หมออุดม เคลียร์ชัด! รอ อย.ปลดล็อก นำใบสั่งแพทย์ไปซื้อยาต้านโควิดที่ร้าน

หมออุดม เคลียร์ชัด! รอ อย.ปลดล็อก นำใบสั่งแพทย์ไปซื้อยาต้านโควิดที่ร้าน

 

วันนี้ 10 สิงหาคม 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการขายยารักษาโรคโควิด-19 ยาต้านไวรัสในร้านขายยา ว่า ขณะนี้ชัดเจนตามที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ.ได้ระบุว่า ต่อไปนี้ยาส่วนที่ สธ.จัดให้ก็ยังกระจายให้กับผู้ที่เข้าระบบรักษา เช่น 1330 แต่เราต้องเพิ่มการเข้าถึงมากขึ้น ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565 จะให้โรงพยาบาล (รพ.) ทั้งภาครัฐ และ รพ.เอกชน จัดหายาต้านไวรัสได้เอง ซึ่งหากเป็นการจ่ายตามแนวทางเวชปฏิบัติ ก็สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้เหมือนโรคทั่วไป รัฐบาลยังดูแลค่าใช้จ่าย แต่เปิดให้เข้าถึงได้มากขึ้น

“ขณะเดียวกัน เราคิดว่าโควิด-19 ยังอยู่กับเราอีกนาน เราต้องเพิ่มการเข้าถึงให้มากที่สุด ก็มาถึงระดับคลินิกที่มีแพทย์ประจำอยู่ ซึ่งขอย้ำว่า หลักการคือ การใช้ยาต้านไวรัสโควิด-19 ยังต้องเป็นการสั่งยาโดยแพทย์เท่านั้น อีกขั้นหนึ่งที่เรากำลังจะประกาศให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 เหมือนโรคระบาดทั่วไปแล้ว มันควรไปถึงร้านขายยาด้วย แต่เบื้องต้นยังขอคุมว่า ไปถึงร้านขายยาที่จำหน่ายได้ แต่ขอให้มีใบสั่งแพทย์ ซึ่งจะทำให้การควบคุมยาง่ายขึ้น สาเหตุที่ต้องกำหนดในลักษณะดังกล่าว เพราะไม่อยากให้เกิดการใช้ในทางที่ผิด (abuse) เนื่องจากหลายคนเข้าใจผิดว่า โควิด-19 เหมือนโรคไข้หวัด ที่มีการขายยาชุดในร้านยาได้ แต่ต้องเข้าใจว่า ที่ยาแก้ไขหวัดขายในร้านขายยาได้ เพราะฤทธิ์ข้างเคียงไม่มากเท่ากับยาต้านไวรัสโควิด-19 ที่มีผลต่อไตต่อตับ ฉะนั้น เราถึงไม่เปิดฟรีแบบนั้น” ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าว

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าวว่า ขณะนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อยู่ระหว่างพัฒนาระบบการลงทะเบียนคลินิกที่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายคืนได้ หรืออาจให้ประชาชนไปรับยาโดยที่ไม่ต้องไปจ่ายเงินเลย ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ ทั้งหมดนี้ เป็นการเพิ่มการเข้าถึง เพิ่มความสะดวกให้ผู้ป่วย ที่จะสอดคล้องกับโรคที่กำลังจะเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง และต่อไปก็จะเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) ที่จะเหนือขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง ฉะนั้น ตนเชื่อว่า สิ่งที่รัฐบาล และ สธ.ทำ เกิดจากการเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง และเชื่อว่าทำได้ หากมีระบบรองรับ

“แต่เราต้องทำให้ประชาชนเข้าใจ ไม่ใช่ไปหาซื้อมาตุนไว้ก่อน เตรียมเหมือนยาไข้หวัด เพราะยาตัวนี้ ไม่ใช่แบบนั้น” ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ต่อไปแม้จะมีขายในร้านยาได้ แต่หลักสำคัญ คือ การไปพบแพทย์ก่อน ไม่ใช่ไปร้านยาก่อนใช่หรือไม่ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าวว่า ถูกต้อง เพราะต้องมีใบสั่งยา แต่หากไปที่คลินิก ที่มีแพทย์อยู่ ก็สามารถจ่ายยาได้เลย เพราะจะมีการกระจายยาไปถึงคลินิกด้วย

เมื่อถามอีกว่า การขายยาในร้านยาต้องรอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประกาศให้ซื้อยาได้ก่อนหรือไม่ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าวว่า ถูกต้อง นั่นเป็นการเตรียมกระบวนการส่วนนี้

เมื่อถามว่า จะต้องสื่อสารกับประชาชนอย่างไรว่า ไม่ใช่ผู้ป่วยโควิด-19 ทุกคนต้องรับยา เพราะการเข้าถึงยาที่ง่าย ทำให้คนเข้าใจว่าซื้อยามากินเองได้ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าวว่า ต้องสร้างความเข้าใจว่า ไม่ใช่คนป่วยโควิด-19 ทุกคนต้องกินยา เพราะไม่คุ้มค่ากัน หรืออาจมีผลเสียด้วย ฉะนั้น เรามีแนวทางเวชปฏิบัติอยู่แล้วว่า อาการอย่างไร มีความเสี่ยงใด ต้องใช้ยาอย่างไร เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและได้ประโยชน์จริงๆ

“อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อติดขัดเรื่องงบประมาณ ยาตอนนี้มีเพียงพอต่อการใช้ ตอนนี้ที่คนบอกว่า ไปแล้วไม่ได้ยา ก็ต้องเรียนว่า เพราะผู้ป่วยไม่เข้าเกณฑ์ที่ต้องรับยา คนกังวล ตื่นตระหนกแล้วไปซื้อยากินเอง ซื้อตุนไว้ ฉะนั้น ตอนนี้เราต้องทำความเข้าใจใหม่ การซื้อยาทำได้ แต่ต้องมีใบสั่งแพทย์ เรายังล็อกไว้อยู่ว่า อย่างน้อยผู้ป่วยต้องถูกประเมินโดยแพทย์ก่อนว่าควรได้ยาหรือไม่” ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าว