“จาตุรนต์” ชี้ 3 เหตุผล ปมห้ามเป็นนายกฯเกิน 8 ปี ย้ำ “ประยุทธ์” ต้องพ้นเก้าอี้ 24 ส.ค.นี้

อดีตรองนายกฯ ยก 3 เหตุผลทำความเข้าใจข้อกำหนด เป็นนายกรัฐมนตรีได้แค่ 8 ปี ชี้ “ประยุทธ์” ต้องพ้นตำแหน่ง 24 ส.ค.นี้ ย้ำประชาชนมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ได้ อย่าเอาศาลมาใช้ปิดปากประชาชน

 

วันที่ 16 สิงหาคม 2565 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและสมาชิกพรรคเพื่อไทย ได้ให้ความเห็นในวงเสวนา “8 ปี ประยุทธ์ อยากไปต่อ หรือต้องพอเพียงแค่นี้” ที่พรรคเพื่อไทย ร่วมกับผู้ร่วมเสวนา อาทิ นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย, นายสุทิน คลัง ส.ส.มหาสารคามและประธานวิปฝ่ายค้านว่า

“ห้ามเป็นนายกเกิน 8 ปี” กฎหมายที่มีเจตนารณ์ชัดเจนไว้ใช้สำหรับนายกฯ จากการยึดอำนาจอย่างพลเอกประยุทธ์

ผมจะพูดเหตุผลที่พลเอกประยุทธ์จะต้องครบ 8 ปีในวันที่ 24 สิงหาคมที่จะถึงนี้ ด้วยเหตุผลที่เชื่อมโยงกันทั้งในแง่ของกฎหมาย ในแง่เจตนารมณ์ของการป้องกันการผูกขาดอำนาจที่จะนำไปสู่การทุจริต และในแง่การป้องกันความเสียหายของประเทศที่เกิดจากการบริหารที่ผิดพลาด เพราะทั้งสามมิตินี้มันเชื่อมโยงกัน

📌  แง่กฎหมาย

กติการัฐธรรมนูญบอกว่าเป็นนายกฯ ได้ไม่เกิน 8 ปี คำถามคือพลเอกประยุทธ์เป็นนายกมากี่ปี? จึงอยู่ที่ว่ารัฐธรรมนูญที่บอกว่านายกฯ ต้องเป็นไม่เกิน 8 ปีใช้กับพลเอกประยุทธ์หรือไม่และจะใช้เมื่อไหร่? บางคนบอกว่าก็เป็นมา 8 ปีก็ต้องใช้ตั้งแต่เริ่มมาเมื่อ 24 สิงหาคม 2557

แต่ก็มีที่บอกว่าต้องเริ่มใช้ตอนรัฐธรรมนูญประกาศในปี 2560 จึงสิ้นสุดที่ปี 2568 อีกพวกก็บอกว่าต้องใช้เมื่อพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้งก็คือเมื่อปี 2562 ก็จะนับไปถึงปี 2570 และถ้าถึงปี 2570 นั่นหมายถึงพลเอกประยุทธ์จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีรวมกันทั้งสิ้น 13 ปี!!!

ที่นี้เราดูตามบทเฉพาะกาลถึง ครม. (ที่ทำโดยคสช.ของพลเอกประยุทธ์นี่แหละ) ซึ่งบอกว่าคณะรัฐมนตรีที่เป็นมาก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ให้เป็นครม.ตามรัฐธรรมนูญนี้ คนก็บอกว่าที่เขียนอย่างนี้เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เราก็ไปดูก็ปรากฏว่าเวลาเขาเขียนถึงสภานิติบัญญัติบ้างองค์กรต่างๆบ้างเขาจะบอกเลยว่าให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่สำหรับครม.พลเอกประยุทธ์เขาบอกว่าให้เป็นครม.ตามรัฐธรรมนูญนี้เหมือนกับองคมนตรี

บทเฉพาะกาลที่ว่าเกี่ยวกับคณะองคมนตรี บอกว่าที่เป็นอยู่ก่อนวันประกาศรัฐธรรมนูญให้เป็นคณะองคมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้ เวลาเราถามว่าแล้วองคมนตรีคณะนี้เป็นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ เราจะต้องไม่บอกว่าก็เป็นในวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ เพราะท่านไม่เคยเลิก ยุติไป หรือไม่มีการเลือกใหม่ อันนี้เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าคำว่าเป็นองค์กรอะไร หรือเป็นคณะอะไรตามรัฐธรรมนูญนี้…แปลว่าอะไร

ที่นี้คณะรัฐมนตรีที่บอกว่าก่อนการประกาศใช้ให้เป็นคณะรัฐมนตรีตามนี้ มีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญใหม่นี้กับคณะรัฐมนตรีนี้หรือไม่ ซึ่งก็จะมีข้อยกเว้น ทำนองว่าอะไรที่คุณขาดคุณสมบัติก็จะเขียนข้อยกเว้นไว้ให้ แต่ในกรณีนี้เขาไม่ยกเว้นเรื่อง 8 ปี จึงถือว่าคณะรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ นับตั้งแต่เป็น คสช.เป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้ นับตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2557 และไม่มีข้อยกเว้น

📌  แง่เจตนารมณ์ของการป้องกันการผูกขาดอำนาจหรือตรวจสอบไม่ได้ จนนำไปสู่การทุจริต

ถ้าพูดถึงเจตนารมณ์ของผู้ร่าง (ซึ่งตอนนี้ผู้ร่างบางคนขอเปลี่ยนไป บางคนก็ไม่กลับมาชี้แจงให้ชัดเจน) แต่เจตนารมณ์มันชัดเจนเลยว่า มันโยงมาตรานี้และใช้มาตรานี้โดยอนุโลม แสดงว่าต้องเป็นครม. นี้ถึงเป็นครม. มาตั้งแต่ชุดแรก อันนี้คือเจตนารมณ์แบบหนึ่ง

แต่เจตนารมณ์อีกแบบหนึ่งทำไมเขียนเรื่อง 8 ปี ก็คือเขาต้องการป้องกันการผูกขาดอำนาจและการสืบทอดอำนาจที่ยาวนานเกินไป มันจะทุจริต ที่สำคัญก็คือเขาป้องกันการผูกขาดอำนาจที่ไม่มีการตรวจสอบด้วย

ในแง่นี้เรามองย้อนไปที่พลเอกประยุทธ์ตอนเป็นหัวหน้าคสช. มีอำนาจเหนือกฎหมายทั้งหลายทั้งปวง เหนือกว่าอํานาจอธิปไตยทุกฝ่าย ส่วนพลเอกประยุทธ์ก็มีหมวกอีกหนึ่ง คือเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย มันก็ตรวจสอบไม่ได้หมด แล้วคสช.และรัฐบาลนั้นได้เข้าไปแทรกแซงองค์กรตรวจสอบทั้งหลาย และได้วางรากฐานหรือใช้อำนาจนั้นให้เป็นประโยชน์ต่อการที่ทำให้องค์กรอิสระในเวลาต่อมาเมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้วหรือแม้แต่หลังการเลือกตั้งก็ยังถูกครอบงำแทรกแซงโดยผู้มีอำนาจ เห็นได้จาก สว. ก็มาจากหัวหน้าคสช. ซึ่ง สว.ก็มาสรรหาหรือรับรององค์กรอิสระ แม้แต่ประธานศาลปกครอง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็เข้ามาครอบงำไว้หมด

ดังนั้นถ้าจะป้องกันการผูกขาดอำนาจ สืบทอดอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้ ดังเจตนารมณ์นี้ก็ต้องนับตั้งแต่ที่พลเอกประยุทธ์ตรวจสอบไม่ได้ที่สุด เรื่อยมาถึงปัจจุบัน

อีกอย่างหนึ่งถ้าดูจากประวัติศาสตร์การเมืองประเทศไทย นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งไม่เคยมีใครอยู่ถึง 8 ปีเพราะความไม่แน่นอนของระบบการเมือง

บางพรรคถอนตัวบ้าง มีการยุบสภากันไปบ้าง และมีการยึดอำนาจ ในอดีตเขาจึงมีแต่จะคิดว่าจะร่างรัฐธรรมนูญอย่างไรเพื่อทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีเสถียรภาพ เช่นรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งหาทางให้รัฐบาลนั้นอยู่ได้นานมากขึ้น มีเสถียรภาพมากขึ้น

แต่สำหรับประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศไทยอย่างน้อย 3 ครั้งที่นายกรัฐมนตรีอยู่เกิน 8 ปีเชื่อมโยงกับการยึดอำนาจ เชื่อมโยงกับการมีสว.ที่มาจากผู้มีอำนาจแต่งตั้งทั้งสิ้น ถ้าจะตอบโจทย์การเมืองไทยในเรื่องการผูกขาดอำนาจก็คือต้องเขียนไว้ป้องกันอย่างคนอย่างพลเอกประยุทธ์นี่แหละ !!!

📌  ในแง่การป้องกันความเสียหายของประเทศที่เกิดจากการบริหารที่ผิดพลาด

ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ใหญ่มากซึ่งมันเป็นจุดอ่อนที่สำคัญของพลเอกประยุทธ์ ข้อนี้มันนอกเหนือข้อกฎหมาย แต่เราจะต้องพิจารณาประโยชน์ของบ้านเมืองก็ต้องมีตัวนี้ประกอบ ซึ่งก็คือว่านายกฯ แบบพลเอกประยุทธ์ทำลายหลักนิติรัฐนิติธรรมอย่างรุนแรง ตรวจสอบไม่ได้ ไม่เข้าใจการบริหารเศรษฐกิจ แต่ใช้ความมั่นคงทางทหารบริหารเศรษฐกิจและโควิด-19 จนทำให้โครงการลงทุนจากต่างประเทศหยุดชะงัก เพราะความไม่น่าเชื่อถือของพลเอกประยุทธ์ และอีกสารพัดปัญหาที่เกิดขึ้น

และถ้าอยู่ต่อไปปัญหาก็จะมากขึ้นไปกว่านี้อีก

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องอารมณ์ ไม่ใช่เป็นเรื่องความรู้สึกพอใจหรือไม่พอใจ ชอบหรือไม่ชอบพลเอกประยุทธ์ แต่เป็นเรื่องทั้งข้อกฎหมาย เรื่องเหตุผลทางประวัติศาสตร์ เหตุผลทางเจตนารมณ์ของการร่างรัฐธรรมนูญข้อนี้ และเหตุผลในแง่การคำนึงถึงความเสียหายของประเทศ

 

📌 พลเอกประยุทธ์จึงจะต้องพ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 24 สิงหาคมที่จะถึงนี้

ทั้งนี้ นายจาตุรนต์กล่าวว่า สุดท้ายนี้ผลอยากย้ำว่าที่เขามักจะปิดปากประชาชนและผู้วิจารณ์ ว่าเรื่องนี้ให้ไปตัดสินที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าประชาชนคนไทยมีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับพิจารณาแล้วหรือไม่ แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญรับเรื่องไปแล้วประชาชนก็ยังสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ถ้าทำโดยสุจริต ก็ยังแสดงความคิดเห็นได้ตลอดไป อย่าไปเชื่อพวกที่ชอบเอาเรื่องการขึ้นศาลมาปิดปากประชาชน