จ่อยุบศบค.! “ประยุทธ์” ไฟเขียว ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1 ต.ค.นี้ งัดกม.โรคติดต่อ คุมแทน

หมออุดม เผย จ่อเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1 ต.ค.นี้ เล็งใช้พ.ร.บ.โรคติดต่อ คุมแทน ส่งผลให้ ศบค.หายไปตามกม. เตรียมแผนกระจายยา-วัคซีน ก่อนเข้าสู่โรคประจำถิ่น

 

วันที่ 19 ส.ค. 2565 เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กล่าวก่อนการประชุมศบค.ชุดใหญ่ ถึงการพิจารณาให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง จะต้องยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ด้วยหรือไม่ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยกเลิกแน่นอน เบื้องต้นเรื่องนี้ได้หารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผอ.ศบค. ก็ไม่ขัดข้อง เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์เริ่มเบาลง และหากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ศบค.ก็ต้องหายไปด้วยตามกฎหมาย

ส่วนการควบคุม ดูแลอาจนำ พ.ร.บ.โรคติดต่อกลับมาปัดฝุ่นใช้ เพื่อเพิ่มความเข้มแข็ง โดยจะตั้งให้มีหน่วยงานคล้ายกับศบค. เพื่อช่วยประสานงาน โดยอาจปรับมาเป็นรูปแบบของคณะกรรมการร่วม ข้อสรุปจะหารือในการประชุมศบค.ชุดใหญ่ ก่อนที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะครบกำหนดในวันที่ 30 ก.ย.นี้อีกครั้ง แต่แนวโน้มคงจะยกเลิก ด้วยสถานการณ์ต่างๆ ในประเทศและการเดินหน้าของเศรษฐกิจ

นพ.อุดม กล่าวว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อมีคนไข้ในระบบประมาณ 2,000 คน และคนไข้ที่ตรวจพบจาก ATK อยู่ในระบบวันละ 30,000 คน และนอกระบบ 1-2 เท่าต่อวัน ภาพรวมผู้ติดเชื้อวันละ 6-7 หมื่นคน ซึ่งตัวเลขคงที่มาประมาณเกือบเดือน จึงคาดการณ์ว่าสถานการณ์อาจคงอยู่อีก 1 เดือน และหลังวันที่ 1 ต.ค. น่าจะเริ่มลดลง และคนไข้ที่เข้าโรงพยาบาล น่าจะต่ำกว่า 1,000 คนต่อวัน ถ้าเป็นตัวเลขนี้ จะเสียชีวิตวันละ 10 คน เป็นตัวเลขที่น่าพอใจ ที่จะกลายเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ส่วนการจะเป็นโรคประจำถิ่นจะดูไปอีกสักระยะ

นพ.อุดม กล่าวอีกว่า สำหรับการประชุมในวันนี้ จะพิจารณากรอบนโยบายและแผนดำเนินงานช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่โรคประจำถิ่น เริ่มตั้งแต่เดือน ก.ย.-ต.ค.เป็นต้นไป สิ่งที่ต้องทำ 2 เรื่องใหญ่ คือเตรียมการให้คนไข้เข้าถึงบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเวลานี้ยังมีเสียงบ่นจากคนไข้ในการพบหมอและรับยา ยืนยันว่าเรื่องยาไม่ต้องกังวลยังมีเหลือเพียงพอ ทั้งฟาวิพิราเวียร์ และโมลนูพิราเวียร์ แต่ปัญหาคือ เรื่องบริหารจัดการบางที่คนไข้มากน้อยต่างกัน และจากนี้จะให้คนไข้รับยาที่ร้านยาในเครือข่ายได้อีกทางหนึ่ง

ขณะนี้ 3 กองทุนหลักร่วมเอกชนจัดทำ 3 แอพพลิเคชัน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงในกรณีติดเชื้อได้ครอบคลุมทั้งประเทศ คนไข้สามารถเจอแพทย์และรับยาโดยมีบริการส่งถึงบ้านให้เกิดความสะดวก

เรื่องที่ 2 คือวัคซีนที่ต้องทำความเข้าใจว่ายังต้องฉีดเข็ม 3และ4 เพราะเชื้อ BA.4 และ BA.5 ยังมีความรุนแรง แต่วัคซีนทำให้เกิดภูมิ ดังนั้น ควรฉีดเข็มกระตุ้น และขอย้ำว่าไม่ติดดีที่สุด เพราะการติด ยังสามารถตายได้ ถ้ามีความเสี่ยงและจะมีอาการลองโควิด ซึ่งที่เสียชีวิตปัจจุบัน 60 เปอร์เซ็นต์ไม่ฉีดวัคซีน ส่วนเข็ม 5-6 ขอให้บุคคลากรทางการแพทย์เพราะเป็นบุคลากรด่านหน้า บุคคลทั่วไปยังไม่แนะนำ

ทั้งนี้ ขอย้ำว่าประชาชนยังต้องป้องกันตัวเอง โดยการสวมหน้ากากอนามัยยังจำเป็นที่สุด ล้างมือให้บ่อยและเว้นระยะห่าง รวมถึงการปฏิบัติตัวป้องกันโรคแบบครอบจักรวาล