โรม ย้ำ “ประยุทธ์” นั่งนายกฯวันสุดท้าย 23 ส.ค. ชี้หากเป็นศาลฯ ต้องสั่งยุติหน้าที่

โรม ซัด ‘ประยุทธ์’ ทำตัวอยู่เหนือรธน. ย้ำ 23 ส.ค.ดำรงตำแหน่งวันสุดท้าย ลั่น หากเป็นศาลฯ ต้องสั่งยุติหน้าที่ ชี้ กม.ลูกดับฝันนั่งรักษาการนายกฯ ยาว

 

วันที่ 17 ส.ค. 2565 เมื่อเวลา 09.00 น. ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์กรณีการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ว่า ในกฎหมายระบุชัดเจนว่าไม่สามารถเป็นนายกฯ ได้เกิน 8 ปี ถ้าดูข้อเท็จจริงที่ชาวบ้านเข้าใจและรู้สึก คือ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ มาแล้ว 8 ปี ย้อนกลับไปตั้งแต่ตอนโปรดเกล้าฯ ปี 2557 จนถึงขณะนี้ ที่จะเข้าสู่ปีที่ 8 ในวันที่ 23 ส.ค.นี้

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า หากดูเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้ผูกขาดในเชิงอำนาจ คำถามคือ พล.อ.ประยุทธ์ต้องการผูกขาดอำนาจหรือไม่ ดังนั้น เมื่อดูบริบททั้งหมด รวมไปถึงบทสนทนาทั้งของประธานและรองประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีความชัดเจนในการตีความกรณีของพล.อ.ประยุทธ์ ว่าเข้าข่ายมาตรานี้อย่างแน่นอน

“วันที่ 23 ส.ค.นี้ จึงเป็นวันสุดท้ายในการดำรงตำแหน่งของพล.อ.ประยุทธ์ แต่หากจะตีความอีกแบบหนึ่งที่นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ หรือเอาการเลือกตั้งเป็นจุดยืนในการชี้วัด สุดท้ายพล.อ.ประยุทธ์ก็จะเป็นนายกฯได้ถึง 10-12 ปี ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญ เกินกว่ากฎหมายกำหนดอย่างแน่นอน หากผมเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ก็คงต้องวินิจฉัยให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยุติการปฏิบัติหน้าที่ และต้องมีกระบวนการในการหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ต่อไป” นายรังสิมันต์ กล่าว

เมื่อถามว่า อาจจะมีการชิงยุบสภาก่อน นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เป็นไปได้ตามกฎหมาย แต่หากยุบสภาด้วยเหตุผลนี้ประชาชนจะยอมรับหรือไม่ อย่าคิดว่าในสภาจะทำอะไรก็ได้ โดยไม่สนใจประชาชนจะรู้สึกอย่างไร เราอาจยุบสภาและสุดท้ายนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ ขอให้รู้ไว้ว่าการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ประชาชนมีสิทธิ์ลงโทษ พล.อ.ประยุทธ์ เหมือนกัน และต่อให้มีการยุบสภา พล.อ.ประยุทธ์ ก็ดำรงตำแหน่งไปแล้วเกือบ 8 ปี ดังนั้นหากยุบสภาเพื่อหลีกหนีตรงนี้ก็ไม่ใช่ปัญหา แต่ก็อาจจะมีบางคนที่คิดว่ายุบสภาแล้วจะนำไปสู่นายกฯ รักษาการหรือไม่

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตนคิดว่าตอนนี้ข้อยุติของพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีความชัดเจนแล้วว่าต้องกลับไปหาร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งก็มีกระบวนการทางกฎหมายต่อไป ดังนั้น รักษาการนายกฯ ระยะยาวโดยไม่มีกำหนดเป็นไปไม่ได้ ตอนนี้ทุกอย่างมีหนทางของมัน ไม่ว่าพล.อ.ประยุทธ์ จะตัดสินรูปแบบไหน โอกาสที่จะกลับมาสืบทอดอำนาจไม่ง่าย

ทางเดียวที่เป็นไปได้ คือ ไปลุ้นศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาในลักษณะที่ขัดแย้งต่อความรู้สึกของประชาชน กลไกกฎหมายของประเทศเรามันจะอยู่ได้อย่างไร สิ่งที่สังคมไทยกำลังตั้งคำถามคือรัฐธรรมนูญฉบับนี้บังคับใช้กับคนอื่น แต่กับคนที่ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ต้องอยู่ใต้กฎหมาย ใต้การบังคับอะไรเลยใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กำลังอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ