สภาพอากาศวันนี้ เตือนฤทธิ์พายุโซนร้อน “มู่หลาน” ฝนถล่ม 34 จว.

กรมอุตุฯ เตือนฤทธิ์พายุโซนร้อน “มู่หลาน” ฝนถล่ม 34 จว. ปภ. เตือน 29 จังหวัด เหนือหนักสุด อีสาน-กลาง-กทม. โดนด้วย เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน

 

วันที่ 10 ส.ค.2565 กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณประเทศเมียนมาตอนบน ประเทศลาวตอนบน เข้าสู่พายุโซนร้อน “มู่หลาน” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออก

คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนล่าง และอ่าวไทยตอนบนสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

อนึ่ง พายุโซนร้อน “มู่หลาน” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนในวันที่ 11 ส.ค. 65 นี้

พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทยตั้งแต่เวลา 06.00 น.วันนี้ ถึงเวลา 06.00 น.วันพรุ่งนี้

ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดหนองคาย อุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี ลพบุรี และสระบุรี อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส

ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร

ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดระนอง และพังงา
อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ตั้งแต่จังหวัดระนองขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดพังงาลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

สภาพอากาศวันนี้ กรมอุตุฯ เตือนฤทธิ์พายุโซนร้อน "มู่หลาน" 34 จังหวัดยังหนัก ฝนถล่มต่อเนื่อง
สภาพอากาศวันนี้ กรมอุตุฯ เตือนฤทธิ์พายุโซนร้อน “มู่หลาน” 34 จังหวัดยังหนัก ฝนถล่มต่อเนื่อง

ก่อนหน้านี้ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 2 (193/2565) เมื่อวานนี้ (9 ส.ค.65) แจ้งว่า พายุโซนร้อน “มู่หลาน” ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะไหหลำ สาธารณรัฐประชาชนจีน และคาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนบนในวันที่ 11 ส.ค.ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง

อีกทั้งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) คาดการณ์ระดับน้ำทะเลหนุนสูงในวันที่ 10–16 ส.ค. โดยระดับน้ำอาจมีความสูงประมาณ 1.80 – 2.10 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง และจะส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราว บริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ดังนี้ พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขัง ช่วงวันที่ 11 – 13 ส.ค.ประกอบด้วย

ภาคเหนือ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน (ทุกอำเภอ) เชียงใหม่ (ทุกอำเภอ) เชียงราย (อ.เมืองฯ เวียงป่าเป้า แม่จัน แม่ฟ้าหลวง แม่สาย) ลำพูน (อ.ลี้ แม่ทา ป่าซาง) ลำปาง (อ.เมืองฯ เถิน เสริมงาม วังเหนือ งาว ห้างฉัตร) แพร่ (อ.เมืองฯ วังชิ้น ร้องกวาง ลอง สอง เด่นชัย) พะเยา (อ.เมืองฯ เชียงคำ ปง จุน ภูซาง ดอกคำใต้) น่าน (อ.เชียงกลาง สองแคว ปัว เฉลิมพระเกียรติ บ่อเกลือ ทุ่งช้าง ท่าวังผา)

อุตรดิตถ์ (อ.ท่าปลา น้ำปาด) พิษณุโลก (อ.วังทอง นครไทย เนินมะปราง ชาติตระการ วัดโบสถ์) ตาก (อ.ท่าสองยาง แม่ระมาด แม่สอด) สุโขทัย (อ.ทุ่งเสลี่ยม เมืองฯ บ้านด่านลานหอย ศรีสัชนาลัย คีรีมาศ) และ เพชรบูรณ์ (อ.เมืองฯ วังโป่ง ชนแดน หล่มสัก หล่มเก่า เขาค้อ หนองไผ่ บึงสามพัน วิเชียรบุรี ศรีเทพ)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ เลย (อ.เมืองฯ ด่านซ้าย ท่าลี่) อุดรธานี (อ.กุดจับ นายูง น้ำโสม) หนองบัวลำภู (อ.สุวรรณคูหา) หนองคาย (อ.สังคม) บึงกาฬ (อ.เมืองฯ บุ่งคล้า) สกลนคร (อ.ภูพาน สว่างแดนดิน) นครพนม (อ.นาทม เมืองฯ ท่าอุเทน) และ มุกดาหาร (อ.ดงหลวง คำชะอี หว้านใหญ่ หนองสูง)

ภาคกลาง ได้แก่ ลพบุรี (อ.ชัยบาดาล) นครนายก (อ.เมืองฯ ปากพลี) ปราจีนบุรี (อ.กบินทร์บุรี นาดี) ระยอง (อ.เมืองฯ เขาชะเมา แกลง บ้านค่าย) จันทบุรี (อ.เมืองฯ นายายอาม เขาคิชฌกูฏ สอยดาว โป่งน้ำร้อน มะขาม ขลุง) และ ตราด (อ.บ่อไร่ เขาสมิง คลองใหญ่ เกาะช้าง เกาะกูด แหลมงอบ)

พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง ช่วงวันที่ 10 – 16 ส.ค. บริเวณจ.นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพฯ กอปภ.ก โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงประสานแจ้งจังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และกรุงเทพฯ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยให้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว

โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากปริมาณฝนสะสม ที่อาจส่งผลให้เกิดอุทกภัย สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำ น้ำตก ถ้ำลอด หากมีฝนตกหนักมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัย ให้มีประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่

สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงให้แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ริมแม่น้ำ โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำตามริมแม่น้ำ พร้อมทั้งจัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) รถปฏิบัติการและเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที

พร้อมเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอย่างเคร่งครัด ตลอดจนประสานหน่วยงานในพื้นที่ อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างการรับรู้และแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศ ประกาศเตือนภัย และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด

ท้ายนี้ ประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” และหากได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดย เพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป