“ธีรัจชัย” เดือด! ฉะพวกตีความ “ประยุทธ์” อยู่ยาว ทำผิดหลักการปรัชญากฎหมาย ชี้ เป็นการนำกฎหมายอาญามาทับซ้อนกฎหมายมหาชน

“ธีรัจชัย ก.ก.” เดือด ฉะพวกตีความ “บิ๊กตู่” อยู่ยาว ทำผิดหลักการปรัชญากฎหมาย ชี้ เป็นการนำกฎหมายอาญามาทับซ้อนกฎหมายมหาชน ซัดบ้านเมืองขาดนิติรัฐ ขาดอนาคต เพราะมีคนต้องการควบรวมอำนาจ
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์เรื่องการยื่นตีความวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะดำรงตำแหน่งครบวาระ 8 ปีว่า จะยื่นด้วยกันพร้อมกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน ถือว่าร่วมกัน เป็นการให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ตีความก่อน ส่วนผลจะเป็นอย่างไร ค่อยว่ากันอีกทีหนึ่ง

เมื่อถามว่าจะยื่นเรื่องขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีเลยหรือไม่ นายธีรัจชัย กล่าวว่า ขอคู่กันไป ต้องขอให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ไปด้วย ในส่วนของกระบวนการตั้งแต่วันที่ 17-24 สิงหาคม จะต้องดูว่าจะมีกระบวนการส่งต่อไปอย่างไร จะมีกระบวนการสภา หรือกระบวนการที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเลย ก็ต้องว่ากันไป ดูสถานการณ์ ณ ขณะนั้นก่อน

เมื่อถามว่า หากศาลวินิจฉัยเกินวันที่ 24 สิงหาคม นายธีรัจชัย กล่าวว่า ต้องดูกันอีกครั้ง ว่าเป็นอย่างไร เพราะมันอยู่ที่การวินิจฉัย ตอนนี้มีความเห็นเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายที่ 1 เห็นว่าวันที่รัฐธรรมนูญบังคับใช้กับวันเลือกตั้ง เริ่มนับปลายปี แต่ฝ่ายที่ 2 เช่นฝ่ายค้านเห็นว่าควรนับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2557 หากนับ 8 ปี จะครบในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2565 วิธีการให้เหตุผลต่างกัน เหตุผลที่พรรคฝ่ายค้านหรือตนเห็นว่า ควรจะนับวันที่ 24 สิงหาคม 2557 เนื่องจากว่าเรื่องของการตีความ การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 วรรค 4 ไม่สามารถดำรงตำแหน่งต่อเนื่องกันเกิน 8 ปี และมาตรา 264 รัฐมนตรีที่ปฏิบัติการก่อนหน้านี้ ถือว่าเป็นรัฐมนตรีตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นสิ่งล็อคไว้ ไม่ให้ดำรงตำแหน่งต่อเนื่อง

อีกทั้งในส่วนของเอกสารในการประชุมคณะกรรมาธิการร่างรับธรรมนูญ ฉบับ 2560 นายมีชัย ฤชุพัยธ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ปี2560 และ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตรองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 คนที่หนึ่ง พูดในแนวทางเดียวกัน ว่า เป็นการต่อเนื่องสอดคล้องคำพูดในส่วนของเอกสารที่มีการเผยแพร่ออกมา เอกสารนั้นหมายถึงเอกสารเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 จะบอกว่าเป็นเรื่องส่วนตัวก็คงไม่ได้ เพราะการพิจารณาระหว่างการร่างรับธรรมนูญ 2560 เรื่องนี้เป็นเรื่องข้อถกเถียง มีการโต้แย้งในเรื่องนี้ ก็คงต้องเป้นไปตามนั้น

นายธีรัจชัย กล่าวว่า อีกส่วนหนึ่งที่ลึกซึ้งกว่านั้น คือวิธีการตีความกฎหมาย หลีกตีความกฎหมาย มีฝ่ายหนึ่งกล่าวว่าไม่ให้ใช้วันที่ 24 สิงหาคม 2557 เริ่มนับการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี เพราะกฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง แต่ต้องทำความเข้าใจว่า หลักตีความกฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง เป็นเรื่องของกฎหมายอาญา ปรัชญากฎหมายอาญา คือเน้นการกระทำเป็นหลัก ต้องมีดุลยภาคระหว่างโทษที่จะทำและความผิดที่จะลงโทษ ซึ่งเน้นในเรื่องของการกระทำ แต่หากไม่ใช่เรื่องของการกระทำมันไม่ใช่ แน่นอนว่าแตกต่างจากกฎหมายมหาชน เพราะกฎหมายมหาชน ไม่มีการกระทำก็ผิดได้ ยกตัวอย่างเช่น กรณีของ นายสิระ เจนจาคะ อดีต ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่มีการดำเนินคดีเรื่องคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ส. ซึ่งคุณสมบัติที่ไม่ครบคือเรื่องของการเคยต้องโทษ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เป็นการไม่กระทำที่สามารถเอาผิดได้ เป็นเรื่องของคุณสมบัติไม่ผ่าน ก็ไม่สามารถเป็น ส.ส.ได้ ย้อนกลับมาที่หลักกฎหมายมหาชน ที่มีปรัชญาว่าด้วยเรื่องดุลยภาคระหว่างประโยชน์ฐานะกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ฝ่ายที่อ้างว่าไม่สามารถมีผลย้อนหลังตามกฎหมายต้องคำนึงเรื่องสิทธิของประชาชนด้วย เรื่องของประโยชน์ฐานะจำเป็นต้องควบคุมอำนาจของฝ่ายบริหาร ตามหลักกฎหมายมหาชนแล้วฝ่ายบริหารต้องถูกควบคุมอำนาจ ถ้าไม่ควบคุมก็จะทำให้อำนาจของฝ่ายบริหารมาก นำไปสู่การลิดรอนสิทธิของประชาชน ในทางกลับการหากควบคุมอำนาจฝ่ายบริหารมาก ประชาชนจะมีเสรีภาพมากขึ้น

นายธีรัจชัย กล่าวว่า การตีความของฝ่ายที่พยายามบอกว่า วาระดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี อยู่ตั้งแต่เริ่มต้นใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญ 2560 หรือ เริ่มตั้งแต่มีการเลือกตั้งปี 2562 มันกลับกับหลักกฎหมายโดยสิ้นเชิง กลายเป็นคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้มีอำนาจ โดยหลักการแล้วการใช้อำนาจควรถูกควบคุม การควบคุมควรกระทำโดยการดูเรื่องคุณสมบัติก่อนการเข้าดำรงตำแหน่ง หรือ เรื่องของระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง หรือเรื่องอื่นๆ ก็แล้วแต่ ต้องถูกควบคุมให้จำกัดอำนาจ ด้วยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกนำมาใช้ว่าตามมาตรา 158 กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้เกิน 8 ปี ไม่ว่าจะต่อเนื่องหรือไม่ก็ตาม แสดงว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2560 ต้องการควบคุมไม่ให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งมีอำนาจยาวนานเกินไป เป็นการควบคุมอำนาจ การไปคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของนายกรัฐมนตรีให้ดำรงตำแหน่งได้ เป็นการใช้กฎหมายอย่างคลาดเคลื่อน เป็นการใช้หลักกฎหมายอาญาที่เป้นเรื่องการกระทำมาใช้กับกฎหมายมหาชนมันคลาดเคลื่อนต่อการตีความ เป็นการอ้างแบบสับสนกลับหลักไปทั้งหมด การอ้างว่ากฎหมายต้องมีผลย้อนหลังเป็นคุณเป็นโทษ มันคลาดเคลื่อนเรื่องของการกระทำ เรื่องของการควบรวมอำนาจ

นายธีรัจชัย กล่าวว่า ดังนั้นการตีความหลักกฎหมายมหาชนกับกฎหมายอาญามีความแตกต่างกันมาก ผู้อ้างเรื่องดังกล่าวมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือเปล่า หรือมีวาระซ่อนเร้นอะไรหรือเปล่า มาตีความให้มันผิดเพี้ยนไปจากหลักทฤษฎีทางกฎหมายอย่างที่ควรจะเป็น

นายธีรัจชัย กล่าวว่า ประเทศไทยมีนักนิติศาสตร์อยู่ 2 ประเภท 1.เป็นนักตีความกฎหมาย ที่ไม่ใช่วิศกร หรือสถาปนิก ที่จะออกแบบโครงสร้างกฎหมายของประเทศ ที่ยุติธรรม ตามทฤษฎีกฎหมายมหาชน เป็นนักนิติอักษรศาสตร์ เหมือนช่างที่ซ่อมรถ จะปะเฉพาะจุด โดยไม่คำนึงถึงการวางโครงสร้างรถที่แข็งแรง ไม่คำนึงถึงเครื่องยนตร์เป็นอย่างไร กลไกลเป็นอย่างไร ทำให้ตีความโดยไม่คำนึงถึงสิ่งที่กฎหมายควรจะเป็น ประเทศชาติจะพัฒนาได้อย่างไร เป็นการตีความตามหลักเจตจำนงของผู้มีอำนาจ ที่ตนเข้าไปมีส่วนในการตีความ เมื่อมีนักนิติศาสตร์เหล่านั้น ทำให้ประเทศถูกเหนี่ยวรั้ง ไม่มีการพัฒนาค่อนข้างเยอะ 2.นักนิติศาสตร์ แบบวิศวกร หรือสถาปนิก เป็นคนที่วางโครงสร้างกฎหมาย วางโครงสร้างประเทศ ซึ่งมีน้อย

นายธีรัจชัย กล่าวว่า การตีความกฎหมายมหาชนให้ผิดเพี้ยน ผิดกับหลักการ เหมือนการเอาเป็ดมาเป็นไก่ เอาไก่มาเป็นเป็ด เป็นคาดเคลื่อนขัดต่อหลักการณ์ที่พึงจะมี ขัดต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง การโต้แย้งให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ต่อไป ทั้งๆ ที่ผิดหลักมหาชน ทำให้ตนไม่สบายใจมานานแล้ว

นายธีรัจชัย ย้ำว่า องค์กรที่จะมาวินิจฉัยเรื่องการดำรงตำแหน่งวาระนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี จำเป็นต้องให้เหตุผลที่มีน้ำหนักมากพอ มิฉะนั้นจะถูกจารึกต่อไป ทำให้เสียหาย การตีความกฎหมายคลาดเคลื่อนเป็นสิ่งทีขัดต่อหลักที่ดีที่นักกฎหมายพึงจะกระทำ