‘ไอติม’ ชำแหละงบ 66 กระจายให้คนทั้งประเทศหรือบางจังหวัดที่เป็นรัฐมนตรี

กมธ. งบฯ สัดส่วนก้าวไกล อภิปรายขอตัดลดงบปี 66 ชี้ไม่ตอบโจทย์ความต้องการทั้งระยะสั้นและระยะยาวของประเทศ ด้าน “ไอติม” ตั้งข้อสังเกต งบถนนและปรับปรุงแหล่งน้ำ กระจายให้จังหวัดของรัฐมนตรีคมนาคม และรัฐมนตรีเกษตรฯ มากกว่าจังหวัดอื่น สะท้อนการจัดสรรงบเพื่อประโยชน์การเมือง

 

วันที่ 17 สิงหาคม 2565 พริษฐ์ วัชรสินธุ ในฐานะสมาชิกกรรมาธิการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ในสัดส่วนของพรรคก้าวไกล ได้อภิปรายสงวนคำแปรญัตติ ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ในมาตรา 4 ภาพรวม โดยเสนอให้พิจารณาปรับลดงบประมาณของประเทศลง 5%
.
โดยพริษฐ์ ได้ตั้งข้อสังเกต ว่างบประมาณปี 2566 จำนวน 3.1 ล้านล้านบาท มีลักษณะของการใช้เงินผิดจุด ยังไม่ตอบโจทย์ ไม่จำเป็น และ ไม่เป็นธรรม โดยยกตัวอย่าง โครงการซ่อมแซมถนน และ โครงการปรับปรุงแหล่งน้ำ ซึ่งรวมกันทั้งประเทศแล้วมีสัดส่วนมากกว่า 50% ของงบประมาณลงทุนทั้งหมด ว่ามีความกระจุกตัวในบางจังหวัดอย่างชัดเจน โดยในส่วนของโครงการซ่อมแซมถนนของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท พบว่า 7 จังหวัดที่ได้งบประมาณสูงสุด ได้รับงบประมาณรวมกันเป็นสัดส่วนถึง 25% ของงบประมาณซ่อมแซมถนนทั้งประเทศ ขณะที่โครงการปรับปรุงแหล่งน้ำของกรมชลประทาน 7 จังหวัดที่ได้งบประมาณสูงสุด ได้รับงบประมาณรวมกันถึง 36% ของงบประมาณปรับปรุงแหล่งน้ำของทั้งประเทศ
.
พริษฐ์ยังชี้ให้เห็นว่า เมื่อลงไปดูรายละเอียดในงบซ่อมถนน จะเห็นได้ว่า 7 จังหวัดที่ได้รับงบประมาณสูงสุด คือจังหวัดที่มี ส.ส. เขต มาจากพรรคที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสังกัดอยู่ทั้งหมด ขณะที่งบปรับปรุงแหล่งน้ำ จะเห็นได้ว่า 7 จังหวัดที่ได้รับงบประมาณสูงสุด คือจังหวัดที่มี ส.ส. เขต มาจากพรรคที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สังกัดอยู่ถึง 3 จาก 7 จังหวัด หรือคิดเป็น 43%
.
“ตัวเลขไม่โกหกใคร และคำถามที่ประชาชนอดสงสัยไม่ได้ คือรัฐบาลได้จัดสรรงบโดยคำนึงถึงความเดือดร้อนของทุกคนอย่างเป็นธรรม หรือจัดสรรงบบนพื้นฐานของผลประโยชน์ทางการเมืองของตนเองกันแน่” พริษฐ์กล่าว
.
พริษฐ์ยังได้อภิปรายต่อไป ว่าการจัดสรรงบประมาณ ยังขาดการจัดลำดับความสำคัญ และการคำนึงถึงปัญหาภาพใหญ่ของประเทศ มีการจัดสรรออกเป็นโครงการเล็กๆ จนกลายเป็นเบี้ยหัวแตกจำนวนมากกว่า 2,500 โครงการ ที่มากกว่า 70% เป็นโครงการที่มีมูลค่าน้อยกว่า 100 ล้านบาท และไม่มีการจัดสรรเพียงพอเพื่อเตรียมความพร้อมในการแก้ 2 วิกฤติสำคัญในอนาคต คือปัญหาสังคมสูงวัย และปัญหาภาวะโลกรวนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต