“ชำนาญ-สมชัย” ชวนมองสิ่งผิดปกติ ในวันลงมติ พรป.เลือกตั้ง ส.ส. ก่อนจบลงด้วยสภาล่ม

วันที่ 11 สิงหาคม 2565 จากเหตุการณ์สภาล่ม ในช่วงการประชุมร่วม 2  สภาในการพิจารณาวาระ พรป.เลือกตั้งของ ส.ส. ซึ่งกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ แต่ก็นำไปสู่การปิดฉากของสูตรหาร 500 ลงไปด้วยนั้น ปรากฎว่า นายชำนาญ จันทร์เรือง แกนนำคณะก้าวหน้าและนักวิชาการด้านการเมืองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ และนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ร่วมแลกเปลี่ยนให้ความเห็นต่อเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านออนไลน์มติชนสุดสัปดาห์ และมีเนื้อหาที่น่าสนใจ มติชนสุดสัปดาห์จึงนำเนื้อหาส่วนหนึ่งมาเผยแพร่ ดังนี้

โดยนายชำนาญให้ข้อสังเกตว่า ตอนนับองค์ประชุมก่อนลงคะแนนนั้นองค์ประชุมครบแล้ว (400กว่าเสียง น่าจะ403) แต่ประธานพักการประชุมเพื่อไปเข้าห้องน้ำ เมื่อกลับมาเปิดให้ลงคะแนนว่าเห็นด้วยไม่เห็นด้วยหรืองดออกเสียง(ไม่ใช่นับองค์ประชุม)

แต่สมาชิกฯไม่รู้เลยมาลงคะแนนไม่ครบ ประธานฯเลยต้องปิดการประชุมโดยไม่มีการขานคะแนน/ทางออกก็คือเรียกประชุมใหม่ในวันจันทร์ที่ 15 ซึ่งก็อยู่ที่ว่าจะทำหรือไม่น่ะครับ

นายชำนาญยังระบุอีกว่า ผมเข้าใจว่าผลคะแนนที่ไม่ได้อ่านนั้น ฝ่านกมธ.ที่ไปแก้มานั้นแพ้ ทำให้มาตราใหม่นั้นขัดกับที่แก้ไปแล้ว ทำให้เกิดทางตัน เลยต้องปิดประชุม(เป็นอำนาจประธานฯ)

ด้านนายสมชัย ได้แสดงความเห็นพร้อมอ้างอิงเอกสารประชาสัมพันธ์ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ออกมาเผยแพร่เกี่ยวกับผลการประชุมรัฐสภาใน 4 บรรทัดสุดท้าย เขียนดังนี้

“จากนั้นที่ประชุมใช้วิธีขานชื่อทีละคน เพื่อตรวจสอบองค์ประชุม ผลปรากฏว่า องค์ประชุมมีจำนวน 403 คน

ประธานฯ สั่งปิดประชุมเวลา 16.15 นาฬิกา

ปิดประชุมเวลา 16.15 น.”

แปลความหมายอย่างไร

1. การตรวจสอบองค์ประชุมก่อนลงมติ มาตรา 24/1 มีองค์ประชุมครบ เกินกว่าครึ่งหนึ่ง (เกิน 364 เสียง)

2. ในขั้นของการลงมติ ที่สมาชิกรัฐสภา ต้องกดปุ่มลงมติ อย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 อย่าง คือ เห็นด้วยกับมาตราใหม่ ไม่เห็นด้วย และ งดออกเสียง ผลการลงมติด้วยการกดบัตร มีผู้กดปุ่มลงมติรวมทั้ง 3 อย่าง เพียง 342 คน ขาดไป 22 คน

3. ประธานจึงเลือกใช้วิธีการปิดประชุม ในเวลา 16.15 น.

4. สถานะทางกฎหมายของร่าง พ.ร.ป. ส.ส. จึงมีสถานะค้างในขั้นตอนการลงมติ มาตรา 24/1 หากประธานรัฐสภา เรียกประชุมใหม่ได้ทันในภายในวันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม 2565 ก็สามารถมาลงมติต่อได้

5. แต่ถ้าไม่ทัน เท่ากับ รัฐสภาไม่สามารถผ่านกฎหมายสำคัญได้ภายในกรอบ 180 วัน เป็นผลให้ประธานรัฐสภาต้องหยิบร่างของ ครม. ถือเป็นร่างที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา เพื่อส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งให้ความเห็นใน 10 วัน

แล้วแต่ใจประธาน ชวน หลีกภัย แล้ว ตอนนี้ว่า ท่านจะเอาอย่างไรต่อ

จากนั้น นายชำนาญ ได้เสริมความเห็นของนายสมชัยถึงการทำงานของประธานวุฒิสภา ในฐานะประธานที่ประชุมในช่วงเวลาดังกล่าวว่า

ข้อผิดพลาดของประธานฯ(พรเพชร – พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา)

1.ไม่แจ้งให้ผู้เข้าประชุมฯอยู่ต่อเพื่อลงมติทันที(หลังจากขอพักเข้าห้องน้ำ) จึงทำให้ผู้เข้าไปที่อื่นจนกลับมาลงคะแนนไม่ทัน

2.ไม่ได้อ่านจำนวนคะแนนเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยและงดออกเสียงว่ามีจำนวนเท่าไหร่ แล้วต้องบอกด้วยว่ารวมกันไม่ครบองค์ประชุมตามข้อ 54 ของข้อบังคับการประชุมรัฐสภา จึงต้องปิดประชุม ทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปเป็นอันมาก

3.ประธานชวนและรองประธานพรเพชรจะหารือกันวันนี้ว่าการเปิดประชุมอีกครั้งก่อนครบกำหนดวันที่ 15 ส.ค.มีความเป็นไปได้หรือไม่ เปิดแล้วจะมีคนมาประชุมหรือไม่น่ะครับ