เพื่อไทย วอล์กเอาต์! ไม่ร่วมสังฆกรรม ถกกม.ลูก สูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์หาร 500

เพื่อไทย วอล์กเอาต์ ไม่ร่วมสังฆกรรมพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ใช้สูตรคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หารด้วย500

 

วันที่ 10 ส.ค.2565 เมื่อเวลา 09.00 น. ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการประชุมร่วมรัฐสภา ครั้งที่ 13 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง มีวาระพิจารณาเรื่องที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้ว คือ ร่างพ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. …. และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.(ฉบับที่ ..) พ.ศ. โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้สั่แจ้งต่อที่ประชุมว่า ในวันนี้มีสมาชิกรัฐสภาลาพิเศษ 32 คน ลาเพราะติดเชื้อโควิด 4 คน และลาที่ไม่ได้เจ็บป่วย 28 คน

จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. จนเสร็จสิ้น

ต่อมาเวลา 10.45 น. ก่อนการพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ต่อจากครั้งที่ผ่านมาซึ่งให้กมธ.กลับไปแก้ไขมาตราให้สอดคล้องกับสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ หารด้วย 500 โดยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภา ได้เสนอญัตติให้นับองค์ประชุม พร้อมระบุว่า หากที่ประชุมรัฐสภา ยังยืนยันจะเดินหน้าพิจารณาร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้ง ต่อไป พรรคเพื่อไทยในฐานะเสียงข้างน้อยก็จะไม่ร่วมสังฆกรรมด้วย โดยจะวอล์กเอาต์ และเหลือตนไว้เพียงคนเดียวในห้องประชุม

ขณะที่นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองประธานวิปรัฐบาลจากพรรคประชาธิปัตย์ และนายชาดา ไทยเศรษฐ จากพรรคภูมิใจไทย ระบุว่า ทุกอย่างขอให้เป็นไปตามข้อบังคับ

จากนั้น นายชวน ได้ขอมติจากที่ประชุมว่าเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบที่จะดำเนินการตามญัตติที่มีการเสนอ ซึ่งนพ.ชลน่าน ได้คัดค้านการทำหน้าที่ของนายชวน โดยระบุว่าการเสนอญัตติเป็นสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับที่ตนจะเสนอ ไม่ใช่ญัตติที่ต้องมาขอความเห็นชอบจากที่ประชุมก่อน

แต่นายชวน ยืนยันว่าต้องสอบถามจากที่ประชุมเสียก่อน เนื่องจากการเสนอญัตติเช็กองค์ประชุมเป็นแนวทางที่ไม่ปกติ เนื่องจากเป็นการเสนอก่อนที่ที่ประชุมจะเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม

ต่อมา ที่ประชุมลงมติไม่เห็นชอบที่จะดำเนินการตามญัตติของนพ.ชลน่าน ด้วยคะแนน 283 ต่อ 27 งดออกเสียง 36 ไม่ออกเสียง 28 เสียง ทำให้ส.ส.พรรคเพื่อไทย วอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุมทันที จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งในมาตราที่ค้างต่อไป