ผลศึกษาชี้ ภัยจากสภาพอากาศ เชื่อมโยงกับโรคติดเชื้อเกินครึ่งในมนุษย์

ผลศึกษาชี้ ภัยจากสภาพอากาศ เชื่อมโยงกับโรคติดเชื้อเกินครึ่งในมนุษย์

 

ภัยจากสภาพอากาศ อาทิ น้ำท่วม คลื่นความร้อน รวมถึงความแห้งแล้ง ทำให้การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ ที่เป็นที่รู้จักกันมากกว่าครึ่งหนึ่งในมนุษย์อย่างมาลาเรีย อหิวาตกโรค และแอนแทรกซ์ เลวร้ายลงมากขึ้น

นักวิจัยได้ข้อสรุปดังกล่าวที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Nature Climate Change หลังจากตรวจสอบผลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยของโรคต่างๆ และพบว่าจากโรคติดเชื้อ 375 โรคที่รู้จักกันในมนุษย์ 218 โรคหรือราว 58% จะยิ่งเลวร้ายลง หากเจอกับสภาพอากาศที่เลวร้าย 10 ชนิดที่มีส่วนเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

ผลศึกษาได้จัดทำเส้นทางถึง 1,006 เส้นที่ก่อให้เกิดอันตรายจากสภาพภูมิอากาศซึ่งส่งผลต่อผู้ป่วย อาทิ ในกรณีที่มีฝนตกลงมาและเกิดน้ำท่วมขัง ผู้ป่วยต้องเจอกับยุง หนู รวมถึงกวางที่เป็นพาหะนำโรค ขณะที่ความร้อนในมหาสมุทรที่เพิ่มสูงขึ้นรวมถึงคลื่นความร้อนทำให้อาหารทะเลรวมถึงสิ่งอื่นๆ ที่เรารับประทานปนเปื้อน เช่นเดียวกับภัยแล้งที่ทำให้ค้างคาวนำเชื้อไวรัสมาสู่ผู้คน

แม้แพทย์ในอดีตจะตระหนักดีถึงความเกี่ยวพันระหว่างสภาพภูมิอากาศกับโรคภัยต่างๆ มานานแล้ว แต่การศึกษาชิ้นล่าสุดนี้แสดงให้เห็นว่าอิทธิพลของสภาพภูมิอากาศต่อสุขภาพของมนุษย์นั้นกว้างขวางและลึกซึ้งเพียงใด

ดร.โจนาทาน แพตซ์ ผู้อำนวยการสถาบันสาธารณสุขโลกแห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ผู้เขียนร่วมของการศึกษาดังกล่าวระบุว่า หากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป ความเสี่ยงของโรคเหล่านี้ก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย และเราจำเป็นต้องคิดเสมือนว่าความเจ็บป่วยเหล่านี้เป็นอาการที่มาพร้อมกับโลกที่เจ็บป่วย

นอกจากโรคติดเชื้อแล้ว ทีมวิจัยยังได้ตรวจสอบเพื่อศึกษาถึงการเจ็บป่วยของมนุษย์ทุกประเภทรวมถึงโรคไม่ติดต่ออย่างหอบหืด ภูมิแพ้ หรือแมลงสัตว์กัดต่อย ซึ่งผลการศึกษาพบว่ามี 223 โรคจาก 286 โรคที่ดูเหมือนมันจะแย่ลงเมื่อเกิดอันตรายจากสภาพภูมิอากาศ ขณะที่ราว 54 โรคก็มีทั้งรุนแรงขึ้นและลดความรุนแรงลง

แรกเริ่มเดิมทีหนึ่งในผู้ทำวิจัยต้องการค้นหากรณีทางการแพทย์เพื่อศึกษาว่าโควิด-19 มีความเกี่ยวพันกับอันตรายจากสภาพภูมิอากาศอย่างไร แต่สิ่งที่พบปรากฏว่าสภาพอากาศที่เลวร้ายทั้งเพิ่มและลดโอกาสของการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะในบางกรณีความร้อนจัดในพื้นที่ยากจนทำให้ผู้คนออกมารวมตัวกันเพื่อหาทางคลายร้อน ซึ่งเป็นโอกาสในการแพร่ระบาดของโรค แต่ในสถานการณ์อื่น อาทิ ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักจะช่วยลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากผู้คนจะอยู่แต่ในบ้านและอยู่ห่างจากผู้อื่น

ดร.คาร์ลอส เดล ริโอ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยเอมอรีในสหรัฐ ซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมศึกษาดังกล่าวระบุว่า ผลการศึกษาครั้งนี้น่ากลัวและแสดงให้เห็นถึงผลที่ตามมาอย่างมากมายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรคในมนุษย์ ทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่าเราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และต้องทำงานร่วมกันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภัยพิบัติอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย

แม้จะมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าบทสรุปและวิธีการบางอย่างในการศึกษานี้ ไม่ได้นำเอาปัจจัยเกี่ยวกับการใช้พลังงานฟอสซิลอย่างถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นและบ่อยครั้งขึ้นมาประกอบการพิจารณา แต่ดร.อาร์รอน เบิร์นสไตน์ รักษาการผู้อำนวยการของศูนย์สภาพภูมิอากาศ สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ของวิทยาลัยสาธารณสุขฮาร์วาร์ด ก็ย้ำว่า การศึกษาดังกล่าวถือเป็นคำเตือนที่ดีเกี่ยวกับปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศและสุขภาพสำหรับปัจจุบันและในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อภาวะโลกร้อนและการสูญเสียถิ่นที่อยู่ทำให้สัตว์และโรคของพวกมันเข้ามาใกล้ชิดกับมนุษย์มากขึ้น และยังเน้นย้ำให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้เกิดสิ่งไม่พึงประสงค์จากการติดเชื้อ แน่นอนว่ายังมีสิ่งที่เราไม่รู้อีกมากเกี่ยวกับเชื้อโรค และน่าสนใจอย่างยิ่งว่าการป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกจะช่วยป้องกันภัยพิบัติอย่างโควิด-19 ไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคตได้หรือไม่อย่างไร