กทม. เป็นเมืองพหุวัฒนธรรม ทุกศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ขัดแย้ง

กทม. เป็นเมืองพหุวัฒนธรรม ทุกศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ขัดแย้ง

 

วันที่ 9 สิงหาคม 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร นำโดย นายอรุณ บุญชม ประธานกรรมการ ในโอกาสเข้าพบเพื่อแนะนำและชี้แจงนโยบายการทำงานของคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งหารือแนวทางการดำเนินงานนโยบายของกรุงเทพมหานครต่อประชาคมมุสลิมกรุงเทพมหานคร โดยมี นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า วันนี้คณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครได้มาเยี่ยมและแลกเปลี่ยนในหลายด้าน จุดแข็งของกรุงเทพมหานคร คือเป็นเมืองพหุวัฒนธรรม ทุกศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ขัดแย้งกัน เช่น เขตบางรัก มีมัสยิด วัด โบสถ์ กุฎีขาว กุฎีจีน พี่น้องมุสลิมในกรุงเทพฯ มีอยู่ประมาณ 300,000 คน คิดเป็นประมาณ 5% ของประชากร อาจมีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นจากการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นวัดหรือมัสยิด ก็จะดูแลให้ชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างราบรื่น เนื่องจากชุมชนมีความต้องการที่แตกต่างกัน ต้องดูรายละเอียด รวมถึงดูเรื่องอัตลักษณ์ชุมชนด้วย เช่น ชุมชนมุสลิมจะมีเรื่องอาหารฮาลาล

ที่ผ่านมามีการจัดเทศกาลอาหารฮาลาลที่มัสยิดฮารูณ เขตบางรัก ได้รับการตอบรับดีมาก แต่ละชุมชนไม่ว่าจะเป็นชุมชนชาวมุสลิม ชาวพุทธ หรือชาวคริสต์ มีความเข้มแข็งของตนเอง กรุงเทพมหานครมีหน้าที่ในการเข้าไปดูแลและช่วยเหลือให้อัตลักษณ์เหล่านี้สร้างมูลค่าและคงความสวยงามทางวัฒนธรรม สำหรับบางเรื่องที่ไม่มีข้อมูล เช่น ในพื้นที่เขตคลองสานมีพื้นที่ว่างใกล้มัสยิดขาวสามารถทำเป็นพื้นที่สาธารณะได้ ก็จะให้คนเข้าไปดู วันนี้เป็นการหารือที่ดี เน้นการเป็นพหุวัฒนธรรมของกรุงเทพฯ เพราะสามารถอยู่ร่วมกันทุกศาสนาได้ ซึ่งอาจมีการสื่อสารและช่วยเหลือกันในเรื่องต่าง ๆ ต่อไป