อัตราหย่าร้างในไทยพุ่ง 10 ปี 1.17ล้านคู่ ปมพิษศก.-การงาน-โควิด กทม.แชมป์

ไทยเตียงหักพุ่ง 10 ปี 1.17ล้านคู่ ปมพิษศก.-การงาน-โควิด กทม.แชมป์มากสุด ชลบุรี-โคราช อันดับ2,3 หมอห่วงครอบครัวเปราะบาง ชี้แนวโน้มอยู่กินไม่จดทะเบียน

 

วันที่ 17 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม สำนักงานสถิติแห่งชาติเผยแพร่ข้อมูลการหย่าร้างประจำปี 2564 พบว่ามีจำนวน 110,942 คู่ โดยภาคกลางมีการหย่าร้างมากสุด 39,109 คู่ ภาคเหนือ 18,458 คู่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 30,473 คู่ ภาคใต้ 12,644 คู่ และเมื่อแยกเป็นรายจังหวัดพบว่า 15 จังหวัดที่มีการหย่าร้างมากสุด ได้แก่ อันดับที่ 1 กรุงเทพมหานคร 10,258 คู่ จ.ชลบุรี 6,021 คู่ นครราชสีมา 4,191 คู่ ระยอง 3,455 คู่ สมุทรปราการ 3,243 คู่ ปทุมธานี 3,112 คู่ ขอนแก่น 2,951 คู่ เชียงใหม่ 2,779 คู่ อุบลราชธานี 2,677 คู่ อุดรธานี 2,496 คู่ นนทบุรี 2,360 คู่ สงขลา 2,297 คู่ นครศรีธรรมราช 2,020 คู่ สระบุรี 1,888 คู่ พระนครศรีอยุธยา 1,865 คู่ สุราษฎร์ธานี 1,855 คู่ ทั้งนี้ แนวโน้มการหย่าร้างในปี 2565 สูงขึ้นและอาจมากกว่าปี 2565

เนื่องจากข้อมูลรายงานสถิติจำนวนทะเบียนหย่า ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม ปี 2565 ของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบสถิติการหย่าร้างแล้ว 78,995 คู่ อาทิ กรุงเทพมหานคร 9,902 คู่ ชลบุรี 4,025 คู่ นครราชสีมา 3,020 คู่ สมุทรปราการ 2,315 คู่ ขอนแก่น 2,063 คู่ อุดรธานี 1,732 คู่ นนทบุรี 1,410 คู่ ปทุมธานี 2,099 คู่ พระนครศรีอยุธยา 1,480 คู่ นครสวรรค์ 1,105 คู่ ลพบุรี 1,011 คู่ สิงห์บุรี 253 คู่ ชัยนาท 340 สระบุรี 1,242 ชลบุรี 4,025 ระยอง 2,355 คู่ บุรีรัมย์ 1,320 สุรินทร์ 1,085 ศรีสะเกษ 1,076 อุบลราชธานี 1,849 ชัยภูมิ 1,010 คู่ อำนาจเจริญ 329 คู่ บึงกาฬ 437 คู่ หนองบัวลำภู 497 ขอนแก่น 2,063 คู่ อุดรธานี 1,732 คู่ ร้อยเอ็ด 1,224 คู่ เชียงใหม่ 1,807 คู่ ลำพูน 565 คู่ ลำปาง 819 คู่ อุตรดิตถ์ 466 แพร่ คู่ 475 น่าน 507 คู่ พะเยา 493 คู่ เชียงราย 1,304 คู่ แม่ฮ่องสอน 177 คู่ นครสวรรค์ 1,105 คู่ อุทัยธานี 309 คู่ กำแพงเพชร 715 คู่ ตาก 431 คู่ สุโขทัย 601 คู่ พิษณุโลก 1,190 คู่ นครศรีธรรมราช 1,418 คู่ และสุราษฎร์ธานี 1,296 คู่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตาม ในรอบ 10 ปี มีสถิติการหย่าร้าง รวม 1,175,986 คู่ ได้แก่ ปี 2555 จำนวน 111,377 คู่ ปี 2556 จำนวน 107,031 คู่ ปี 2557 จำนวน 111,810 คู่ ปี 2558 จำนวน 117,880 คู่ ปี 2559 จำนวน 118,539 คู่ ปี 2560 จำนวน 121,617 คู่ ปี 2561 จำนวน 127,265 คู่ ปี 2562 จำนวน 128,514 คู่ ปี 2563 จำนวน 121,011 คู่ และปี 2564 จำนวน 110,942 คู่ ส่วนสถิติการจดทะเบียนสมรส ปี 2555 จำนวน 314,338 คู่ ปี 2556 จำนวน 295,519 คู่ ปี 2557 จำนวน 296,258 คู่ ปี 2558 จำนวน 304,392 คู่ ปี 2559 จำนวน 307,746 คู่ ปี 2560 จำนวน 297,501 คู่ ปี 2561 จำนวน 307,936 คู่ ปี 2562 จำนวน 328,875 คู่ ปี 2563 จำนวน 271,344 คู่ และปี 2564 จำนวน 240,979 คู่

ด้าน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ตัวเลขข้างต้นสะท้อนถึงสัมพันธภาพครอบครัวที่มีปัญหาอันมีสาเหตุไม่ว่าจะความเครียดจากภาวะเศรษฐกิจ การทำงาน และโรคโควิด-19 ระบาด ถูกระบายออกกับครอบครัวซึ่งเป็นด่านแรก จะเห็นได้จากการรายงานสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวสูงขึ้นในช่วงโควิด-19 ระบาด ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับครอบครัวเปราะบางและเสี่ยงเปราะบาง หากวิเคราะห์ตัวเลขหย่าร้างส่วนใหญ่น่าจะเป็นการหย่าร้างเพื่อแยกออกจากกัน ส่วนการหย่าร้างแล้วยังอยู่ด้วยกันเพียงไม่อยากมีพันธะทางกฎหมาย เช่น ไปลงทุนทำธุรกิจ ตรงนี้มีอยู่ แต่คาดว่ามีเป็นส่วนน้อย

“อัตราการหย่าร้างที่มากขึ้นฟ้องว่าครอบครัวได้รับผลสะเทือน คิดว่าเราควรให้ความช่วยเหลือกับครอบครัวที่เปราะบางมากขึ้น ทำอย่างไรทำให้ครอบครัวเปราะบางหรือเสี่ยงมีทางออกมากกว่าการหย่าร้าง หรือใช้ความรุนแรง บางครอบครัวไม่หย่าร้างแต่มีความรุนแรง อันนี้ก็ไม่ได้” นพ.ยงยุทธกล่าว และว่า ส่วนมาตรการช่วยเหลือครอบครัว ในเชิงระบบต้องช่วยเหลือครอบครัวที่เปราะบางตั้งแต่เรื่องการหางาน การมีสวัสดิการ ความช่วยเหลือทางสังคม ขั้นตอนการให้คำปรึกษา อย่างในต่างประเทศมีกลไกให้ครอบครัวที่มีปัญหาความรุนแรง เตรียมจะหย่าร้าง เข้ารับการปรึกษาเพื่อให้มีโอกาสยั้งคิด ตั้งสติ หาทางออก บางคู่อาจไม่หย่าร้างกัน และแม้บางคู่สุดท้ายต้องหย่าร้างแต่ก็เป็นการหย่าร้างที่สร้างสรรค์ ยังพูดคุยกันได้ ไม่ทำร้าย ทำลายกัน นี่เป็นกลไกที่ประเทศไทยยังไม่มีและควรมี ส่วนในเชิงบุคคลเสนอว่าควรคิดไตร่ตรองถึงความรุนแรง และสัมพันธภาพที่ร้าวฉ้านนั้นสาเหตุอาจมาจากหลายๆ อย่าง ฉะนั้น ทำอย่างไรที่การหย่าร้างจะไม่มีปัญหาตามมา ซึ่งควรมีมืออาชีพให้คำปรึกษา กลับไปข้อที่อยากให้มีกลไกปรึกษาก่อนการหย่าร้างที่ควรมี

นพ.ยงยุทธกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคนเราอยู่กันโดยไม่แต่งงานกันมากขึ้น จึงเห็นคนที่มีคำนำหน้านางสาว แต่ไม่ได้โสด เช่นเดียวกัยนาย แต่ไม่ได้โสด เพราะคนรุ่นใหม่รู้สึกว่าการอยู่ด้วยกันแบบไม่จดทะเบียนมีปัญหาน้อยกว่า ไม่มีพันธะทางกฎหมาย มีลูกก็ค่อยไปจดทะเบียน เหล่านี้เป็นสถานการณ์ประชากรแบบประเทศในตะวันตก ที่ประเทศไทยกำลังเดินรอยตาม เป็นสิ่งที่ต้องปรับตัวเรียนรู้ว่าต่อไปคนจะอยู่ด้วยกันแบบไม่แต่งงานมากขึ้น ขณะเดียวที่แต่งงานแล้วหย่าจะมีมากขึ้น

ที่ จ.นครราชสีมา นายบัลลังก์ ไวทย์ศิริ นายอำเภอเมืองนครราชสีมา กล่าวว่า สถิติการหย่าร้างของประชากรในเขตอำเภอเมืองนครราชสีมา ย้อนไปในปี 2562 พบว่ามีมาจดทะเบียนหย่าร้างเฉลี่ยปีละประมาณ 1,000 คู่ โดยในปี 2562 จดทะเบียนหย่าร้าง 1,210 คู่, ปี 2563 หย่าร้าง 1,089 คู่, ปี 2564 หย่าร้าง 951 คู่ และในปี 2565 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม 2565 มีหย่าร้างแล้ว 583 คู่ สถิติตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน กลุ่มที่มาจดทะเบียนหย่าร้างส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงอายุ 26-40 ปี หรือคนวัยทำงาน เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 70% ของจำนวนคู่สมรสที่มาหย่าร้างทั้งหมด เป็นกลุ่มวัยทำงานที่เริ่มสร้างตัว รายได้ยังไม่แน่นอน เช่น ทำงานในโรงงาน รับจ้างทั่วไป เมื่อประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจจากโควิด19 ระบาด รวมทั้งสถานการณ์สงคราม เงินเฟ้อ ทำให้สินค้าแพง ค่าครองชีพสูง มีรายจ่ายเพิ่มมากขึ้น ไม่สมดุลกับรายรับที่หามาได้ ทำให้ภาระหนี้สิน เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันขึ้นภายในครอบครัว เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประคองชีวิตคู่ไปไม่ตลอดรอดฝั่ง นำไปสู่การหย่าร้างกันในที่สุด

นายบัลลังก์กล่าวต่อว่า ก่อนที่คู่รักจะจดทะเบียนหย่ากัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจะพยายามไกล่เกลี่ยทั้งสองฝ่ายก่อน แต่ส่วนใหญ่ได้ตัดสินใจมาก่อน และแสดงเจตนายืนยันชัดเจนว่าจะหย่า ทางเจ้าหน้าที่ก็ต้องดำเนินการให้ จึงอยากจะฝากไปถึงคู่สมรสทั้งหลายโดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงาน ขอให้มีครอบครัวเมื่อพร้อม เพราะเมื่อตกลงจะสมรสกันแล้ว ก็ควรมีความพร้อมที่จะดูแลกันด้วย และจากข้อมูลย้อนหลัง พบว่ากลุ่มคู่หย่าประมาณ 60% ขึ้นไป จะมีบุตรด้วยกัน หากหย่าร้างก็ต้องกลายเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว การดูแลบุตรก็จะทำได้ยากมากขึ้น เพราะสถาบันครอบครัวจะไม่เข้มแข็งเท่าคู่สมรสทั่วไป เนื่องจากต้องหารายได้เพียงลำพังและใส่ใจดูแลบุตรไม่เพียงพอ สุดท้ายก็อาจจะเกิดเป็นปัญหาสังคมตามมาได้ ดังนั้น คู่รักจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ด้วย เพราะนอกจากความรักแล้ว ก็ต้องมีวัยวุฒิและวุฒิภาวะที่เพียงพอ จึงจะสามารถประคองชีวิตคู่ให้ราบรื่นได้ อัตราการหย่าร้างก็จะต่ำลง