สุพจน์ ไข่มุกด์ แจงบันทึกไม่ใช่มติกรธ. อ้างไม่ได้ ต้องฟังศาล ส่วนตัว 8 ปีนับวันโปรดเกล้า

สุพจน์ ไข่มุกด์ แจงบันทึกไม่ใช่มติกรธ. อ้างไม่ได้ ต้องฟังศาล ส่วนตัว 8 ปีนับวันโปรดเกล้า

 

วันที่ 10 สิงหาคม นายสุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตรองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คนที่หนึ่ง ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์” ถึงกรณีเอกสารระบุเป็นบันทึกการประชุมกรธ. ครั้งที่ 500 เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2561 ซึ่งอ้างถึงความเห็นของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกมธ. และ นายสุพจน์ ให้ความเห็นต่อประเด็นวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ว่า เอกสารดังกล่าวเป็นบันทึกการประชุม ซึ่งเปิดเผยไม่ใช่บันทึกลับอะไร เผยแพร่ในห้องสมุดทั่วประเทศไทย รวมถึงห้องสมุดรัฐสภาด้วย ใครก็อ่านดูได้ อย่างไรก็ตาม การยกความเห็นตน และนายมีชัยแบบเฉพาะเจาะจงนั้น คิดว่า เขาต้องการนำตำแหน่งมาเป็นเครื่องให้ดึดดูดความสนใจมากกว่า

“ซึ่งการสนทนา เป็นการคุยกันร่วม 30 คนไม่ใช่ 2 คน เพราะกรธ. 21 คน ที่ปรึกษาอีก 10 คน การประชุมจึงไม่ใช่ 2 คนคุยกัน แต่เป็นทั้งคณะ ดังนั้น การจับนำความเห็นแค่ 2 คน คงจะไม่ถูกต้อง เพราะเอกสารเป็นบันทึกการประชุม ไม่ใช่มติ ซึ่งบันทึกการประชุมถือว่ามีความหลากหลายมาก ซึ่งถ้าดูตามมาตรา 158 จะบอกทั้งหมด มีหลายวรรค หลายตอน การจะมาเจาะจงเฉาพะตอนใดตอนหนึ่งมันไม่ถูกต้อง” นายสุพจน์ ระบุ 

นายสุพจน์ กล่าวต่อว่า สำหรับความเห็นของตนต่อประเด็นนี้ ขอย้ำว่ากระบวนการได้มาของนายกฯ​ตามรับธรรมนูญ มาตรา 158 และ มาตรา 159 มีขั้นตอนที่ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อว่าที่นายกฯ 3 ชื่อ ให้ประชาชนเลือกพรรค หากพรรคนั้นได้รับเลือกมาเป็นเสียงข้างมากในสภา เมื่อได้ชื่อนายกก็ให้ประธานสภาเสนอชื่อทูลเกล้าฯแต่งตั้ง เป็นนายกตามรัฐธรรมนูญปี 2560 รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ที่มีขั้นตอนและมีประชามติด้วย ครบถ้วนตามกระบวนการ ส่วนที่บอกว่า จะนับตอนไหนมันเห็นชัดอยู่แล้วต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่รัฐสภาฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทยเลือกขึ้นมา

“ในความเห็นของผม ไม่เกี่ยวกับพรรคหนึ่งพรรคใด แล้วตอนนั้นที่พูดคุยกันก็ไม่รู้เลยว่า ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ความจริงถ้าตีความตามกฎหมาย และหลักนิติศาสตร์ก็จะชัดเจนเลย” นายสุพจน์ กล่าว

เมื่อถามว่า คือเริ่มนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 บังคับใช้ใช่หรือไม่ นายสุพจน์ กล่าวว่า “เริ่มตั้งแต่วันโปรดเกล้าฯตามที่เคยให้ความเห็นไว้ แต่ทุกอย่างต้องไปลงที่ศาลรัฐธรรมนูญ อย่างฟังผมเป็นหลัก” 

เมื่อถามว่า ความเห็นนี้ย้อนแย้งกับบันทึกการประชุมเมื่อปี 2561 หรือไม่ นายสุพจน์ กล่าวว่า บันทึกการประชุมที่ถูกเปิดเผย ซึ่งอ้างความเห็นว่า ให้นับวาระของนายกฯที่อยู่ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นวาระของนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วยนั้น เป็นความเห็นเริ่มแรก และเป็นความเห็นไม่กี่คน ไม่ใช่มติ และกรณีที่ถูกนำมาเผยแพร่ เขาเลือกเฉพาะเจาะจงที่เลือกความเห็นเฉพาะบางคนออกมา ทั้งนี้ความเห็นของผู้ยกร่างนั้นไม่ใช่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ได้มีคนเดียว ซึ่งเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 ต้องดูรายละเอียดความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตรา ของรัฐธรรมูญ 2560 ด้วย

“ยืนยันว่า บันทึกที่ปรากฎเป็นความเห็นเริ่มแรกเลย แต่ยังมีความเห็นอื่นๆที่หลากหลายด้วย ดังนั้นจึงขอให้ยึดมติ ส่วน 2 คนที่พูดมาแรกๆ เป็นการพูดโดยยังฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด แต่คนเขาจับเอามากระเดียดซะนี่ มันจึงกลายเป็นประเด็น ดังนั้น ขอให้ไปดูในจุดมุ่งหมายและฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ” นายสุพจน์ ระบุ