ขอบคุณข้อมูลจาก | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ผลวิจัยชี้ ‘โควิด’ กระทบสุขภาพจิต น.ร. ห่วงปัญหาบูลลี่-เด็กเครียด-ฆ่าตัวตายพุ่ง แนะ ศธ.ลดวิชาการ-เน้นแอ๊กทีฟเลิร์นนิ่ง
นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 นอกจากจะส่งผลให้เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยแล้วยังทำให้เกิดภาวะการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ (Social emotional learning) หรือ SEL ก็ถดถอยไม่แพ้กัน โดยงานวิจัยจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่า นักเรียนที่มีทักษะทางสังคมและอารมณ์ที่ดี มักจะมีผลการเรียนและพฤติกรรมที่ดี, ปัญหาพฤติกรรมน้อยลง, ความสัมพันธ์กับเพื่อนและครอบครัวดีขึ้น และปัญหาสุขภาพจิตน้อยลง ส่วนนักเรียนที่มีปัญหาการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ มักจะประสบกับความบกพร่องทางวิชาการ มีปัญหาด้านพฤติกรรม และปัญหาทางอารมณ์ ขาดทักษะทางสังคมเสี่ยงต่อการถูกกลั่นแกล้ง นำไปสู่การแยกตัวจากสังคมด้วย
นายอรรถพลกล่าวต่อว่า แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มีการสำรวจว่าสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบกับการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ของเด็กอย่างไร แต่หลังจากเปิดเรียน จะเห็นว่าเด็กมีปัญหาพัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์เพิ่มขึ้น ซึ่งหากเทียบเคียงกับผลงานวิจัยของต่างประเทศ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เด็กและเยาวชนเกิดภาวะเครียดจากการสูญเสียกิจวัตร เพราะการต้องแยกตัวทางสังคมเพื่อป้องกันสุขภาพ ความยากลำบากทางเศรษฐกิจของครอบครัวที่มีมากขึ้น และสำหรับเด็กด้อยโอกาสยังมีสาเหตุซ้ำเติมให้เกิดความเครียดจากการขาดอุปกรณ์เทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงการเรียนการสอนทางไกล รวมไปถึงการขาดแคลนอาหารกลางวันที่เคยได้รับเมื่อไปโรงเรียน
“สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดการเรียนรู้ถดถอยทางสังคมและอารมณ์ ตัวอย่างงานวิจัยต่างประเทศในเรื่องการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ของเด็ก เช่น รายงานการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ปี 2021 โดย McGraw Hill และ Hanover Research ค้นพบว่า การเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อความสำเร็จของนักเรียนและความเป็นอยู่ที่ดีโดยทั่วไป จากการวิจัย 53% ระบุว่า การเปลี่ยนไปใช้การเรียนรู้ทางไกล ทำให้นักเรียนต้องทนทุกข์ทรมานทางอารมณ์และสร้างปัญหาในการเข้าชั้นเรียน, ความตระหนักของผู้ปกครองเกี่ยวกับ SEL ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นกว่า 69% เมื่อเทียบกับปี 2018 ที่มีเพียง 46%, นักการศึกษาเชื่อว่าการพัฒนา SEL จะช่วยให้ปัญหาพฤติกรรมลดลง เกรดดีขึ้น และจะมีความทุกข์ทางอารมณ์น้อยลง จึงอยากจะเรียกร้องให้ผู้บริหาร ครู และผู้ปกครองเห็นความสำคัญและกระตุ้นพัฒนาการทางสังคมและอารมณ์ของเด็กควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาการเรียนรู้ถดถอยด้วย” นายอรรถพลกล่าว
ด้านนายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา กล่าวว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบในทุกด้านโดยเฉพาะสุขภาพจิต เพราะต้องเรียนออนไลน์ ทำให้เด็กเงียบมากขึ้น เล่นกับเพื่อนไม่เป็น มีปัญหาการเข้าสังคม กล้ามเนื้ออ่อนแอ จะเห็นได้ว่าหลังเปิดเรียนออนไซต์จะมีข่าวเด็กเครียด ก้าวร้าว ฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น เกิดปัญหาบูลลี่ ภาวะทางอารมณ์ไม่มั่นคง
“ส่วนตัวมองว่าเด็กไทยจำนวนมากมีภาวะการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ถดถอยแน่นอน เพราะเราหยุดเรียนเป็นเวลานาน ประกอบกับสภาพแวดล้อมของสังคมไทยไม่มีใครเข้ามาช่วยดูแลสุขจิตเด็กได้ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวที่ไม่มีเวลาดูแลลูก ครูแนะแนวที่ไม่ช่วยเหลือเด็กได้ตรงประเด็น ดังนั้นถ้า ศธ.ต้องการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ต้องร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และไม่เร่งสอนแต่วิชาการ ควรสอนเด็กให้เล่น ได้ใช้ชีวิต และเรียนรู้แบบแอ๊กทีฟเลิร์นนิ่งเพิ่มมากขึ้น” นายสมพงษ์กล่าว