‘ธนกร’ ชูฝีมือบริหารยุค ‘ประยุทธ์’ ดึงเทคโนโลยีขับเคลื่อนประเทศสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล

‘ธนกร’ ชูฝีมือบริหารยุค ‘ประยุทธ์’ ดึงเทคโนโลยีขับเคลื่อนประเทศสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม

 

วันที่ 11 กันยายน 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และอดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลภายใต้การบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ให้ความสำคัญในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมุ่งเป้าการเปลี่ยนแปลง (Transform) สู่ “รัฐบาลดิจิทัล” เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของภาครัฐ

ด้วยการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ พัฒนาระบบรองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ Digital ID พัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการภาคเอกชนและประชาชนแบบเบ็ดเสร็จและเข้าถึงง่าย ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้เรียนรู้และปรับตัวเข้าสู่สังคมดิจิทัล มุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล (Digitalization for Digital Economy) อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการของภาครัฐ และการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้

การสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยใช้เทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) และการส่งเสริมภาคธุรกิจในการระดมทุนผ่านตลาดทุนได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและภาคธุรกิจ นอกจากนี้รัฐบาลยังนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในงานด้านการเงินการคลัง เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งทุนและการเข้าถึงบริการของภาครัฐได้ง่ายขึ้น สามารถกระจายผลประโยชน์สู่เศรษฐกิจระดับฐานรากหรือภาคธุรกิจที่กำลังประสบปัญหาได้อย่างเหมาะสม

นายธนกรกล่าวอีกว่า สำหรับความสำเร็จของรัฐบาลในยุค พล.อ.ประยุทธ์ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ดำเนินมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจและการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านการใช้แอพพลิเคชั่นของภาครัฐ เช่น “เป๋าตัง” และ “ถุงเงิน” อาทิ 1) โครงการเราชนะ โดยมีแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” เป็นช่องทางหนึ่งในการรับวงเงินช่วยเหลือให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย และ 2) โครงการคนละครึ่ง ที่ประชาชนสามารถใช้จ่ายผ่านแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” และร้านค้ารายย่อยสามารถรับชำระเงินผ่านแอพพลิเคชั่น “ถุงเงิน” เป็นต้น

ทั้งนี้ ในส่วนของความคืบหน้าโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 (ข้อมูล ณ วันที่ 9 กันยายน 2565) มีผู้ใช้สิทธิที่เป็นประชาชนรายเดิมที่เคยใช้สิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 (ประชาชนรายเดิม) จำนวน 19.24 ล้านคน คิดเป็นยอดใช้จ่ายสะสม 12,141.73 ล้านบาท และมีผู้ใช้สิทธิที่เป็นประชาชนรายใหม่ที่ไม่เคยใช้สิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 (ประชาชนรายใหม่) จำนวน 129,537 คน คิดเป็นยอดใช้จ่ายสะสม 87.11 ล้านบาท รวมมีผู้ใช้สิทธิทั้งหมดจำนวน 19.37 ล้านคน และมียอดใช้จ่ายรวม 12,228.84 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่ายจำนวน 6,189.98 ล้านบาท และเงินที่รัฐร่วมจ่ายจำนวน 6,038.86 ล้านบาท การดำเนินมาตรการข้างต้นถือเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล นำไปสู่การช่วยเหลือที่ตรงจุด และการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับทุกคนในอนาคตต่อไป