เปิดคำชี้แจง ประยุทธ์ ปม 8 ปี ตัดตอนนายกฯปี 57 ให้นับตามรธน. 60 ย้ำตีความตัวบทกฎหมายไม่ใช่ข้อเท็จจริง

เปิดเอกสารว่อน คำชี้แจง ประยุทธ์ ปม 8 ปี ตัดตอนนายกฯปี 57 เริ่มนับใหม่ตามรธน.ปี 60 ระบุศาลรธน.ควรตีความยึดตัวกฎหมาย มิใช่ข้อเท็จจริงที่รู้กันทั่วไป

 

วันที่ 7 ก.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากศาลรัฐธรรมนูญ มีหนังสือเรียกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ถูกร้อง ชี้แจงในประเด็นนายกฯ 8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ ส่งเอกสารชี้แจงกลับมาให้ศาลรัฐธรรมนูญ ที่นัดพิจารณาในวันที่ 8 ก.ย.นั้น ปรากฎว่าในโซเชียลมีการเผยแพร่ เอกสารคำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ กรณีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ที่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีทั้งหมด 23 หน้า 8 หัวข้อ

โดยเป็นการคัดค้านแก้ข้อกล่าวหาเรื่องการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ซึ่งผู้ร้องเข้าใจไม่ถูกต้องในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยนำเอาระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ที่เป็นนายกฯครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มานับรวมกับการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ทั้งที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) สิ้นผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่ 6 เม.ย.2560

แม้การดำรงตำแหน่งนายกฯครั้งแรก จะเริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2557 และเป็นนายกฯ ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน แต่ไม่อาจนำระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มานับรวมกับการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ได้ เนื่องจากความเป็นนายกฯครั้งแรก ตั้งแต่ 24 ส.ค.2560 สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 พร้อมกับการสิ้นสุดลงของ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ดังนั้น ความเป็นนายกฯครั้งแรก จึงขาดตอนจากรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ในวันที่ 6 เม.ย. 2560 แล้ว

การดำรงตำแหน่งนายกฯ เมื่อ 6 เม.ย.2560 ต่อเนื่องมานั้น เป็นไปตามบทเฉพาะกาล มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่กำหนดให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินกในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2560 ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ภายหลังเลือกตั้งการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญปี 2560

นอกจากนี้ ยังชี้แจงถึงข้อกำหนดห้ามเป็นนายกฯเกิน 8 ปี ตามมาตรา 158 ว่าเป็นบทบัญญัติกฎหมายที่เป็นการจำกัดสิทธิ ดังนั้น ต้องตีความอย่างแคบและโดยเคร่งครัด จะตีความอย่างกว้าง ให้หมายความรวมถึงการเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญฉบับอื่นมิได้ ซึ่งหลักการตีความกฎหมายเรื่องการจำกัดสิทธิของบุคคลนี้ ตรงกับแนวทางความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน ที่มีส่วนร่วมเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบด้วย นายธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย นายนรชิต สิงหเสนี นายปกรณ์ นิลประพันธ์ นายประพันธ์ นัยโกวิท นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายอัชพร จารุจินดา และนายอุดม รัฐอมฤต

ทั้งนี้ ในคำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังหยิบยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องการบังคับใช้กฎหมายย้อนหลังมาประกอบด้วย

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ ได้ชี้แจงในประเด็นการดำรงตำแหน่งไม่ขัดกับหลักมาตรฐานสากลและเจตนารมณ์ของมาตรา 158 วรรคสี่ โดยระบุว่า ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความชื่อสัตย์สุจริตและด้วยความจงรักภักดี สำนึกในหน้าที่และประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเหนือสิ่งอื่นใด ไม่เคยใช้อำนาจการเป็นผู้นำประเทศ หาผลประโยชน์ให้ตนเองหรือพวกพ้อง

“ดังนั้น ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นระยะเวลาเท่าใด ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง ไม่เคยใช้อำนาจผู้นำประเทศหรืออำนาจทางทางการเมืองเพื่อประโยชน์ของตัวเอง หรือของวงศาคณาญาติ หรือพวกพ้อง และไม่เคยคิดช่วยเหลือหรือสนับสนุนผู้ที่ทำความเสียหายให้ประเทศหรือประโยชน์ของสาธารณะของประชาชน ให้กลับมามีอำนาจหรือเป็นผู้นำประเทศเพื่อใช้อำนาจ ก่อผลเสียต่อประโยชน์ของประเทศอย่างรุนแรงได้อีก”

นอกจากนี้ยังชี้แจงกรณีการไม่เปิดเผยบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินนั้น เป็นการใช้อำนาจพิจารณาวินิจฉัยของ ป.ป.ช. ที่ได้ตีความไว้

พร้อมระบุด้วยว่า ศาลรัฐธรรมนูญต้องตีความและใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญในเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามหลักกฎหมาย มิใช่ตามข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไปของประชาชน ที่สำคัญคือ ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาพิพากษาอรรถคดีโดยปราศจากอคติทั้งปวง

หากศาลรัฐธรรมนูญนำเอาข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่โดยทั่วไปของประชาชนมาใช้ตีความกฎหมาย หรือวินิจฉัยพิพากษา ย่อมเป็นช่องทางที่จะทำให้เกิดอคติในการวินิจฉัยหรือพิจารณาพิพากษาอรรถคดีได้

ในตอนท้าย ระบุด้วยว่า การดำรงตำแหน่งที่มีข้อจำกัดห้ามดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 158 วรรคสี่ นั้น หมายถึงการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เท่านั้น มิได้หมายความรวมถึงการดำรงตำแหน่งนายกฯตามรัฐธรรมนูญฉบับอื่น หากรัฐธรรมนูญปี 2560 มีเจตนารมณ์ที่จะให้หมายรวมถึงการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญฉบับอื่นด้วยก็ย่อมต้องบัญญัติไว้โดยแจ้งชัด

ข้อกล่าวหาของผู้ร้อง จึงไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม