สธ.ยันแนวทางรักษาโควิด ด้วยคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพิจารณาตามข้อมูลวิชาการ

สธ.ยันแนวทางรักษาโควิด มีคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพิจารณาตามข้อมูลวิชาการ

 

วันที่ 13 กันยายน 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิระดับ 11) และโฆษก สธ.เปิดเผยกรณีมีนักวิชาการทางการแพทย์หลายคนแสดงความเป็นห่วงเรื่องประสิทธิภาพของยาฟาวิพิราเวียร์ ว่า มาตรการต่างๆ เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ของประเทศไทย ทั้งการป้องกันควบคุมโรค การรักษาพยาบาล สธ.ดำเนินการในรูปของคณะกรรมการที่ประกอบด้วย นักวิชาการ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการแพทย์ชั้นนำ ร่วมพิจารณาจากข้อมูลการศึกษาทางวิชาการที่มีทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยยาฟาวิพิราเวียร์เป็นยาตัวแรกที่มีการใช้ตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาด ซึ่งในขณะนั้นเป็นสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดอาการรุนแรง มีการติดเชื้อที่ปอด

“โดยผลการศึกษาของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค และกองการแพทย์จีโนมิกส์ และสนับสนุนนวัตกรรม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยหรือปานกลาง ไม่มีภาวะปอดบวม และได้รับยาตั้งแต่วันแรกที่เริ่มมีอาการ ติดตามประเมินอาการในโรงพยาบาลโดยบุคลากรทางการแพทย์ พบว่า ทำให้อาการของผู้ป่วยโควิด-19 ดีขึ้นเร็วกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับยาอย่างชัดเจน (ครึ่งหนึ่งดีขึ้นใน 2 วันเมื่อได้รับยา เปรียบเทียบกับ 14 วันในกลุ่มไม่ได้รับยา)” นพ.รุ่งเรือง กล่าว

โฆษก สธ. กล่าวว่า สำหรับการวิจัยยาฟาวิพิราเวียร์ของต่างประเทศดำเนินการคนละห้วงเวลา รวมถึงมีข้อแตกต่างในรายละเอียดเกี่ยวกับการศึกษาและการใช้จริงของไทย ซึ่งตั้งแต่มีการใช้ยาตัวนี้ อัตราการสูญเสียลดน้อยลงตามลำดับ โดยปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ของไทย น้อยกว่าร้อยละ 0.1 หรือน้อยกว่า 1 ราย ในผู้ติดเชื้อ 1,000 ราย ซึ่งนับว่าต่ำมาก นอกจากนี้ ยาฟาวิพิราเวียร์ยังเป็นยาที่ใช้ในผู้ที่อายุน้อยกว่า 18 ปี ในขณะนี้ด้วย

“ทั้งนี้ คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญมีการติดตามข้อมูลการรักษา ผลการวิจัยใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับแนวทางการรักษาให้เหมาะสม จึงมีการนำยาตัวอื่นที่มีผลการศึกษารองรับมาใช้ด้วย เช่น ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdisivir) ซึ่งเป็นยาชนิดฉีด มีกลไกการออกฤทธิ์ตำแหน่งเดียวกับฟาวิพิราเวียร์ สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาการดูดซึมยา รับประทานไม่ได้ รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) เป็นยารับประทานสำหรับผู้ใหญ่ มีกลไกการออกฤทธิ์จุดเดียวกัน ช่วยลดความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงได้ โดยต้องให้ภายใน 5 วันหลังเริ่มมีอาการ และยาแพ็กซ์โลวิด (Paxlovid) มีกลไกการออกฤทธิ์ที่เอนไซม์ ทำให้เชื้อลดจำนวนลง ซึ่งอยู่ระหว่างการกระจายไปยังโรงพยาบาลต่างๆ หลังได้รับการอนุมัติจากศูนย์ปฏิบัติการฯ สธ. และศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของยาฟาวิพิราเวียร์ที่มีการเผยแพร่ในขณะนี้ คณะกรรมการวิชาการฯ ได้รับทราบและจะนำเข้าสู่การพิจารณาปรับปรุงแนวทางการรักษาที่เหมาะสมต่อไป” นพ.รุ่งเรือง กล่าว