‘นิติพล ก้าวไกล’ ชวนสร้างเศรษฐกิจใหม่กระจายถึงชุมชนด้วยคาร์บอนเครดิต

เศรษฐกิจสีเขียวสร้างได้ ‘นิติพล ก้าวไกล’ ชวนสร้างเศรษฐกิจใหม่กระจายถึงชุมชนด้วยคาร์บอนเครดิต

 

วันที่ 9 สิงหาคม 2565 นิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เครือข่ายสิ่งแวดล้อม พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงหลังปี 2000 เป็นต้นมา ทั่วโลกตระหนักถึงวิกฤตสิ่งแวดล้อมอย่างมาก โดยเฉพาะการปล่อยคาร์บอนจากกิจกรรมการผลิตต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปรากฏการณ์โลกร้อน ทำให้มีการมองหาวิธีการที่ทำให้ภาคเศรษฐกิจสามารถดำเนินการผลิตไปโดยไม่กระทบสิ่งแวดล้อมหรือมีความสมดุลกันได้
.
“การไปบอกให้ภาคการผลิตหยุดกิจกรรมหรือเปลี่ยนเทคโนโลยีอาจไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น เมื่อมีการปลดปล่อย จึงเป็นที่มาของการคิดเรื่องการดูดซับคาร์บอน ซึ่งวิธีเก่าเลยคือการปลูกต้นไม้ จะมีสูตรการคำนวณชัดเจนว่าปลูกต้นไม้ชนิดนี้หนึ่งต้นดูดซับคาร์บอนได้เท่าไหร่ ยิ่งปลูกมากดูดซับได้มาก ก็จะเป็นเครดิตว่า เมื่อบริษัทปล่อยคาร์บอนเท่านี้ จะต้องมีการลงทุนเพิ่มพื้นที่สีเขียวดูดซับกลับไปเท่านี้ แต่อุตสาหกรรมที่ดำเนินกิจการอาจไม่มีพื้นที่สีเขียวเขาก็ต้องมาซื้อในประเทศต่างๆ ให้ลงทุนแทน บางบริษัทลงทุนในเรื่องนี้ในประเทศกำลังพัฒนาเป็นหมื่นล้านบาท นี่จึงเป็นอีกโอกาสของการดึงเม็ดเงินเข้ามาพร้อมรักษาสมดุลธรรมชาติ โดยราคาตลาดโลกตอนนี้อาจขึ้นลง ทั่วไปจะอยู่ที่ราว 1,000 – 2,000 บาทต่อตัน แต่ไทยราคาขายอยู่ที่ราว 120 บาทเท่านั้น”
.
นิติพล กล่าวว่า การที่ภาคการผลิตต้องยอมจ่าย เพราะเป็นเรื่องที่มีการพูดคุยกันจนเป็นข้อตกลงในกติกาโลก การเป็นคู่ค้ากับประเทศที่ลงนามในข้อตกลงก็จะต้องปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียวมากขึ้น หรือในบางประเทศก็จะถูกนำไปใส่ไว้ในกฎหมาย ทำให้คาร์บอนเครดิตเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมาก แต่ในประเทศไทยรู้กันแค่กลุ่มนายทุนและมีบางหน่วยบางองค์กรเป็นผู้มีบทบาทในการกำหนดราคา ดังนั้น เมื่อซื้อในราคาหลักร้อยแต่นำไปขายหลักพันก็ได้ประโยชน์กันแค่บางกลุ่ม ทำให้ตนและเครือข่ายสิ่งแวดล้อมพรรคก้าวไกลกำลังพยายามผลักดันให้การซื้อขายคาร์บอนเครดิตสามารถทำได้โดยตรงไม่ผ่านตัวกลาง แต่เมื่อถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไม่เคยได้คำตอบว่าทำได้หรือไม่ หรือต้องทำอย่างไร จึงทำให้ประชาชนเสียประโยชน์มาก
.
“เราสามารถสร้างเศรษฐกิจสีเขียว เป็นเศรษฐกิจใหม่จากการขายคาร์บอนเครดิตได้ เพราะไทยมีความพร้อมและทรัพยากรสูง แต่ขาดทั้งนโยบายจูงใจและวิสัยทัศน์ พอพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมจึงไม่พ้นการให้ปลูกป่า ซ้ำยังถูกนำไปเป็นเงื่อนไขในการจัดการคนตัวเล็กตัวน้อยที่อยู่กับป่าหรือกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ด้วย เรื่องนี้จึงพูดกันมาตั้งแต่ผมยังเด็กป่าก็ไม่เพิ่ม การปลุกจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ทำไม่ได้ เพราะไม่ได้คิดอย่างพึ่งพิงสัมพันธ์กันระหว่างคนกับธรรมชาติ”
.
นิติพล กล่าวต่อไปว่า ในวงการสิ่งแวดล้อมโลก ไม่ได้ให้คาร์บอนเครดิตจากป่าเพียงเท่านั้นแต่พูดและคำนวณได้จากมุมอนุรักษ์หรือกิจกรรมอื่นๆได้ด้วย และระยะหลังเขายังได้ให้ความสำคัญกับวาฬและช้างมาก ซึ่งสัตว์ทั้งสองชนิดมีในบ้านเรา
.
“โดยเฉพาะช้างประเทศไทยมีกว่า 7,500 ตัว (ทั้งช้างบ้านและช้างป่า) คือสถาปนิกของป่า มันจะช่วยแหวกพื้นที่ป่าทึบที่แสงไม่เข้าถึงให้โปร่งขึ้น ดึงกินพันธุ์ไม้ กระจายปลูกเมล็ดพันธุ์จากขี้ช้างได้เช่นกัน ตรงนี้คือสิ่งที่สามารถนำไปคำนวณเป็นคาร์บอนเครดิต เป็นรายได้ที่รออยู่สำหรับคนที่อยู่ในพื้นที่โดยรอบ”
.
นิติพล กล่าวว่า ตนเข้าใจเรื่องความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าในหลายพื้นที่ แต่ถ้าสามารถมองหาเศรษฐกิจใหม่ที่ชดเชยรายได้ โดยความเป็นอยู่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนักก็อาจเป็นคำตอบของคนกับป่า และหากคิดจากมุมเศรษฐกิจสีเขียว ยังอาจเปลี่ยนเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ทำรายได้เพิ่มมหาศาล พื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยวอาจกลายเป็นพื้นที่ป่ามากขึ้น และรายได้จะกลับมาทั้งจากคนที่มาพัก การได้อยู่กับธรรมชาติ รวมถึงการขายคาร์บอนเครดิต หรือหากสามารถส่งเสริมเป็นวิสาหกิจชุมชน ก็จะเป็นรายได้ใหม่สอดคล้องกับกระแสโลกในการรักษาสิ่งแวดล้อม
.
อย่างไรก็ตาม นิติพล กล่าวว่า ปัจจุบันการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในไทยยังไม่ถูกนำมาทำให้เป็นที่รับรู้เข้าใจทั่วไป เป็นเรื่องที่คงมีอยู่ไม่กี่กลุ่มได้ประโยชน์จากการงุบงิบขายได้ส่วนต่างแพงๆ โดยที่ยังไม่มีความชัดเจนเลยว่าคนทั่วไปสามารถขายตรงได้หรือไม่ เพราะถ้าทำได้ ตนสามารถนำเอกชนนานาประเทศที่สนใจเข้ามาเป็นผู้ซื้อตรงกับชุมชนต่างๆที่อยากทำจุดขายนี้ได้ทันที
.
นอกจากนี้ เพื่อทำให้เรื่องคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยมีความชัดเจนขึ้น ตนจึงได้ชวนทีมสิ่งแวดล้อมพรรคก้าวไกล มาร่วมกันจัด Hackathon คาร์บอนเครดิต เพื่อสร้างนโยบายสีเขียวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ได้ถึงระดับชุมชน โดยกิจกรรมจะมีขึ้นเร็วๆนี้