‘สมคิด’ มองศก.ปลายปีโตสูงและแรง คาดปี 61 ขยายตัวไม่ต่ำกว่าปีนี้

หมายเหตุ– “มติชน” ได้สัมภาษณ์ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงปลายปี 2560 และแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2561

– อยากให้กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 และ 4 ปีนี้

ช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ รับประกันได้ว่าด้วยคีย์แฟกเตอร์ต่างๆ มาตรการหรือโครงการต่างๆ ที่รัฐได้ทำไว้ จะส่งผลให้เห็นแล้ว เป็นไตรมาสที่ตัวเลขเศรษฐกิจโตสูงและแรงแน่นอน จนถึงไตรมาส 4 ตัวเลขเศรษฐกิจจะยังทรงตัวในระดับสูง ยิ่ง 2 เดือนสุดท้าย เชื่อว่าตัวเลขการท่องเที่ยวจะทะลุเพดาน ภาคส่งออกยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ที่ผ่านมาบางเดือนโตได้ถึง 10% ทำให้มีโอกาสที่ทั้งปีจะโตเกิน 7-8% ตัวเลขใช้จ่ายภาครัฐที่อั้นๆ ต้องเร่งออกมาจากนี้ การบริโภคก็เริ่มเห็นการใช้จ่ายมากขึ้น ดูอย่างตัวเลขเสื้อผ้า ซึ่ง 2 เดือนสุดท้ายจะเห็นการใช้จ่ายที่สูงขึ้นเมื่อเทียบปีที่ผ่านมา ดูแนวโน้มตลาดหุ้นที่ยังโตได้ต่อเนื่อง เงินไหลเข้าดีอยู่ หากได้ราคาพืชผลเกษตรยิ่งดี ประกอบกับไตรมาส 3 ปีก่อนนั้น อัตราขยายตัวเตี้ยมีผลต่อตัวเลขเศรษฐกิจครึ่งหลังปีนี้โตได้ดี จึงมองไม่เห็นว่าจะมีอุปสรรคเชิงลบอะไร ที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยสะดุด ดังนั้น ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 ไตรมาส 4 มีโอกาสบวกหรือลบ ใกล้เคียงขยายตัว 4% แน่นอน ส่งผลต่อจีดีพีทั้งปีนี้สูงตามที่ได้คาดการณ์ไว้ใกล้ๆ 4%

– ปลายปีนี้จะออกมาตรการเพิ่มเติมอะไรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ระยะสั้นนี้ยังไม่มีอะไร แต่รัฐบาลและทุกหน่วยงานต้องคิดต่อเนื่องว่าจะเติมมาตรการอะไรที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในปีต่อๆ ไปอย่างไร คงไม่ได้หมดแค่นี้ ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม ล้วนเป็นหัวหอกสำคัญในการขับเคลื่่อนเศรษฐกิจทั้งสิ้น รวมถึงกระทรวงอื่นๆ ด้วย ต่างมีบทบาทด้วยกันทั้งสิ้น

ในส่วนกระทรวงพาณิชย์ ต้องขับเคลื่อนทั้งการส่งออก และกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า รัฐมนตรีที่ดูแลก็มีแผนงานของเขาที่จะผลักดัน ในสัปดาห์นี้จะเห็นตัวเลขการส่งออกเดือนกันยายน แนวโน้มก็น่าจะดีอีกเดือน กระทรวงอุตสาหกรรมต้องเร่งรัดในเรื่องการจูงใจการลงทุน พัฒนาธุรกิจ ไม่เกินปีนี้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกจะออกมาใช้ จะเร่งการลงทุนตามโครงการต่างๆ ที่ได้หารือไว้ได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนเรื่องไปต่างประเทศเพื่อกระชับความสัมพันธ์ ยังมีต่อเนื่อง เร็วๆ นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะจะไปเยือนประเทศอังกฤษและพบปะผู้นำ ประเทศอังกฤษเป็นตลาดสำคัญและเป็นประตูเข้าตลาดยุโรป ไปพร้อมกับอีกหลายประเทศในยุโรปที่สนใจร่วมมือเพิ่มการค้าการลงทุนกับไทย เป็นการเพิ่มเติมหลังจากที่รัฐบาลไปเยือนและพบปะผู้นำในหลายประเทศ ทั้งจีน ญี่ปุ่น สหรัฐ ล่าสุดทางญี่ปุ่นก็มาพบ เพื่อเร่งรัดการเดินทางโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ญี่ปุ่นแสดงความสนใจ เชื่อว่าจะมีธุรกิจเอสเอ็มอีของญี่ปุ่นที่มีกว่าหมื่นราย สนใจตามรัฐบาลญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทย เพิ่มเติมจากที่ลงทุนกันอยู่แล้ว

ช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ นายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์เฟซบุ๊ก จะมาเยือนไทยในวันที่ 30 ตุลาคม จะเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ด้วย การพบครั้งนี้จะเป็นภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศไทย เพราะเฟซบุ๊กเป็นดาต้าเซ็นเตอร์ใหญ่และมีการเชื่อมโยงไปทั่วโลก สะท้อนถึงความสนใจของเฟซบุ๊กภูมิภาคอาเซียนรวมถึงประเทศไทย รวมถึงทิศทางการขยายของเฟซบุ๊ก เร็วเกินไปที่จะระบุว่าจะเกิดความร่วมมือกันอย่างไร แต่มองเป็นโอกาสและส่งสัญญาณถึงผู้นำธุรกิจด้านออนไลน์ดังๆ

ทั่วโลกที่จะเห็นการชิงฐานพื้นที่ในอาเซียนมากขึ้น ออนไลน์ดังๆ ทั้งในสหรัฐอเมริกา หรือจีน ไม่ว่าจะเป็นอาลีบาบา อเมซอน และลาซาด้า ก่อนหน้านี้จะเห็นการขยายความร่วมมือเปิดสาขาในเอเชียและอาเซียน ในสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ภาพที่ประธานบริษัทดังของโลกมาพบผู้นำประเทศ ย่อมแสดงถึงความสนใจถึงประเทศนั้น มองถึงโอกาสลงทุนต่อไป ไทยถือว่าเป็นประเทศหนึ่งที่ถูกจับตามอง เพราะเราเป็นศูนย์กลางอาเซียน มีความพร้อมในระบบโครงสร้าง ทำเลที่ตั้ง จึงเห็นโอกาสการมาลงทุนหรือเป็นพันธมิตรทางใดทางหนึ่ง และเป็นภาพพจน์ในสายตาระดับโลก

อย่างการไปเยือนสหรัฐของนายกรัฐมนตรี เมื่อเร็วๆ นี้ ถือว่าประสบความสำเร็จ ไม่ได้เสียเปรียบอะไรอย่างที่ออกมาแสดงความเห็นกันต่างๆ นานา เรื่องนำเข้าสุกรก็ไม่ได้เป็นการหารือระดับรัฐมนตรี เราก็ยืนยันยึดตามโครงการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (โคเด็กซ์) ต้องไม่เกินมาตรฐาน แต่ให้ตั้งคณะกรรมการร่วมกัน 2 ฝ่าย หารือกันในส่วนอื่นๆ เช่น เครื่องใน ไก่งวง เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันเจรจาต่อไป

– แผนต่อยอดบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย

โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ผู้มีรายได้น้อย ผ่านโครงการธงฟ้าประชารัฐ เพื่อเข้าไปช่วยกำลังซื้อระดับรากหญ้านั้น แรกๆ ก็มีคนด่า แต่โครงการนี้รัฐบาลปล่อยเต็มหมัด ไม่แค่ต้องการจุนเจือช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนไว้กับกระทรวงการคลังกว่า 11.4 ล้านคน ให้มีเงินใช้จ่าย แต่จากนี้รัฐบาลต้องช่วยสร้างรายได้ ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องต้องลงไปช่วยเหลือโครงการธงฟ้าประชารัฐ ไม่ได้แค่ให้การเงินฟรีๆ แบบจบ แต่กระทรวงการคลัง จะได้ข้อมูลให้รู้ว่าแต่ละหมู่บ้านต้องการอะไรจริงๆ แต่ละหมู่บ้านความต้องการไม่เหมือนกันแน่ ต่อไปไม่ใช่รับเงินสดอย่างเดียว ต้องมีโปรแกรมว่าจะพัฒนาอาชีพและต่อยอดความช่วยเหลืออย่างไร จะยกระดับหมู่บ้านให้เป็นธุรกิจและเปิดกว้างในพื้นที่อื่นในประเทศหรือต่างประเทศได้ต่อไป

เรื่องบิ๊กดาต้า เป็นเรื่องสำคัญ ทุกหน่วยงานต้องมีข้อมูลจึงต้องดันให้เกิด จะนำไปสู่การจัดสรรงบประมาณ การออกแพคเกจ มาตรการหรือโครงการต่างๆ ได้ตรงจุด ไม่มั่ว วันข้างหน้าจะดีไซน์หรือออกมาตรการช่วยเหลือใหม่ ก็ยึดข้อเท็จจริงตามข้อมูล ที่ได้รู้ลึกๆ แล้วว่าประชาชนต้องการอะไร รัฐบาลไม่ได้หยุดแค่นี้ กำลังเตรียมที่จะเพิ่มเติมอะไรลงไปอีก ยืนยันได้ว่ามีแน่ ส่วนความห่วงใยเรื่องหนี้ครัวเรือนและหนี้เกษตรกร เป็นเรื่องที่หน่วยงานรัฐดูแลอยู่แล้ว หลายเรื่องต้องใช้เวลาเพราะสะสมเป็นเวลานานหลายปี

หลายเรื่องที่รัฐบาลทำมาตลอด เชื่อว่าทำให้ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) จะประเมินอันดับไทยในด้านดีขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องความสะดวกในการประกอบธุรกิจยากง่ายของไทยในมุมมองต่างชาติ

แต่อย่างไรก็ตาม การจะมีมาตรการอะไรเพิ่มเติม เร็วหรือช้า เพื่อขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยต่อจากนี้ในปี 2561 ไม่ต่ำลงกว่าปี 2560 ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเมือง และกรอบเวลาการเลือกตั้ง