“ศิริกัญญา” อัด ความผิดพลาดของงบฯ กระทบค่าครองชีพ เหมือนให้บัตรเครดิตกับนายกฯที่รูดใกล้เต็มวง

“ศิริกัญญา” อัด ความผิดพลาดของงบฯ กระทบค่าครองชีพปชช. เสมือนให้บัตรเครดิตกับนายกฯ ที่รูดใกล้เต็มวงเงินแล้ว ฉะ ไม่พ้นงบ 66 ต้องรับภาระกองทันน้ำมัน-กองทุนวินาศภัย

 

วันที่ 17 สิงหาคม ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ในวาระ 2 และวาระ 3 ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ได้พิจารณาเสร็จแล้ว

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กมธ.ฯ เสียงข้างน้อย อภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2566 มาตรา 4 ว่า การประมาณการรายได้มีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้น และมีโอกาสที่จะลดลงเช่นเดียวกัน ปัจจัยที่เป็นบวกต่อรายได้รัฐเช่นราคาน้ำมันดิบ อาจจะกระทบกับปัญหาค่าครองชีพของประชาชน แต่เป็นบวกสำหรับรายได้ภาครัฐ เพราะรัฐสามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มจากน้ำมัน

จากรายได้สัมปทานปิโตเลียมโดยที่รวมกับอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนลง ทำให้ราคาน้ำมันเมื่อคิดเป็นเงินบาทยิ่งแพงขึ้นไปอีก น่าจะทำให้กรมสรรพากร สามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นราว 8 หมื่นล้านบาท แต่ปัจจัยด้านลบก็มีคือจีดีพีที่ไม่ได้เป็นไปตามเป้าที่วางแผนไว้ตั้งแต่ตอนต้นปี 2565 หรือเศรษฐกิจโลกที่อาจจะชะลอตัว เมื่อเกิดเงินเฟ้อขึ้นทั่วโลกรวมถึงมาตรการการลดภาษีสรรพสามิตรอีก 5 บาทต่อลิตรทั้งที่ไม่รู้จะจบลงเมื่อไหร่ ตรงนี้จะทำให้รายได้รัฐในอนาคตอาจจะลดลง 1.3 แสนล้านบาท

“นี่คือความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการประมาณการรายได้ ที่ไม่สามารถตอบสนองกับเศรษฐกิจที่ผันผวน ยังมีความท้าทายตรงหน้า คือหนี้อื่นๆ ที่ไม่ใช่หนี้สาธารณะ คือหนี้ตามมาตรา 28 ของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ซึ่งเสมือนกับการให้บัตรเครดิต กับนายกรัฐ ที่จะสามารถรูดได้ ซึ่งตอนนี้นายกฯ รูดได้ใกล้เต็มวงเงินแล้ว ซึ่งวงเงินของปี 66 อยู่ที่ประมาณ 1.11 ล้านล้านบาท แต่ใช้ไปแล้ว 1.07 ล้านล้านบาท

ดังนั้น ยังจะสามารถกู้ได้เพิ่มจากหน่วยงานรัฐอื่นๆ เช่นรัฐวิสาหกิจหรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ก็เหลืออยู่น้อยต็มที่ หากคิดจากการะใช้หนี้คืนในปีนี้ ก็เหลือเงินที่จะกู้ใหม่เพียงแค่ 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งเพียงพอหรือไม่ กับการที่จะทำโครงการประกันรายได้ และมาตรการคู่ขนานต่อเนื่อง เพราะปีที่แล้วใช้เงินมากขึ้น 1.4 แสนล้านบาท ตรงนี้ยังคงเป็นปัญหาอยู่” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ล่าสุดมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้กองทุนน้ำมัน ออกร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ ของกองทุนน้ำมันในวงเงินสูงถึง 1.5 แสนล้านบาท และยังบอกว่าจะอนุมัติงบกลางอีก 5 หมื่นล้านบาท เพื่อให้บริหารจัดการระหว่างที่รอ พ.ร.ก. ซึ่งงบกลางปี 65 อนุมัติไว้ 8.9 หมื่นล้านบาท มีการอนุมัติให้ใช้จ่ายไปแล้ว 5.9 หมื่นล้านบาท และมีภาระที่ต้องชดเชยงบบุคคลกรที่ตั้งไว้ไม่เพียงพออีกราว 2.3 หมื่นล้านบาท จึงขอถามว่า 5 หมื่นล้านบาทนั้นจะหามาจากไหน ถ้าไม่ใช่จากงบฯ ปี 66 รวมถึงยอดหนี้กองทุนวินาศภัย

ตอนนี้พุ่งไปแล้ว 10 เท่าของเงินกองทุน ซึ่งเงินกองทุนมีอยู่เพียงแค่ 5,600 ล้านบาท แต่ยอดหนี้จากเจ้าหนี้ 7 แสนกว่าราย รวมแล้ว 65,000 ล้านบาท ซึ่งกองทุนวินาศภัยไม่สามารถที่จะใช้หนี้ได้ ก็จะเป็นที่จะต้องกู้เพิ่ม และยังไม่รู้ว่าจะเอาเงินมาจากไหน ถ้าสุดท้ายใช้ไม้ตายเดียวกับกองทุนน้ำมัน คือให้กระทรวงการคลังเป็นคนค้ำประกันอีก สุดท้ายทั้งหนี้กองทุนน้ำมันและหนี้กองทุนวินาศภัยก็ตกเป็นหนี้สาธารณะ ซึ่งจะกลายเป็นภาระงบประมาณเช่นเดียวกัน ดังนั้น ตนขอปรับลดงบที่มีความซ้ำซ้อน และกระจุกตัวลงอีกประมาณ 5 หมื่นล้านบาท แต่ไม่ให้เอาเข้างบกลาง แต่ให้ออกพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี เพื่อรอรับค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้น และความผันผวนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต