‘ไทยสร้างไทย’ ร่วมฟังเสียงแรงงานดิจิตัล เล็งเพิ่มทักษะ-โอกาส กระจายมั่งคั่งสู่ท้องถิ่น

‘ไทยสร้างไทย’ ปักหมุดฟังเสียง GIG Worker เล็งเพิ่มทักษะ-ขยายโอกาส กระจายความมั่งสู่ท้องถิ่นด้วยแรงงานฟรีแลนซ์

 

วันนี้ 17 สิงหาคม 2565 ทีมเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทยจัดงานเสวนาฟังเสียง GIG Worker ไทยเพื่อเข้าใจคนนอกระบบ ที่ True Space Center Point ชั้น 4 สยามสแควร์ เพื่อรับฟังปัญหาของแรงงานดิจิตัลและแรงงานแพลตฟอร์มนอกระบบ ภายในงานมีการร่วมพูดคุยกันระหว่าง นายสุพันธุ์ มงคลสุธี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทย ดร.ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ดิจิทัล พรรคไทยสร้างไทยและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจดิจิทัล และ Gig Workers ร่วมพูดคุยถึงประเด็นความท้าทายของการประกอบอาชีพอิสระในยุคดิจิทัลและแรงงาน ที่เป็นแรงงานแพลตฟอร์ม

โดย นายซีเค เจิง CEO แพลตฟอร์ม Fastwork ได้เสนอว่าบทบาทของ Gig Economy จะสำคัญขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลังจากวิกฤตโควิด-19 เนื่องจากในปัจจุบันคนต้องการอิสระมากขึ้น แม้จะไม่ได้สวัสดิการหรือรายได้ไม่เท่ากับการทำงานในบริษัทหรือองค์กรใหญ่ๆ แต่ใครหลายคนยอมแลกสิ่งเหล่านี้กับเสรีภาพ เพราะความอิสระเป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้ ในทางกลับกันแรงงานฟรีแลนซ์ที่ทำงานที่ไหนก็ได้ ทำให้พวกเขาไม่ต้องเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ที่มีค่าครองชีพสูง แต่สามารถกลับไปทำงานที่บ้านเกิด ประหยัดค่าครองชีพ มีเงินเก็บเพิ่ม และมีการใช้จ่ายในต่างจังหวัด เป็นการกระจายความมั่งคั่ง

ในขณะที่ นายเกรียงไกร พิพัฒน์วิไลกุล Managing Partner BKK Management จำกัดเสนอว่า ตั้งแต่หลังวิกฤตโควิด-19 นั้น ในประเทศไทยที่คนต้องมาเป็น Gig Worker มากขึ้น ไม่ใช่เพราะว่าเลือกมาเป็น แต่เป็นเพราะว่ามาเป็นเพราะความจำเป็น ซึ่งต่างจากแนวทางในต่างประเทศในช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 การเป็น Gig Worker เป็นทางเลือกเพราะคนที่เลือกมาทำอาชีพนี้ส่วนมากคือทำงานเก่งและเชี่ยวชาญในสิ่งที่ตัวเองทำมาก อาจจะออกจากบริษัทมาทำเองเพราะไม่ต้องการโดนจำกัดกรอบโดยบริษัท คนเหล่านี้ส่วนมากยังไงก็หางานได้ แต่สภาพในปัจจุบันแรงงานแพลตฟอร์มจำนวนมาก ต้องมาเป็นเพราะความจำเป็น เพราะตกงานในช่วงวิกฤตโควิด-19 หรือ ไม่สามารถหางานในตลาดแรงงานได้ หรือเงื่อนไขในบริษัทไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขในชีวิต พอใครๆ ก็มาเป็น Gig Worker ทำให้เกิดปัญหาสงครามราคา บริษัทก็จะยิ่งกดราคา คนทำงานก็แข่งกันตัดราคา ในต่างประเทศจึงมีการตั้งราคาขั้นต่ำของแต่ละงานให้ไม่กดราคาเกินไป

นายอนุกูล ราชกุณา จากสหภาพไรเดอร์ เล่าว่า ปัญหาที่แรงงานแพลตฟอร์มต้องเผชิญ คือการไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ของบริษัทและรัฐได้ การจะได้สวัสดิการ บางทีต้องทำงานแลกมา เช่นทำงานถึงกี่ร้อยงาน ถึงจะได้ประกันสุขภาพ ในขณะที่พนักงานบริษัททั่วไปเมื่อเซ็นสัญญาเริ่มงานก็ได้สวัสดิการเลย รวมถึงปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เงินกู้ต่างๆ เช่นการยื่นกู้ซื้อบ้าน ที่พอทางธนาคารเห็นว่าเราเป็นอาชีพอิสระแล้ว เขาก็ปฏิเสธทันที ไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ได้

ดร.ธรรม์ธีร์ เสนอว่า ปัญหาคือการที่ภาครัฐไม่มีโครงสร้างและพื้นฐานที่ดี รัฐไม่ได้สร้าง Eco system ที่ดี สำหรับอาชีพอิสระ ในส่วนเรื่องของสหภาพ คิดว่าคนทำอาชีพอิสระควรจะตั้งสหภาพได้และต้องพัฒนาทักษะแรงงานต่างๆ ภาครัฐต้องจริงจังกับเรื่องนี้

นายสุพันธ์ สะท้อนว่า ปัจจุบัน เราต้องใช้วิธิคิดแบบ New World Economy เข้ามาปรับ เพราะปัญหาเศรษฐกิจนั้นไม่เหมือนเดิม การแก้ปัญหาก็ต้องไม่เหมือนเดิม ปัญหาเปลี่ยนไปการแก้ปัญหาก็ต้องเปลี่ยนตาม เรามีคนอยู่ในประกันสังคมกว่า 20 ล้านคน แต่แรงงานอิสระเหล่านี้กลับไม่ได้เข้าสู่ประกันสังคม สิ่งที่เป็นโจทย์ใหญ่คือเราจะต้องทำอย่างไรให้เขาได้สวัสดิการ หรือได้เข้าสู่ประกันสังคม รัฐเองก็ต้องเข้ามาช่วยดูแลในเรื่องเงินกู้ ถ้าคนที่ทำงานแล้วมีรายได้ชัดเจนต้องมีเครดิตให้เขา เขาต้องมีสิทธิกู้เงิน เพราะถ้าคนตัวเล็กเหล่านี้เข้าสู่สถาบันการเงินไม่ได้ ปัญหาที่จะตามมาคือเงินกู้นอกระบบที่ทำลายเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาล

นายสุพันธุ์ เสนอว่า การแก้ปัญหาเรื่องนี้อันดับแรก คือ รัฐต้องปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ให้คนที่เคยเป็นหนี้ มีหนี้เสีย ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ ต้องตั้งกองทุนที่มีประโยชน์ ที่ส่งเสริมการลงทุนในระบบเศรษฐกิจ ไม่ใช่การตั้งกองทุนที่ชดเชยต่างๆ อย่างเดียวโดยไม่ได้ช่วยเหลือระบบเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทยมีเป้าหมายว่า จะตั้งกองทุนเครดิตประชาชน โดยให้ประชาชนกู้ยืมเงิน ผ่านระบบเครดิต ใครๆ ก็กู้ได้ ถ้าสะสมเครดิตในการชำระหนี้ได้ดี ก็จะได้รับวงเงินที่สูงขึ้นเรื่อยๆ และ ที่สำคัญคือต้องมีตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจตัวใหม่ ที่เรียกว่า GDP ของคนตัวเล็ก เพราะ GDP ในปัจจุบัน ส่วนมากมาจากการส่งออก ทำให้เราไม่เห็นสภาพที่แท้จริงเศรษฐกิจของคนจำนวนมากในประเทศ

“ช่วงโควิดที่ผ่านมา Gig Worker คือคนเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของเรา และเป็นกลุ่มที่ดูแลเรา โดยเราไม่ได้ตระหนักและไม่รู้ตัว เราจะเดินทางไปไหนมาไหน สั่งอะไรกิน ล้วนเป็นคนเหล่านี้ทั้งนั้น แต่จนถึงวันนี้แรงงานเหล่านี้ยังไม่ได้รับการดูแลที่เพียงพอ เราต้องดูแลเขาให้ดีขึ้น ต้องมีสวัสดิการ ต้องให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ ต้องมีการฝึกเสริมสร้างทักษะ ให้คนตัวเล็กของเราเคลื่อนเศรษฐกิจเราต่อไปได้” นายสุพันธุ์ กล่าว