‘ศักดิ์สยาม’ เปิดฉากขนส่งเอเปค ดันไทยฮับอาเซียน เดินหน้าแลนด์บริดจ์ 1.1 ล้านล้าน

‘ศักดิ์สยาม’​ เปิดฉากประชุมขนส่งเอเปค ดันไทยฮับโลจิสติกส์อาเซียน พร้อมเดินหน้า แลนด์บริดจ์ 1.1 ล้านล้าน เล็งชง ครม.เห็นชอบหลักการภายในปี’65 ก่อนลุยโรดโชว์ ปี’​66

 

วันที่ 14 กันยายน 2565 ที่ โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพฯ​ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งของเอเปค (APEC Transportation Working Group: TPTWG) ว่า การประชุมดังกล่าว จัดขึ้นภายใต้เป้าหมายหลัก คือ การขนส่งที่ไร้รอยต่อ อัจฉริยะ และยั่งยืน เพื่ออำนวยความสะดวกการค้า การลงทุน และฟื้นฟูความเชื่อมโยงด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวในเขตเศรษฐกิจเอเปคและระดับโลก

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ทั้งนี้ กระทรวงได้จัดทำข้อมูลการพัฒนาคมนาคม ขนส่ง และโลจิสติกส์ของประเทศไทย ครอบคลุมทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (ปี 2561-2580) นำเสนอให้กับประเทศสมาชิก จำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ ได้รับทราบแผนการดำเนินการของประเทศ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ จะมีการหารือในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ทั้งเรื่องนโยบายสีเขียว และการลดคาร์บอน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยเน้นการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy)​ เพราะหากไม่เริ่มดำเนินการ จะโดนกีดกันทางด้านการค้า

สำหรับแผนยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี นั้น กระทรวงคมนาคมได้นำเสนอว่า ในขณะนี้ ได้ดำเนินการระยะที่ 1 กล่าวคือ การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อาทิ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 การพัฒนาเมืองการบินอู่ตะเภา รวมถึงแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (เอ็มอาร์ แมป) ทั้งนี้ เพื่อเชื่อมโยงในเขตเศรษฐกิจเอเปคด้วยตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ และศักยภาพที่จะเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญระหว่างเขตเศรษฐกิจในการเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งของภูมิภาค

นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์) ซึ่งจะเป็นเส้นทางเดินเรือใหม่ และเป็นประตูเศรษฐกิจของโลก โดยไทยจะใช้ต้นแบบท่าเรือ Tuas ของประเทศสิงคโปร์ ที่ตั้งเป้าหมายในการเป็นท่าเทียบเรือตู้สินค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก สามารถรองรับตู้สินค้าได้ 65 ล้านทีอียู ในระยะ 20 ปี หรือปี 2585 ซึ่งในส่วนของประเทศไทย ถือว่ามีข้อได้เปรียบในการเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาค เชื่อมต่อการขนส่งทางน้ำ ตามนโยบายสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และราคาสมเหตุสมผล

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้า โครงการแลนด์บริดจ์ นั้น ขณะนี้ อยู่ระหว่างการศึกษา และลงรายละเอียดตามต้นแบบของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งคาดว่า จะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ จากนั้นจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบในหลักการภายในปี 2565 ก่อนที่ในปี 2566 จะไปโรดโชว์ ของโครงการทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุน

ส่วนการดำเนินการโครงการนั้น คาดว่าในปี 2566 จะเห็นความชัดเจนและเป็นรูปธรรม ส่วนการเริ่มดำเนินการก่อสร้างนั้น จะต้องรอรัฐบาลชุดใหม่ต่อไป โดยตามแผนธุรกิจนั้น จะแล้วเสร็จในปี 2573 อย่างไรก็ตาม ได้ตั้งเป้าหมายให้ดำเนินการแล้วเสร็จเร็วกว่าที่กำหนด เนื่องจากท่าเรือ Tuas ใช้ระยะเวลาก่อสร้างเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น

ขณะที่ รูปแบบการลงทุน นั้น ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปพิจารณาศึกษาและความเป็นไปได้ในการดำเนินการ โดยแนวทางเบื้องต้น จะเป็นความร่วมมือกับพันธมิตร (พาร์ทเนอร์) ในต่างประเทศ ที่มีสายการเดินเรือแห่งชาติ เพื่อให้คุ้มค่าการลงทุน และมีอัตราผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการ (อีไออาร์อาร์) ที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ของส่วนรวมและประเทศชาติ รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันต่อไป

ทั้งนี้ รูปแบบการลงทุน ก็จะประยุกต์ใช้แนวทางของท่าเรือ Tuas มีการลงทุนมูลค่า 2.7 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยภาครัฐลงทุน 40% และบริษัทที่มีการประกอบธุรกิจโดยมีรายได้จากการถือหุ้นในบริษัทอื่นเป็นหลัก และไม่มีการประกอบธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญเป็นของตัวเอง ซึ่งอาจเป็นการลงทุนบริษัทในประเทศหรือบริษัทต่างประเทศ ลงทุน 60% สามารถคืนทุนได้ภายใน 7 ปี เนื่องจากมีการใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยดำเนินการ พร้อมทั้งการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ด้วย

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์นั้น จะเป็นรูปแบบการบริหาร 2 ท่าเรือให้เป็นท่าเรือหนึ่งเดียวกัน (One Port Two Sides) โดยจะดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกัน ถือเป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งและเศรษฐกิจใหม่ทางทะเล เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าของภูมิภาค เชื่อมการขนส่งกับเส้นทางมอเตอร์เวย์ และทางรถไฟ คู่ขนานแนวเส้นทางร่วมกันตามแผนบูรณาการมอเตอร์เวย์เชื่อมต่อแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ (เอ็มอาร์ แมป) สร้างความเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจในเอเปคอย่างไร้รอยต่อ

รายงานข่าวจาก สนข. ระบุว่า สำหรับมูลค่ารวมของโครงการแลนด์บริดจ์ วงเงิน 1,194,307 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการลงทุนท่าเรือ วงเงิน 938,607 ล้านบาท และโครงการลงทุนเส้นทางเชื่อมโยง วงเงิน 255,544 ล้านบาท

การประชุมด้านการขนส่งของเอเปค

สำหรับ การประชุมด้านการขนส่งของเอเปคครั้งนี้ ถือเป็นเป็นเวทีสำคัญในการหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 สาขา คือ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งทางอากาศ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบและระบบขนส่งอัจฉริยะ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งทางบก และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งทางน้ำ เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งในมิติบก น้ำ ราง และอากาศ เสริมสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานและโอกาสในการเติบโตและฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในยุคหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเน้นการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามแนวคิด BCG Economy และการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อการขนส่งที่ยั่งยืนในภูมิภาค ซึ่งที่ประชุมได้มีการหารือและรับรองแผนยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งของเอเปค ปี 2565 – 2568 (TPTWG Strategic Action Plan 2022 – 2025) ซึ่งจะเป็นกรอบการทำงานและแนวทางในการพัฒนาแผนงานประจำปีและกิจกรรมของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญใน 4 สาขา รวมถึงโครงการต่าง ๆ ในกรอบเอเปคด้านการขนส่ง เพื่อบรรลุตามวิสัยทัศน์ปุตราจายาภายใต้กรอบเอเปค ปี ค.ศ. 2040 ที่มุ่งสร้างเขตเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกที่เปิดกว้าง มีพลวัต ยืดหยุ่น และสันติสุข เพื่อความรุ่งเรืองของประชาชนและคนรุ่นหลัง

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้จัดแสดงนิทรรศการเพื่อนำเสนอโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคมที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างความเชื่อมโยงในเขตเศรษฐกิจเอเปคด้วยตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่เชื่อมต่อการเดินทางทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศได้อย่างสะดวก ไทยจึงมีความพร้อมและศักยภาพที่จะเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญระหว่างเขตเศรษฐกิจในการเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งของภูมิภาค ผ่านการเชื่อมโยงโครงข่ายทางหลวงสายเอเชียที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่เพื่อนบ้านบนพื้นทวีปเอเชียได้อย่างสะดวกผ่านการเชื่อมต่อโครงข่ายทางรถไฟในภูมิภาคผ่านเส้นทางรถไฟ ไทย – ลาว – จีน และสามารถเชื่อมต่อไปถึงรัสเซียและยุโรป การเชื่อมต่อทางอากาศผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของท่าอากาศยานนานาชาติของไทยเพื่อรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินจากทั่วโลก ส่งเสริมให้การเดินทางทางอากาศระหว่างไทยกับสมาชิกเอเปค มีประสิทธิภาพและความหลากหลายมากยิ่งขึ้น รวมถึงการเชื่อมต่อทางน้ำ ซึ่งไทยมีท่าเรือแหลมฉบัง ที่เป็นท่าเรืออันเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการขนส่งสินค้าระดับภูมิภาค และยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการในการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น

ในการนี้ กระทรวงคมนาคม ได้จัดงานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อรับรองผู้เข้าร่วมการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 สาขา ซึ่งภายในงานมีการสร้างบรรยากาศการบรรเลงเพลงด้วยเครื่องดนตรีไทย การโชว์งานจักสานที่แสดงศิลปะวัฒนธรรมไทยสอดคล้องกับตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ปี 2565 รวมถึงการแสดงโขนรามเกียรติ์เพื่อสื่อสารถึงความร่วมมือระหว่างกันของเขตเศรษฐกิจเอเปคที่มีความแข็งแกร่งและแน่นแฟ้น

ในโอกาสพิเศษนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้กล่าวเปิดตัวและนำเสนอวีดิทัศน์โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย – อันดามัน (Southern Landbridge) ซึ่งจะเป็นเส้นทางเดินเรือใหม่ของโลก เป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งและเศรษฐกิจใหม่ทางทะเลที่เป็น Transshipment การขนส่งสินค้าของภูมิภาค โดยสามารถเชื่อมการขนส่งกับเส้นทางมอเตอร์เวย์ และทางรถไฟ คู่ขนานแนวเส้นทางร่วมกันตามแผนบูรณาการมอเตอร์เวย์เชื่อมต่อแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ (MR-MAP) สร้างความเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจใน APEC อย่างไร้รอยต่อเพื่อการเปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล (OPEN. CONNECT. BALANCE.)