บรรยง เขียนบทความ ซัด แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ล่วงมาครบ 5 ปี มรดกอุบาทว์ของ คสช.

บรรยง เขียนบทความ ซัด แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ล่วงมาครบ 5 ปี มรดกอุบาทว์ของ คสช.

 

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร อดีตกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เผยแพร่ข้อเขียนผ่านเฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich เรื่อง โซ่ตรวนล่ามชาติ……ถึงเวลาขันชนักอีกรอบแล้วครับ…  ระบุว่า

ผมค่อนข้างแปลกใจมากที่ทั้งนักวิชาการ นักการเมือง และสื่อ ลืมเรื่อง “แผนยุทธศาสตร์ชาติยี่สิบปี” ซึ่งเป็นมรดกอุบาทว์ของ คสช.และเป็นห่วงโซ่ที่รัฐธรรมนูญฉบับพิลึกกึกกือ 2560 สร้างไว้

ตามที่รัฐธรรมนูญที่ประชาชนหลงให้ประชามติรับรองอย่างล้นหลามได้กำหนดให้เราต้องมีแผนยุทธศาสตร์ชาติยี่สิบปี รวมทั้งแผนปฏิรูปประเทศ 12 ด้าน บังคับไว้ให้รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานต้องปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่องไปยี่สิบปี และถ้าใครไม่ปฏิบัติตามต้องถูกให้ระงับการทำหน้าที่และอาจถูกดำเนินคดีเอาผิดได้ และได้มีการออก พ.ร.บ. 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ กับ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดําเนินการปฏิรูปประเทศ 2560 ออกมากำกับ กับได้มีการแต่งตั้งกรรมการชุดต่างๆ ถึง 19 ชุด กว่าสามร้อยคน ให้ดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว

การล่วงเลยมาห้าปี ปรากฏว่า…

-เหตุการณ์ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดคะเนไว้เป็นส่วนใหญ่ เช่น ไม่เคยคาดการณ์ว่าจะมีโรคระบาดร้ายแรง ไม่คาดว่าจะมีสงคราม ไม่คาดว่าจะมีเงินเฟ้อสูง ไม่คาดว่าจะเกิด Recession เกิด Stagflation เรียกได้ว่าการคาดคะเนที่แยกจ่ายให้คณะวางแผนยึดเป็นแม่แบบนั้น คาดการณ์ผิดแทบทุกอย่างโดยสิ้นเชิง

-ทั้งรัฐบาล ทั้งหน่วยงานของรัฐแทบทุกหน่วย ไม่มีใครสนใจปฏิบัติตามแผนทั้งหลายที่มีรวบรวมได้ร่วมสามพันหน้ากระดาษเลย เพราะ ถึงแม้อยากจะทำก็ทำไม่ได้เพราะไม่มีทรัพยากรพอเพียง (เช่น เอาเท่าที่ผมจำได้ ไม่มีการออก พ.ร.บ.แก้ไขความเหลื่อมล้ำแห่งชาติ ไม่มีการจัดตั้งสำนักงานแก้ไขความเหลื่อมล้ำแห่งชาติ ซึ่งถูกระบุไว้ว่าเป็นเรื่องสำคัญในแผนปฏิรูป) ซึ่งการไม่ทำตามแผนนั้นเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างชัดแจ้ง

-ตามกฎหมายระบุว่า คณะกรรมการทั้งหลายมีหน้าที่ติดตามตรวจสอบและรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อวุฒิสภา ว่ามีการปฏิบัติตามแผนอย่างเคร่งครัดหรือไม่ ซึ่งถ้าสภาใดสภาหนึ่งมีความเห็นว่าไม่ได้ทำ ก็จะส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.พิจารณา มีอำนาจสั่งให้พักการปฏิบัติงาน และดำเนินคดีต่อได้ (เรียกว่า ปลดรัฐบาลได้ครับ)

-ที่แปลกใจก็คือ มีการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างชัดแจ้งแต่ไม่เห็นมีการทักท้วงใดๆ เลย ทั้งจากนักวิชาการ (ทั้งที่เป็นบริกร และไม่ใช่บริกร) สื่อ หรือนักการเมืองฝ่ายค้าน (ทั้งๆ ที่มีอภิปรายไม่ไว้วางใจหลายครั้ง)

มันดูเหมือนทุกคนจะลืมไปหมดแล้วว่าเรามีโซ่ตรวนใหญ่นี้ล่ามชาติอยู่ (ปล่อยให้ผมซึ่งป่วย…นอนโรงพยาบาลเกือบสามเดือนมานั่งจำอยู่คนเดียว)

ทีนี้ขอเข้าเรื่องสำคัญนะครับ…

สิ้นเดือนนี้ และภายในเดือนหน้า กรรมการทั้ง 19 ชุด สามร้อยกว่าคนที่มีอำนาจล็อกชาติมีอำนาจล้มรัฐบาลได้จะพ้นจากตำแหน่งตามวาระ (ห้าปี) พร้อมๆ กันทั้งหมด …ซึ่งนี่ก็เป็นเรื่องบ้องตื้น วิสัยทัศน์สั้นของเหล่าเนติบริกรที่วางกฎการปฏิรูปแบบลืมคำนึงถึงการต่อเนื่องใดๆ ไว้แบบนี้

ซึ่งตามกฎหมายระบุให้ ครม.เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการคณะใหม่ทุกชุด ซึ่งก็ย่อมหมายความว่า ค.ร.ม.ปัจจุบันจะมีอำนาจล็อกชาติต่อไปได้อีกห้าปีเป็นอย่างน้อย ถ้าแพ้เลือกตั้งคราวหน้าก็ปลดรัฐบาลได้ (และถ้าอยากล็อกไปอีกยี่สิบปีก็มีอำนาจปรับแผนใหญ่ได้)

พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหลาย ทั้งคุณหนู คุณแมลงสาบ ลุงกำนัน อย่าลืมเข้าไปต่อรองขอโควต้าในคณะชุดต่างๆ นะครับ ไม่งั้นพอเลือกตั้งเสร็จก็ต้องยอมเป็นเบี้ยล่างให้เขาขี่ต่อไปเหมือนห้าปีที่ผ่านมานะครับ

ส่วนประชาชนทั้งหลายอย่างพวกเราก็คงได้แต่นั่งมองตาปริบๆ ต้องอยู่ในชาติที่เขาล็อกต่อไปอีกพักใหญ่ จนกว่าจะสามารถแก้รัฐธรรมนูญยกเลิกไอ้กฎหมายอุบาทว์สองฉบับนี้ไปได้

แต่อย่างน้อยเราก็น่าจะได้บทเรียนนะครับว่า ต่อไปอย่าไปลงประชามติอะไรโดยไม่ได้ศึกษาให้รอบคอบ