แจงเหตุปรับ “โควิด” จากโรคอันตรายเหลือโรคเฝ้าระวัง พบรุนแรงลดลง

กรมควบคุมโรคแจงเตรียมปรับ “โควิด” จากโรคอันตรายเป็น “โรคเฝ้าระวัง” เหตุสถานการณ์โรคเปลี่ยนไป ความรุนแรงลดลง คนคุ้นชิน มีภูมิคุ้มกันมากขึ้น

 

วันที่ 9 ส.ค. 65 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบเตรียมปรับลดระดับโรคโควิด จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เริ่มวันที่ 1 ต.ค. 2565 แต่หลายคนกังวลเพราะการติดเชื้อและจำนวนผู้ป่วยยังดูสูงว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มีการกำหนดนิยาม 3 กลุ่ม คือ 1.โรคติดต่อทั่วไป เช่น ไข้หวัด ท้องเสีย หากรุนแรงมากขึ้นก็จะประกาศให้เป็นโรคระบาด

2.โรคติดต่ออันตราย จะต้องมีความรุนแรงสูง รักษายาก มีการแพร่กระจายกว้างขวางรวดเร็ว อาจเกิดการแพร่ระบาดได้ในไทย หลายโรคเป็นโรคที่ไทยไม่เคยมีมาก่อน เป็นโรคมาจากต่างประเทศ มีอยู่ประมาณ 13-14 โรค เราจะให้ความสำคัญสูงสุด มอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการต่าง ๆ ได้กว้างขวาง เช่น การควบคุมคน การสั่งให้คนต่างๆ มาตรวจ การกักตัวในรายที่สงสัย เพื่อไม่ให้โรคกระจายต่อ

3.โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งอยู่ตรงกลาง คือ โรคไม่ได้มีความรุนแรงมากนัก การแพร่ระบาดไม่มากนัก คนไทยอาจคุ้นเคยกับโรคนี้ มีประมาณ 50-60 โรค

อย่างโควิด19 เป็นตัวอย่างของโรคติดต่ออันตราย เจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งคนที่สงสัยไปรักษา ไปกักตัวในสถานที่กำหนด แต่โรคโควิดผ่านมาจะ 3 ปีแล้ว ทั่วโลกการจัดการเริ่มเหมือนโรคทั่วไป ประชาชนใช้ชีวิตตามปกติ คณะกรรมการภาวะฉุกเฉิน องค์การอนามัยโลกก็กำลังพิจารณาต้น ต.ค.นี้ จะเห็นว่าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปมาก เข้าใกล้กับโรคทั่วไปที่เราคุ้นเคย แต่ความรุนแรงยังมีมากอยู่เหมือนกัน เลยคิดว่าถ้าไม่ประกาศเป็นโรคติดต่ออันตราย แล้วประกาศเป็นโรคติดต่อทั่วไปก็คงไม่สอดคล้อง จึงประกาศเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง

นพ.โอภาส กล่าวว่า โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังนั้น ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรายงานผู้ป่วยมาที่กรมควบคุมโรค เพื่อรวบรวมวิเคราะห์สถานการณ์ดูว่าแนวโน้มแต่ละช่วงเป็นอย่างไร เพื่อหามาตรการในการจัดการได้ดี รวมถึงเมื่อเกิดเหตุการณ์ผิดปกติก็จะประกาศมาตรการโดยเฉพาะสำหรับโรคนี้ได้ ตัวอย่างที่ค่อนข้างคล้ายกันคือ ไข้เลือดออก บ้านเราระบาดพอสมควร บางปีป่วยเป็นแสนราย อัตราตายในอดีตสูง 1 ในพัน

ซึ่งมีทั้งความรุนแรง มีโอกาสระบาด แต่เราไม่เคยประกาศไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่ออันตราย เพราะเราค่อนข้างคุ้นเคย รู้วิธีในการจัดการ มีมาตรการการรักษา ก็สอดคล้องกับโควิดปัจจุบันที่เรามีการติดเชื้อลดน้อยลง ความรุนแรงลดลง คนมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น และการระบาดมีช่วงของการระบาด เลยคิดว่าน่าจะเปลี่ยนมาเป็นโรติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อให้ประชาชนใช้ชีวิตใกล้เคียงตามปกติที่สุด และเจ้าหน้าที่ยังสามารถติตดามสถานการณ์เพื่อออกมาตรการให้สอดคล้อง

ถามถึงมาตรการต่างๆ เช่น ระยะกักตัว จะต้องมีการปรับอย่างไร นพ.โอภาสกล่าวว่า ก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนไป ถ้าจำกันได้ คนติดเชื้อเราให้แยกกัก (Isolation) ไปอยู่ที่ รพ.หรือที่บ้านไม่ให้กระจายเชื้อ เดิมเราใช้ 14 วัน ต่อมาลดเหลือ 10 วัน คือ 7+3 เพราะเชื่อว่าหลัง 7 วันโอกาสแพร่กระจายเชื้อมีน้อย ส่วนคนสัมผัสผู้ป่วยเราให้กักกันตามระยะเวลาฟักตัวของโรค คือ 14 วัน ต่อมาลดเหลือ 10 วัน 7 วัน และไม่กักกันแล้ว

เพราะส่วนใหญ่พบว่าคนที่ไม่มีอาการมักไม่แพร่กระจายเชื้อ ประกอบกับคนส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนเยอะ โอกาสคนระยะฟักตัวแพร่ให้คนอื่นจึงน้อยลง คนมีความเข้าใจมากขึ้น เราจึงไม่ใช้คำว่ากักกัน (Quarantine) แต่ให้ใช้สังเกตอาการ และตรวจ ATK เป็นระยะ ส่วนในอนาคตการแยกกักต้องรอดูสถานการณ์

ส่วนการฉีดวัคซีนเราเปลี่ยนวิธีการฉีดเป็นระยะ แต่นโยบายยังเหมือนเดิม ฉีดโดยสมัครใจ ฉีดให้ทุกคนบนแผ่นดินไทย การฉีดระดับชาติเราดูตามข้อมูล ทั้งสถานการณ์การระบาด ประสิทธิภาพของวัคซีน ผลข้างเคียง และความสามารถการจัดบริการ แต่ที่เราเปลี่ยนคือความถี่วิธีการในการฉีด ปรับตามสถานการณ์ ตอนนี้คนส่วนใหญ่รับสองเข็มแล้ว และบูสเตอร์กำลังเพิ่มเรื่อยๆ และเรามีวัคซีนครอบคลุมคนเยอะขึ้น ฉีดบ่อยแค่ไหน ตอนนี้คือทุก 4 เดือน ฉีดได้ทุกยี่ห้อ

ส่วนจะฉีดทุกปีเมื่อไรก็ต้องรอดูสถานการณ์ก่อน เพราะเชื้อไวรัสปรับตัวตลอด จากอู่ฮั่น เป็นอัลฟา เดลตา โอมิครอน แล้วยังมีสายพันธุ์ย่อย BA.1 BA.2 BA.4 BA.5 ถ้าเชื้อไวรัสเปลี่ยนไป โปรแกรมการฉีดวัคซีนก็จะเปลี่ยนไปด้วย สถานการณ์ยังไม่ค่อยนิ่ง ถ้าเทียบไข้หวัดใหญ่เชื้ออยู่มาร้อยปี คนมีภูมิต้านทานแค่ฉีดกระตุ้นแต่ละปีให้ตรงสายพันธุ์ เชื่อว่าโควิดจะเป็นเช่นนั้น แต่ถามว่าอีกกี่ปีจะนิ่งยังตอบยาก แต่หลัง BA.4BA.5 ดูกลายพันธุ์ช้าลง และคนเริ่มมีภูมิมากขึ้น ยังต้องดูข้อมูลและกลายพันธุ์ก่อน

“ส่วนหน้ากากและล้างมือ เป็นมาตรการที่ไม่ลำบากใจเกินไปก็เป็นมาตรการที่ดี ช่วยป้องกันในหลายโรค โดยเฉพาะการอยู่ในสถานที่คนรวมกันจำนวนมาก หรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก แต่การใช้ชีวิตทั่วไป เช่น ออกกำลังกายกลางแจ้ง การใส่หน้ากากก็จำเป็นน้อยลง เป็นมาตรการสุขอนามัยที่ดีในการควบคุมโรคแบบหนึ่ง ใช้ให้สอดคล้องสถานการณ์แต่ละคนน่าจะดีกว่า ที่ผ่านมาเราก็ไม่เคยบังคับ ตอนนี้ก็ไม่ได้บังคับ แต่ความร่วมมือของคนไทยดีมาก” นพ.โอภาสกล่าว