากกว่าที่บริษัทฯ เสนอ ก็เป็นสิทธิของเอกชนรายนั้นจะทำ แต่เนื่องจากการให้ข้อมูลมีการพาดพิงถึงข้อเสนอของบริษัท ซึ่งอาจทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดว่าข้อเสนอของบริษัทฯ ทำให้รัฐเสียประโยชน์ บริษัทฯ จำเป็นต้องชี้แจงว่า บริษัทฯ ได้จัดทำข้อเสนอที่เป็นประโยชน์แก่รัฐ เข้าร่วมการคัดเลือกภายในเงื่อนไข และกติกาที่รัฐกำหนด ได้รับการประเมินด้านเทคนิคผ่านตามเกณฑ์ที่รัฐกำหนดแล้ว ก่อนที่จะมาพิจารณาด้านการเงิน การนำข้อเสนอด้านการเงินอื่นซึ่งไม่ทราบว่าอยู่บนเงื่อนไข สมมติฐานใด ผ่านเกณฑ์การประเมินของ รฟม.หรือไม่ มาเปรียบเทียบกับข้อเสนอด้านการเงินของบริษัทฯ คงไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้

“เราไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุนเพื่อดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เนื่องจากบริษัทฯ มีศักยภาพทางการเงินที่เพียงพอ ส่วนเงื่อนไขการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องการจ้างเหมาช่วง (ซับคอนแทรค) ในส่วนของงานโยธา โดยในข้อเสนอของบริษัทฯ ได้ระบุในการจ้างงานโยธา คือ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ดังนั้น หากบริษัทฯ จะจ้างผู้รับเหมารายอื่นในการก่อสร้างงานโยธา ก็สามารถดำเนินการได้ โดยจะต้องแจ้งรายละเอียดการจ้างไปยัง รฟม.เพื่อขออนุญาตจ้างงาน เบื้องต้นก็เชื่อว่าทุกโครงการลงทุนขนาดใหญ่ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้เพียงรายเดียว แต่ก็ต้องเลือกผู้รับเหมาที่มีความสามารถ มีประสบการณ์” นายสมบัติ กล่าว

นายสมบัติ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยืนยันว่ามีความพร้อมที่จะดำเนินโครงการดังกล่าวตามข้อเสนอที่ระบุไว้ จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา ไม่เคยมีประวัติทิ้งงานหรือส่งมอบงานล่าช้า อีกทั้งไม่เคยให้บริการรถไฟฟ้าที่ส่งผลกระทบต่อการบริการประชาชน และเราไม่มีความกังวลอะไรเกี่ยวกับโครงการที่เกิดขึ้นในขณะนี้ รวมทั้งเราจะไม่มีการฟ้องร้องกับภาครัฐ เพราะเรื่องการฟ้องร้องไม่ได้อยู่ในวิสัยและดีเอ็นเอของบริษัทฯ อยู่แล้ว

นายสมบัติ ให้ข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมา ทั้งรัฐ เอกชน พูดกันตลอดว่า โครงการรถไฟฟ้าเป็นอินฟราสตรัคเจอร์ขนาดใหญ่ที่ต้องลงทุนสูง หากรัฐไม่สนับสนุน (Subsidy) ค่างานโยธา เอกชนลงทุนเองทั้งหมดคงไปไม่รอด เห็นได้จาก เริ่มตั้งแต่สายสีเขียว เอกชนที่รับสัมปทานต้องลงทุนทั้งงานโยธาและเดินรถทั้งหมด สุดท้ายก็ไม่ไหว ต้องปรับโครงสร้างหนี้แฮร์คัท ส่วนสายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีชมพู สีเหลือง รัฐต้องสนับสนุนค่างานโยธาทุกโครงการ หากมีเอกชนบอกว่า สามารถรับดำเนินการสายสีส้ม ซึ่งต้องลงทุนสูงมาก เพราะเป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน ผลตอบแทนการลงทุนก็ต่ำกว่าสายสีเขียว สีน้ำเงิน ใกล้ๆ กับสีชมพู สีเหลือง โดยแทบไม่ต้องขอรัฐสนับสนุนเลย คงเป็นเรื่องแปลกว่าทำได้อย่างไร

“บริษัทฯ ของเรายังคงมั่นใจว่าข้อเสนอรถไฟฟ้าสายสีส้มของบริษัทฯ เป็นประโยชน์ต่อรัฐ การก่อสร้างและการเปิดบริการจะต้องประสบความสำเร็จตามแผน ไม่มีการล่าช้า และต้องมีคุณภาพการบริการแก่ประชาชนที่ดี ตอบแทนคืบกลับสู่สังคมเต็มที่” กรรมการผู้จัดการ BEM กล่าว