เอกชนมองบวก “จีน-ไต้หวัน” ขัดแย้ง จับตา TSMC บิ๊กผลิตชิป ซบไทย

ส.อ.ท. จับตา TSMC บิ๊กธุรกิจไต้หวันกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์จ้องซบไทย จี้รัฐเร่งโครงสร้างพื้นฐานเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ค. ปรับตัวขึ้นเดือนที่ 2 แตะระดับ 89 ส่งออกขยายตัว ใช้จ่ายในประเทศคึก จับตาต้นทุนการผลิตจากราคาพลังงานยังคงสูง รวมถึงการขึ้นค่าแรง

 

วันที่ 10 สิงหาคม 2565 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวันในขณะนี้ ส่งผลกระทบทางด้านความรู้สึก และอาจขยายไปสู่การขาดแคลนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะการผลิตเซมิคอนดักเตอร์(ชิป) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์และอื่น ๆ

ขณะเดียวกัน ก็ยังมีปัจจัยบวกที่จะส่งผลดีต่อไทย โดยเฉพาะบริษัท TSMC ของไต้หวัน ที่มีการลงทุนในต่างประเทศบางส่วน รวมถึงในสิงคโปร์ และเป็นโอกาสดีที่ไทยจะใช้จังหวะนี้ชักจูงการลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทยเพิ่ม เพื่อกระจายความเสี่ยงหากประเทศใดประเทศหนึ่งมีปัญหาเกิดขึ้น จึงไม่ควรลงทุนเพียงประเทศเดียว

ดังนั้น ไทยเอง 1 ในข้อเสนอของเอกชน ก็คือรัฐต้องเร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด และเชื่อมโยงพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค เหมือน EEC ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สามารถดึงการลงทุนเข้ามาได้อย่างมหาศาล

สำหรับผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.ค. 2565 อยู่ที่ระดับ 89.0 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 86.3 ในเดือน มิ.ย. โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน มีปัจจัยบวกจากภาคการผลิตที่ขยายตัวจากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ทั้งในกลุ่มสินค้าคงทนและสินค้าอุปโภคบริโภค จากตลาดในประเทศและตลาดส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย

ขณะที่การผ่อนคลายล็อกดาวน์เมืองสำคัญของจีนส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของไทย ทั้งนี้ การเปิดประเทศและการยกเลิก Thailand Pass ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศเพิ่มขึ้นและช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ขณะที่การอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก นอกจากนี้ รายได้ในภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อกำลังซื้อในส่วนภูมิภาค

สอท

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนของผู้ประกอบการลดลง เนื่องจากปัญหาราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงาน รวมถึงค่าขนส่ง ที่ยังทรงตัวในระดับสูง แม้ราคาน้ำมันตลาดโลกในเดือน ก.ค.จะทยอยปรับตัวลดลงก็ตาม ขณะที่ปัญหาเงินเฟ้อยังกดดันกำลังซื้อของประชาชน นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคก่อสร้างชะลอตัวลง เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน

จึงคาดการณ์ว่าดัชนีฯ 3 เดือนข้างหน้า จะอยู่ที่ระดับ 98.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 97.5 ในเดือน มิ.ย. จากการฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลกับการกลับมาระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่

รวมทั้งแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะกระทบต้นทุนด้านการเงิน ตลอดจนสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังมีความไม่แน่นอน ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบรวมถึงเศรษฐกิจโลก

จึงเสนอแนะต่อภาครัฐคือ ให้ช่วยดูแลผลกระทบด้านการขาดแคลนห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Shortage) จากกรณีข้อพิพาทบริเวณช่องแคบไต้หวัน

รวมถึงให้ภาครัฐพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ รวมทั้งค่าไฟฟ้าอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้กระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย และเร่งออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่ได้รับผลกระทบจากกรณีรัฐบาลเมียนมาออกประกาศระงับการชำระหนี้ต่างประเทศ เช่น ชะลอการชำระหนี้ หรือให้ชำระเฉพาะดอกเบี้ย ยกเว้นเงินต้น การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำช่วยเหลือนักลงทุนไทยและการให้สถาบันทางการเงินไทยในเมียนมาเข้ามาช่วยเหลือในการรับชำระหนี้เป็นเงินจ๊าด